ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมเศียรพระโพธิสัตว์
เศียรพระโพธิสัตว์องค์นี้อยู่ในสภาพชำรุดแต่ได้รับการอนุรักษ์จนอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พระพักตร์ยาว พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ เดิมทีพระเนตรคงเคยฝังอัญมณีหรือของมีค่าแต่ได้สูญหายไปแล้ว พระนาสิกและพระโอษฐ์สมส่วน มีพระมัสสุ พระเกศายาวหวีเสยเกล้าเป็นมวยอยู่เหนือพระเศียร มวยพระเกศาเป็นทรงกระบอกขนาดใหญ่ พระเกศารูปวงโค้งประดับด้วยเม็ดไข่ปลาตกซ้อนลงมาเป็นชั้นๆ สัญลักษณ์ที่เคยประดับอยู่กลางมวยผมสูญหายไปแล้ว จึงไม่อาจทราบได้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์ใด
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์ไมเตรยะ
พระโพธิสัตว์เมตไตรยะอยู่ในอิริยาบถยืนตรง พระเนตรเบิกโพรง พระเกศายาวเกล้าเป็นมวยทรงกระบอกขึ้นไปกลางพระเศียร มีรูปสถูปประดับมวยพระเกศาเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ทราบว่าประติมากรรมนี้เป็นรูปพระโพธิสัตว์ไมเตรยะ พระกรทั้งสองข้างหักหายไปแล้ว ส่วนบนของพระวรกายเปล่าเปลือย ส่วนล่างสวมสมพตสั้น บางแนบเนื้อและไม่เห็นริ้ว
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์อยู่ในอิริยาบถยืนตรง พระเนตรปิดสื่อถึงความสงบ พระเกศายาวเกล้าเป็นมวยทรงกระบอกขึ้นไปกลางพระเศียร มีสี่กรโดยกรขวาหลังหักหายไปแล้ว กรที่เหลืออีก 3 กรแสดงกฏกมุทราหรืองอนิ้วพระหัตถ์ประหนึ่งถือสิ่งของไว้ ส่วนบนของพระวรกายเปล่าเปลือย ส่วนล่างสวมสมพตสั้น บางแนบเนื้อและไม่เห็นริ้ว
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งทำปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ พระชงฆ์คมเป็นสันดังมนุษย์จริง ครองจีวรห่มเฉียง บางแนบพระวรกาย ไม่มีริ้ว พระพักตร์สงบ พระเนตรปิด แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนเพียงเล็กน้อย ขนดนาคที่รองรับพระพุทธเจ้ามี 3 ขนด มีพังพานนาคหลายเศียรปกอยู่ทางด้านหลัง
สถาปัตยกรรมปราสาทกำแพงแลง
ปราสาทกำแพงแลงมีผังพื้นล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในกำแพงศิลาแลงเป็นที่ตั้งของปราสาทศิลาแลงแบบศิลปะเขมรทั้งหมด 4 องค์ ปราสาท 3 องค์ทางด้านหน้าวางตัวเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ โดยปราสาทประธานมีขนาดสูงใหญ่กว่าอีก 2 องค์ คล้ายกับปรางค์สามยอด ลพบุรี ส่วนปราสาทองค์ที่ 4 ตั้งอยู่ด้านหลังของปราสาทประธานด้านทิศตะวันออก และยังปรากฏลวดลายปูนปั้นประดับปราสาท ด้านหน้ามีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้า 1 หลัง ภายในกำแพงศิลาแลงยังพบสระน้ำอยู่ชิดขอบกำแพงทางทิศตะวันออกด้วยนอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ พระโพธิสัตว์โลเกศวรเปล่งรัศมี, ส่วนพระวรกายของพระโพธิสัตว์โลเกศวรสี่กร, ส่วนพระวรกายของพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง, เศียรนางปรัชญาปารมิตา จากการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการสร้างปราสาท และลักษณะของการวางผังปราสาททิศเหนือ ปราสาทองค์กลาง และปราสาททิศใต้ เป็นไปในลักษณะการวางตามคติการนับถือรัตนตรัยมหายาน ปราสาททิศเหนือได้แก่พระนางปรัชญาปารมิตา ปราสาทองค์กลาง คือพระวัชรสัตว์นาคปรก และจากปราสาททิศใต้ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งคติการนับถือรูปเคารพทั้งสามรูปเรียงกันในแนวนี้ เป็นคติการนับถือรูปเคารพในพุทธศาสนามหายาน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธศตวรรษที่ 18 จึงสามารถกำหนดอายุเวลาในการสร้างปราสาทกำแพงแลงนี้ได้ว่าร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา กล่าวถึงเมือง “ศรีชัยวัชรปุระ” (เมืองเพชรบุรี) หนึ่งในหกเมืองโบราณในภาคกลางที่มีการกล่าวต่อไปอีกว่าได้มีการส่งพระชัยพุทธมหานาถ 1 ใน 23 องค์จากเมืองพระนครหลวง มาประดิษฐานที่เมืองเพชรบุรีนั่นก็คือปราสาทวัดกำแพงแลง และเมื่อเทียบกับโบราณสถานแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ปราสาทกำแพงแลงแห่งนี้ ก็คือปราสาทที่กล่าวถึงในจารึกนั้น ซึ่งปราสาทพระขรรค์เป็นปราสาทที่ร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นกัน
สถาปัตยกรรมปราสาทตาเมือนโต๊ด
ปราสาทตาเมือนโต๊ด เป็นศาสนสถานพยาบาลเรียกว่า “อโรคยศาล” เพื่อให้เป็นสถานที่รักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของอโรคยศาล จะมีลักษณะเหมือนกันทุกแห่ง คือ ปราสาทประธาน 1 หลัง สร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ส่วนยอดสลักด้วยหินทราย ลายกลีบบัว มีประตูทางเข้าออกด้านเดียว ส่วนอีก 3 ด้านทำเป็นประตูหลอก ประตูทางเข้าออกนี้ทำเป็นห้องยาวๆ ด้านหน้าเป็นมุข หลังคาทำจากหินทรายและศิลาแลง และด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน มีบรรณาลัยสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าออก 1 ประตู ด้านทิศตะวันออก ทั้งหมดอยู่ในเขตกำแพงแก้วและซุ้มประตูสร้างด้วยศิลาแลง กำแพงแก้วมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีซุ้มประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 คูหา และบริเวณคูหากลางพบศิลาจารึก 1 หลัก ปัจจุบันอยู่ที่อาคารหอพระสมุดวชิรญาณ กรุงเทพมหานคร เป็นจารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤต สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ข้อความกล่าวถึง“พระไภษัชยครุไวฑูรยะ” หมายถึงพระโพธิสัตว์ผู้ประทานความไม่มีโรคแก่ประชาชนผู้นับถือ และกล่าวถึงเรื่องการสร้างอโรคยศาล หรือโรงพยาบาลให้เป็นสถานที่รักษาโรค โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงบริจาควัสดุอุปกรณ์พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ให้อยู่ประจำสถานพยาบาลด้วย ส่วนด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท นอกกำแพงแก้วมีสระน้ำ 1 สระ
สถาปัตยกรรมปราสาทตาเมือน
รูปแบบแผนผังของปราสาทตาเมือน เป็นลักษณะของโบราณสถานที่เรียกว่า “ธรรมศาลา หรือ ที่พักคนเดินทาง” ซึ่งในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวพุทธศตวรรษที่ 18 โปรดให้สร้างขึ้นตามเส้นทางที่สำคัญทั่วราชอาณาจักร ธรรมศาลานี้มีลักษณะเป็นปราสาทหลังเดียว ก่อสร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ด้านหน้าของปราสาททำเป็นห้องยาวสร้างด้วยศิลาแลง มีประตูเชื่อมต่อกับองค์ปราสาททางด้านทิศตะวันตก ห้องยาวนี้มีผนังด้านหนึ่งเจาะเป็นช่องหน้าต่างเรียงกันเป็นแถว ส่วนผนังอีกด้านหนึ่งทำเป็นหน้าต่างหลอก ด้านหน้าทางทิศตะวันออกมีประตูทางเข้าออก 1 ประตู มีทับหลังหินทรายสลักภาพพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว
สถาปัตยกรรมปราสาทหนองบัวราย
ประกอบด้วยปราสาทประธานมีทางเข้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทางเข้านั้นทำเป็นมุขยื่นออกมาและมีการเจาะช่องหน้าต่างทั้ง 2 ด้านๆ ละ 1 ช่อง ยอดปราสาทมี 4 ชั้น มีการเจาะตกแต่งเป็นช่องสี่เหลี่ยม ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีบรรณาลัยตั้งหันหน้าเข้าปราสาทประธาน ด้านหน้าของปราสาทประธานมีทางเดินรูปกากบาททอดยาวมาจนถึงโคปุระ ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วในบริเวณใกล้เคียงพบชิ้นส่วนหน้าบันรูปพระวรกายพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ประทับยืนตรง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอกแนวกำแพงแก้วมีสระน้ำในผังรูปสี่เหลี่ยม จากลักษณะของแผนผังและรูปแบบการก่อสร้าง เช่น ตัวปราสาทที่มีมุขยื่นและมีช่องหน้าต่างทั้ง 2 ด้าน จะพบโบราณสถานในรูปแบบเดียวกันได้อีกที่กู่สันตรัตน์ จังหวัดมหาสารคาม หรือปราสาทตาเมือนโต๊ด จังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น