ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปราสาทกำแพงแลง
คำสำคัญ : ปราสาทเขมร, พระปรางค์สามยอด, ปราสาทขอม, พระเจ้าชัยวรมันที่ 7, บายน, ปราสาทกำแพงแลง, วัดกำแพงแลง
ชื่อหลัก | วัดกำแพงแลง |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ที่อยู่ | เลขที่ 44 |
ตำบล | ท่าราบ |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | เพชรบุรี |
ภาค | ภาคตะวันตก |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.105571 Long : 99.956362 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 603606.81 N : 1448992.8 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ตั้งอยู่ภายในวัดกำแพงแลง |
ประวัติการสร้าง | ไม่ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้าง |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ศิลาแลง |
ประวัติการอนุรักษ์ | ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 หน้า 3692 วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478 |
ลักษณะทางศิลปกรรม | ปราสาทกำแพงแลงมีผังพื้นล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในกำแพงศิลาแลงเป็นที่ตั้งของปราสาทศิลาแลงแบบศิลปะเขมรทั้งหมด 4 องค์ ปราสาท 3 องค์ทางด้านหน้าวางตัวเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ โดยปราสาทประธานมีขนาดสูงใหญ่กว่าอีก 2 องค์ คล้ายกับปรางค์สามยอด ลพบุรี ส่วนปราสาทองค์ที่ 4 ตั้งอยู่ด้านหลังของปราสาทประธานด้านทิศตะวันออก และยังปรากฏลวดลายปูนปั้นประดับปราสาท ด้านหน้ามีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้า 1 หลัง ภายในกำแพงศิลาแลงยังพบสระน้ำอยู่ชิดขอบกำแพงทางทิศตะวันออกด้วย นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ พระโพธิสัตว์โลเกศวรเปล่งรัศมี, ส่วนพระวรกายของพระโพธิสัตว์โลเกศวรสี่กร, ส่วนพระวรกายของพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง, เศียรนางปรัชญาปารมิตา จากการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการสร้างปราสาท และลักษณะของการวางผังปราสาททิศเหนือ ปราสาทองค์กลาง และปราสาททิศใต้ เป็นไปในลักษณะการวางตามคติการนับถือรัตนตรัยมหายาน ปราสาททิศเหนือได้แก่พระนางปรัชญาปารมิตา ปราสาทองค์กลาง คือพระวัชรสัตว์นาคปรก และจากปราสาททิศใต้ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งคติการนับถือรูปเคารพทั้งสามรูปเรียงกันในแนวนี้ เป็นคติการนับถือรูปเคารพในพุทธศาสนามหายาน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธศตวรรษที่ 18 จึงสามารถกำหนดอายุเวลาในการสร้างปราสาทกำแพงแลงนี้ได้ว่าร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา กล่าวถึงเมือง “ศรีชัยวัชรปุระ” (เมืองเพชรบุรี) หนึ่งในหกเมืองโบราณในภาคกลางที่มีการกล่าวต่อไปอีกว่าได้มีการส่งพระชัยพุทธมหานาถ 1 ใน 23 องค์จากเมืองพระนครหลวง มาประดิษฐานที่เมืองเพชรบุรีนั่นก็คือปราสาทวัดกำแพงแลง และเมื่อเทียบกับโบราณสถานแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ปราสาทกำแพงแลงแห่งนี้ ก็คือปราสาทที่กล่าวถึงในจารึกนั้น ซึ่งปราสาทพระขรรค์เป็นปราสาทที่ร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นกัน |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นจากศิลาแลงและมีลักษณะหลายอย่างที่เทียบได้กับศาสนสถานสถานที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 น่าจะเป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดเพชรบุรีกับอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมของพระองค์ได้ อันนำไปสู่การรับรองว่าเพชรบุรีน่าจะตรงกันกับชื่อเมืองศรีชัยวัชรปุระในจารึกปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้ส่งรูปพระชัยพุทธมหานาถมาประดิษฐานไว้ |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ลพบุรี, บายน |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 18 |
ลัทธิ/นิกาย | มหายาน |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธมหายาน |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | ปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ ราชบุรี |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-06-01 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | จารึก วิไลแก้ว. วัดกำแพงแลง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2534. ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถานในเขตหน่วยศิลปากรที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด, 2538. สุนาวิน บูรนสมภพ. ศิลปะเขมรแบบบายนในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดเพชรบุรี .สารนิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2528. |