ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทกำแพงแลง
ปราสาทกำแพงแลงมีผังพื้นล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในกำแพงศิลาแลงเป็นที่ตั้งของปราสาทศิลาแลงแบบศิลปะเขมรทั้งหมด 4 องค์ ปราสาท 3 องค์ทางด้านหน้าวางตัวเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ โดยปราสาทประธานมีขนาดสูงใหญ่กว่าอีก 2 องค์ คล้ายกับปรางค์สามยอด ลพบุรี ส่วนปราสาทองค์ที่ 4 ตั้งอยู่ด้านหลังของปราสาทประธานด้านทิศตะวันออก และยังปรากฏลวดลายปูนปั้นประดับปราสาท ด้านหน้ามีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้า 1 หลัง ภายในกำแพงศิลาแลงยังพบสระน้ำอยู่ชิดขอบกำแพงทางทิศตะวันออกด้วยนอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ พระโพธิสัตว์โลเกศวรเปล่งรัศมี, ส่วนพระวรกายของพระโพธิสัตว์โลเกศวรสี่กร, ส่วนพระวรกายของพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง, เศียรนางปรัชญาปารมิตา จากการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการสร้างปราสาท และลักษณะของการวางผังปราสาททิศเหนือ ปราสาทองค์กลาง และปราสาททิศใต้ เป็นไปในลักษณะการวางตามคติการนับถือรัตนตรัยมหายาน ปราสาททิศเหนือได้แก่พระนางปรัชญาปารมิตา ปราสาทองค์กลาง คือพระวัชรสัตว์นาคปรก และจากปราสาททิศใต้ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งคติการนับถือรูปเคารพทั้งสามรูปเรียงกันในแนวนี้ เป็นคติการนับถือรูปเคารพในพุทธศาสนามหายาน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธศตวรรษที่ 18 จึงสามารถกำหนดอายุเวลาในการสร้างปราสาทกำแพงแลงนี้ได้ว่าร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา กล่าวถึงเมือง “ศรีชัยวัชรปุระ” (เมืองเพชรบุรี) หนึ่งในหกเมืองโบราณในภาคกลางที่มีการกล่าวต่อไปอีกว่าได้มีการส่งพระชัยพุทธมหานาถ 1 ใน 23 องค์จากเมืองพระนครหลวง มาประดิษฐานที่เมืองเพชรบุรีนั่นก็คือปราสาทวัดกำแพงแลง และเมื่อเทียบกับโบราณสถานแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ปราสาทกำแพงแลงแห่งนี้ ก็คือปราสาทที่กล่าวถึงในจารึกนั้น ซึ่งปราสาทพระขรรค์เป็นปราสาทที่ร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นกัน