ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 21 รายการ, 3 หน้า
จิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำ
เชียงใหม่
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำ

จิตรกรรมฝาผนังที่วิหารลายคำมีหลายส่วน บริเวณผนังห้องท้ายวิหารเขียนภาพพระอดีตพุทธเจ้าเรียงแถว ผนังด้านทิศเหนือเขียนเรื่องสุวรรณหงส์ ผนังด้านทิศใต้เขียนเรื่องสังข์ทอง เหนือเรื่องสุวรรณหงส์และสังข์ทองเขียนภาพเทพชุมนุม โดยลักษณะภาพที่ปรากฏมีลักษณะเป็นแบบ 3 มิติและมึความสมจริงยิ่งขึ้นซึ่งเป็นอิทธิพลจากศิลปะรัตนโกสินทร์ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกและมีอิทธิพลจากศิลปะพม่า เช่นลักษณะสถาปัตยกรรมทรงปยาทาดหรือเครื่องทรงกษัตริย์ต่างๆและมีการเขียนภาพกากที่บอกเล่าวิถีชีวิตของชาวบ้านในปริมาณที่มากกว่าจิตรกรรมฝาผนังในภาคกลาง

พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร

พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตรมีรูปแบบเฉพาะอย่างพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 กล่าวคือ พระวรกายค่อนข้างเพรียว พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง เส้นขอบเปลือกพระเนตรและพระขนงป้ายเป็นแผ่นเช่นเดียวกับพระพุทธรูปอยุธยาตอนปลาย พระเนตรเปิดและมองตรง พระนาสิกค่อนข้างเล็กและโด่ง พระโอษฐ์เล็ก เส้นพระโอษฐ์อ่อนโค้งเล็กน้อยเกือบเป็นเส้นตรง คล้ายเรือประทุน พระพักตร์อย่างหุ่น ประทับนั่งแสดงปางมารวิชัย นิ้วพระหัตถ์เรียวยาวเสมอกัน สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่พาดอยู่กึ่งกลางพระวรกาย

วัดราชโอรสาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมวัดราชโอรสาราม

วัดแห่งนี้แผนผังหันหน้าไปยังคลองบางขุนเทียน มีพระอุโบสถตั้งเป็นประธานอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างซ้ายขวาด้วยศาลาการเปรียญหรือพระวิหารพระนั่งและพระวิหารพระยืน ด้านหลังเป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ มีระเบียงคดล้อมรอบวิหารพระนอนซึ่งมีเจดีย์ล้อมรอบ และมีกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถและพระวิหาร มุมกำแพงแก้วด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงปรางค์ทั้ง 2 มุม นอกกำแพงด้านหน้ามีเจดีย์ทรงถะจีน 4 องค์ และวิหารพระสิทธารถ

ปูนปั้นประดับวิหารวัดนางพญา
สุโขทัย
ประติมากรรมปูนปั้นประดับวิหารวัดนางพญา

งานปูนปั้นประดับผนังวิหารด้านใต้ของวัดนางพญากำลังชำรุดหลุดล่วงลงตามกาลเวลา เดิมทีคงมีงานปูนปั้นประดับทั้งด้าน แต่ปัจจุบันเหลือชัดเจนเพียงแค่ผนังระหว่างช่วงเสากลางเท่านั้น ผนังวิหารก่อด้วยศิลาแลง ทำช่องแสงหรือช่องลมไว้ตรงกลาง ตกแต่งผนังด้วยปูนปั้นเลียนแบบฝาไม้ลูกฟัก ภายในลูกฟักและช่องแสงประดับด้วยงานปูนปั้น ออกแบบเป็นลวดลายประเภทเครือเถาหรือพรรณพฤกษา ซึ่งประกอบด้วยก้าน ใบ และดอก พันเกี่ยวกันเต็มพื้นที่ผนัง

พระธาตุเชิงชุม
สกลนคร
สถาปัตยกรรมพระธาตุเชิงชุม

พระธาตุเชิงชุมเป็นพระธาตุทรงบัวเหลี่ยม ก่ออิฐถือปูนครอบทับปราสาทเขมรที่ก่อจากศิลาแลงพระธาตุเชิงชุมมีแผนผังสี่เหลี่ยม เรือนธาตุมีรูปแบบเป็นชุดฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน ด้านทั้งสี่มีซุ้มประตูทรงปราสาท ซุ้มด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องคูหาที่ตั้งอยู่ภายใน โดยห้องดังกล่าวนี้ก็คือครรภคฤหะเดิมของปราสาทเขมรนั่นเอง ในขณะที่ซุ้มประตูด้านใต้ ตะวันตก และเหนือ แม้ว่าจะผลักบานประตูได้แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปภายในได้ เพราะเมื่อผลักเข้าไปจะพบกับผนังประตูหลอกของปราสาทศิลาแลง ถัดขึ้นไปจากเรือนธาตุเป็นองค์ประกอบคล้ายองค์ระฆังแต่อยู่ในผังสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ซึ่งอาจเทียบได้กับบัลลังก์ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดที่ประกอบจากบัวเหลี่ยมซ้อนกัน

พระประโทณเจดีย์
นครปฐม
สถาปัตยกรรมพระประโทณเจดีย์

พระประโทณเจดีย์เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ ฐานซ้อนชั้นซึ่งสร้างขึ้นแต่ครั้งทวารวดี และปรางค์ซึ่งตั้งอยู่ด้านบนสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และซ่อมแซมครั้งใหญ่หรือสร้างใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ฐานซ้อนชั้นมีแผนผังด้านล่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นที่ด้านทั้งสี่ ถัดขึ้นมาเป็นฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและมุมรวม 3 เก็จ องค์ประกอบสำคัญของฐานนี้ คือ บัววลัย และผนังที่ตกแต่งด้วยเสาเป็นระยะ ทำให้พื้นที่ระหว่างเสากลายเป็นช่องสี่เหลี่ยม เสาหรือช่องสี่เหลี่ยมนี้ซ้อนกัน 2 ชั้น โดยชั้นล่างใหญ่กว่าชั้นบน ถัดขึ้นไปเป็นฐานอีกชั้นหนึ่งซึ่งองค์ประกอบหลักไม่ต่างไปจากฐานด้านล่างนัก ยกเว้นทำยกเก็จ 2 ชั้น ฐานชั้นสุดท้ายซึ่งเดิมทีอาจเป็นส่วนเรือนธาตุประดับด้วยซุ้มจระนำเรียงรายโดยรอบ สำหรับปรางค์ที่อยู่ด้านบนสุดมีฐานแปดเหลี่ยมซ้อนชั้นกันต่อด้วยเรือนธาตุเพิ่มมุม ยอดมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกตั้งตรงขึ้นไป

พระปฐมเจดีย์
นครปฐม
สถาปัตยกรรมพระปฐมเจดีย์

พระปฐมเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลมที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีระเบียงคดในผังกลมล้อมรอบองค์เจดีย์ โดยมีวิหารทิศทั้ง 4 คั่นจังหวะ ได้แก่ วิหารทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปตอนประสูติ วิหารทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปตอนตรัสรู้ วิหารทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปตอนปฐมเทศนา และวิหารทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปตอนปรินิพพาน องค์พระปฐมเจดีย์ประกอบด้วยส่วนฐานซึ่งเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถารองรับองค์ระฆังขนาดใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉนที่มีเสาหาร ปล้องไฉน และปลียอดที่มีลักษณะอ้วนป้อม

พระธาตุพนม
นครพนม
สถาปัตยกรรมพระธาตุพนม

พระธาตุพนมเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน องค์ประกอบสำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรือนธาตุ และยอดทรงบัวเหลี่ยมเรือนธาตุก่ออิฐไม่ฉาบปูน มีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส น่าจะตรงกับที่ตำนานอุรังคธาตุเรียกว่า อุโมงค์ (อูบมุง) ประดับตกแต่งกึ่งกลางแต่ละด้านด้วยซุ้มประตูหลอก ถัดออกมาสองข้างของซุ้มประตูตกแต่งด้วยเสาหลอกทรงกลม มุมทั้งสี่สลักภาพกนกพรรณพฤกษาและรูปบุคคลขี่พาหนะ ซึ่งได้รับการเชื่อมโยงเข้ากับตำนานอุรังคธาตุว่าเป็นรูปพระยาทั้งห้าที่ได้ร่วมกันสร้างพระธาตุพนมขึ้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 1 ชั้น ถัดไปจากนั้นเป็นยอดบัวเหลี่ยม ส่วนนี้นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะล้านช้าง