ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วัดราชโอรสาราม
คำสำคัญ : วัดราชโอรสาราม, พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, วัดจอมทอง, รัชกาลที่ 3
ชื่อเรียกอื่น | วัดราชโอรส, วัดจอมทอง |
---|---|
ชื่อหลัก | วัดราชโอรสาราม |
ชื่ออื่น | วัดราชโอรส, วัดจอมทอง |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | บางค้อ |
อำเภอ | เขตจอมทอง |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.702566 Long : 100.464752 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 658396.49 N : 1515311.62 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ริมคลองบางขุนเทียน |
ประวัติการสร้าง | วัดราชโอรสารามเดิมชื่อวัดจอมทอง สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้เสด็จผ่านวัดนี้เมื่อคราวยกทัพไปรับศึกพม่าที่กาญจนบุรีและได้ทำพิธีเบิกโขลนทวารที่วัดแห่งนี้ เมื่อเสร็จศึกครั้งนั้น พระองค์ได้กลับมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งวัด |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | - |
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 พ.ศ. 2531 งานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมติดที่ กรมศิลปากร ได้อนุรักษ์จิตรกรรมลายกำมะลอบนหลังบานประตูหน้าต่าง บานแผละ เพดาน และวงกบช่องหน้าต่าง และจิตรกรรมฝาผนัง พ.ศ. 2536 งานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมติดที่ กรมศิลปากร ได้ทำการอนุรักษ์และเขียนซ่อมจิตรกรรมฝาผนังบางส่วน |
ลักษณะทางศิลปกรรม | วัดแห่งนี้แผนผังหันหน้าไปยังคลองบางขุนเทียน มีพระอุโบสถตั้งเป็นประธานอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างซ้ายขวาด้วยศาลาการเปรียญหรือพระวิหารพระนั่งและพระวิหารพระยืน ด้านหลังเป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ มีระเบียงคดล้อมรอบวิหารพระนอนซึ่งมีเจดีย์ล้อมรอบ และมีกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถและพระวิหาร มุมกำแพงแก้วด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงปรางค์ทั้ง 2 มุม นอกกำแพงด้านหน้ามีเจดีย์ทรงถะจีน 4 องค์ และวิหารพระสิทธารถ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | วัดราชโอรสาราม หรือวัดจอมทอง เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งวัด ถือเป็นวัดแห่งแรกๆที่สร้างแบบนอกอย่างหรือแบบพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 คือ ผสมผสานศิลปะจีนเข้ามาอยู่ในวัด พระอุโบสถ พระวิหารไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันก่ออิฐถือปูนประดับกระเบื้องเคลือบเป็นลวดลายแบบจีน มีการเพิ่มพาไลและเสาพาไล โดยตัวเสาเป็นเสาสี่เหลี่ยมไม่มีบัวหัวเสา เช่นเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถที่เขียนเป็นภาพเครื่องตั้งแบบจีน รวมไปถึงแผนผังของวัดที่ใช้แผนผังแบบฮวงจุ้ยจีน วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ฐานพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถนามว่าพระพุทธอนันตคุณอดุลยญาณบพิตร วัดนี้ยังปรากฏหลักฐานดั้งเดิมของวัดจอมทองที่วิหารพระยืน ทั้งพระพุทธรูปยืนด้านหน้าและกลุ่มพระพุทธรูปด้านหลังซึ่งล้วนแสดงรูปแบบของพุทธศิลป์แบบอยุธยาทั้งสิ้น ปัจจุบันบริเวณใต้ต้นพิกุลทางทิศเหนือของพระอุโบสถมีแท่นเป็นพระแท่นที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับขณะคุมงานก่อสร้าง |
ข้อสังเกตอื่นๆ | - |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 24 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-05-03 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร. กรุงเทพฯ: บริษัทกราฟฟิคอาร์ท, 2525. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. งานช่างพระนั่งเกล้า. กรุงเทพฯ: มติชน, 2551. สันติ เล็กสุขุม. ข้อมูลและมุมมอง : ศิลปะรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2548. กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ, 2516. |