ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระปฐมเจดีย์
คำสำคัญ : เจดีย์ทรงระฆัง, พระปฐมเจดีย์
ชื่อหลัก | วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | พระปฐมเจดีย์ |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | นครปฐม |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.8196296 Long : 100.060197 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 614586.12 N : 1528031.64 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | กลางวัด |
ประวัติการสร้าง | ประวัติความเป็นมาของพระปฐมเจดีย์นั้นระบุว่าเมื่อ พ.ศ. 2374 เจ้าฟ้ามงกุฏขณะทรงผนวชได้เสด็จออกธุดงค์นอกราชธานีไปยังที่ต่างๆ และได้เสด็จไปนมัสการพระเจดีย์องค์หนึ่งที่เมืองนครชัยศรี ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ตอนบนเป็นปรางค์ โดยทรงพระราชดำริว่าน่าจะเป็นเจดีย์องค์แรกในสยามประเทศเนื่องจากมีขนาดใหญ่มาก และอาจจะสร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้เผยแผ่พุทธศาสนาไปยังดินแดนต่างๆ จึงทรงเรียกเจดีย์นี้ว่า พระปฐมเจดีย์ เจ้าฟ้ามงกุฏได้ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานให้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ แต่รัชกาลที่ 3 ไม่โปรดเนื่องจากอยู่ในป่ารก การจะปฏิสังขรณ์ขึ้นนั้นเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์อันใด ภายหลังเมื่อได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เป็นผู้ควบคุมการปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. 2396 ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาได้ถึงแก่พิราลัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดีเป็นแม่กองแทน การก่อสร้างพระปฐมเจดีย์เสร็จสิ้นและมีการฉลองพระเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาได้มีการประดับกระเบื้องสีทองในสมัยรัชกาลที่ 5 |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 78 ตอน 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 มีการปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์และก่อสร้างอาคารอื่นๆในสมัยรัชกาลที่ 6 |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระปฐมเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลมที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีระเบียงคดในผังกลมล้อมรอบองค์เจดีย์ โดยมีวิหารทิศทั้ง 4 คั่นจังหวะ ได้แก่ วิหารทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปตอนประสูติ วิหารทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปตอนตรัสรู้ วิหารทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปตอนปฐมเทศนา และวิหารทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปตอนปรินิพพาน องค์พระปฐมเจดีย์ประกอบด้วยส่วนฐานซึ่งเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถารองรับองค์ระฆังขนาดใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉนที่มีเสาหาร ปล้องไฉน และปลียอดที่มีลักษณะอ้วนป้อม |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จฯ มาทรงนมัสการเจดีย์องค์นี้ตั้งแต่เมื่อทรงผนวช ซึ่งยังคงเป็นมีสภาพเป็นซากเจดีย์ขนาดใหญ่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติจึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์นี้ขึ้นใหม่ เนื่องจากทรงพระราชดำริว่าเป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและน่าจะเป็นเจดีย์องค์แรกที่มีในสยามที่สร้างขึ้นในครั้งที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้เผยแผ่พุทธศาสนามายังสุวรรณภูมิ จึงมีพระราชดำริให้เรียกเจดีย์แห่งนี้ว่า พระปฐมเจดีย์ การศึกษาในเวลาต่อมาทำให้ทราบว่าพระปฐมเจดีย์เป็นพุทธศาสนสถานในวัฒนธรรมทวารวดี รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธปูชนียบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปจากเมืองศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ที่อยู่ในสภาพชำรุดเหลือเพียงพระเศียร พระหัตถ์และพระบาทมาหล่อขึ้นใหม่ให้บริบูรณ์แล้วมาประดิษฐานที่ด้านหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ทางด้านทิศเหนือ รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรังคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ในผนังด้านทิศเหนือ |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | ตำนานพระปฐมเจดีย์ หรือตำนานพระยากง พระยาพาน กล่าวถึง การสร้างเจดีย์ทรงลอมฟางขนาดความสูงเท่านกเขาเหินและประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วไว้ ซึ่งหมายถึงพระปฐมเจดีย์เพื่อเป็นการไถ่บาปที่พระยาพานได้กระทำปิตุฆาตหรือฆ่าพระยากงผู้เป็นบิดา |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | การปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีความเกี่ยวข้องกับเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะลังกา เนื่องจากทรงเชื่อว่าเป็นรูปแบบที่มีความถูกต้องตามแบบแผนและมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่เมื่อแรกรับพุทธศาสนา นอกจากนี้ ลักษณะบางประการ เช่น การใช้ชุดมาลัยเถารองรับองค์ระฆังยังแสดงถึงความสัมพันธ์กับเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะอยุธยาด้วย |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-06-15 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | กองโบราณคดี กรมศิลปากร.ทะเบียนโบราณสถานในเขตหน่วยศิลปากรที่ 2.กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี, 2538. ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. เรื่องพระปฐมเจดีย์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2555. นฤมล บุญญานิตย์. การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ : กรณีศึกษาจากเอกสารจดหมายเหตุ (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการจดหมายเหตุและเอกสาร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548). |