ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระธาตุพนม
คำสำคัญ : เจดีย์ทรงระฆัง, พระธาตุ, พระธาตุพนม
ชื่อหลัก | วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ธาตุพนม |
อำเภอ | ธาตุพนม |
จังหวัด | นครพนม |
ภาค | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 16.942662 Long : 104.723826 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 Q Hemisphere : N E : 470594.19 N : 1873232.75 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | กลางเขตพุทธาวาส |
ประวัติการสร้าง | แม้ว่าตำนานอุรังคธาตุจะย้อนประวัติการสร้างพระธาตุพนมให้เก่าแก่ไปจนถึงสมัยพุทธกาล แต่ตามข้อเท็จจริงทางศิลปกรรมและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สรุปได้ว่า พระธาตุพนมเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 หรืออาจมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว ต่อมาในสมัยล้านช้างราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 ได้ปฏิสังขรณ์ศาสนสถานนี้จนกลายเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ หลักฐานที่เก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ 14-15 หรือก่อนหน้านั้น คือ เรือนธาตุ แผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐไม่ฉาบปูน ประดับตกแต่งด้วยลวดลายต่างๆ เช่น กนกพรรณพฤกษา เสากลม จากการเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรมพบว่าลักษณะเสากลมละม้ายกับเสาประดับกรอบประตูในศิลปะเขมรแบบไพรกเมง-กำพงพระ ทำให้นักวิชาการหลายท่านใช้เป็นหลักฐานกำหนดอายุเรือนธาตุว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 13 อย่างไรก็ตามบางท่านเห็นว่าการประดับผนังเรือนธาตุด้วยเสาจำนวนมาก และเสาบางต้นประดับลวดลายไว้ภายในอาจเกี่ยวข้องกับปราสาทในศิลปะจาม อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ก็ได้ อย่างไรก็ตาม รูปแบบในภาพรวมของเรือนธาตุแสดงให้เห็นถึงลักษณะท้องถิ่นที่แตกต่างไปจากศิลปกรรมในสถานที่อื่นๆ อย่างแท้จริง สำหรับหลักฐานสมัยล้านช้างได้แก่ยอดทรงบัวเหลี่ยมก่อนที่จะมีการขยายใหญ่สูงใหญ่ขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยอดดังกล่าวนี้มีรูปทรงอ้วนเตี้ยกว่าปัจจุบัน สามารถศึกษาได้จากภาพถ่ายเก่า สันนิษฐานว่าเป็นงานปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยล้านช้าง ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 โดยกษัตริย์หลายพระองค์ เช่น พระเจ้าไชยเชษฐา พระยาสุริยวงศาธรรมิกราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งที่พระครูโพนสะเม็กเป็นผู้นำการปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2233-2234 เข้าใจว่าในครั้งนี้คงปิดเรือนธาตุของพระธาตุพนมจนไม่สามารถเข้าไปภายในได้ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2483 ได้ขยายยอดทรงบัวเหลี่ยมให้ใหญ่และสูงขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พระธาตุพนมถล่มลงมาเมื่อ พ.ศ. 2518 ทางการได้บูรณะขึ้นมาใหม่จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2522 |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ฉบับที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2483 มีการสร้างยอดทรงบัวเหลี่ยมใหม่ครอบทับลงบนยอดเดิม ด้วยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นประกอบกับมีน้ำฝนไหลซึมสู่ภายในพระธาตุจึงเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พระธาตุพนมถล่มลงมาเมื่อ พ.ศ. 2518 การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญหลังพระธาตุพนมถล่มลงมาใช้เวลายาวนานจนสำเร็จลงเมื่อ พ.ศ.2522 โดยยึดถือตามรูปแบบครั้งสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งองค์ ตอกเสาเข็มให้มั่นคงแข็งแรง ในส่วนของเรือนธาตุได้นำเอาภาพสลักเดิมมาประกอบขึ้นใหม่ เสริมอิฐใหม่เฉพาะส่วนที่พังเสียหาย พระบรมสารีริกธาตุที่ค้นพบในคราวบูรณะปฏิสังขรณ์ก็ได้นำกลับไปประดิษฐานยังตำแหน่งเดิม |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระธาตุพนมเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน องค์ประกอบสำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรือนธาตุ และยอดทรงบัวเหลี่ยม เรือนธาตุก่ออิฐไม่ฉาบปูน มีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส น่าจะตรงกับที่ตำนานอุรังคธาตุเรียกว่า อุโมงค์ (อูบมุง) ประดับตกแต่งกึ่งกลางแต่ละด้านด้วยซุ้มประตูหลอก ถัดออกมาสองข้างของซุ้มประตูตกแต่งด้วยเสาหลอกทรงกลม มุมทั้งสี่สลักภาพกนกพรรณพฤกษาและรูปบุคคลขี่พาหนะ ซึ่งได้รับการเชื่อมโยงเข้ากับตำนานอุรังคธาตุว่าเป็นรูปพระยาทั้งห้าที่ได้ร่วมกันสร้างพระธาตุพนมขึ้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 1 ชั้น ถัดไปจากนั้นเป็นยอดบัวเหลี่ยม ส่วนนี้นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะล้านช้าง |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระธาตุพนมเป็นเจดียสถานศักดิ์สิทธิ์สองฝั่งแม่น้ำโขง เป็นศูนย์รวมความเชื่อถือศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมายาวนานหลายร้อยปี ได้รับการจำลองไปสร้างยังที่ต่างๆ มากมาย สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในดินแดนไทยกับลาวได้ชัดเจน โดยความสัมพันธ์นี้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยล้านช้างเป็นอย่างน้อย |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ล้านช้าง |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 22 (ยกเว้นส่วนเรือนธาตุที่น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 หรือก่อนหน้านั้น) |
ศาสนา | พุทธ |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนา |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | ตำนานอุรังคธาตุซึ่งแต่งขึ้นในสมัยล้านช้างได้เล่าถึงประวัติการสร้างพระธาตุพนมว่า ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์เสด็จมายังสถานที่ต่างๆ สองฟากฝั่งโขง หนึ่งในนั้นที่พระองค์เสด็จมาคือภูกำพร้า อยู่ในเขตแดนแคว้นศรีโคตรบูร ซึ่งก็คือที่ตั้งพระธาตุพนมในปัจจุบัน พระองค์มีพุทธทำนายว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนอก) กระทั่งเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วพระมหากัสสปะได้เชิญพระอุรังคธาตุมาประดิษฐานไว้ ครั้งนั้นท้าวพระยาในบ้านเมืองต่างๆ ได้ร่วมกันสร้างพระธาตุขึ้น ได้แก่ พระยาสุวรรณภิงคาร เมืองหนองหานหลวง พระยาคำแดง เมืองหนองหานน้อย พระยาจุลณีพรหมทัต แคว้นจุลณี พระยาอินทปัฏนคร เมืองอินทปัฏนคร และพระยานันทเสน เมืองศรีโคตรบูร จากนั้นพระยาทั้งห้าได้สวรรคตลงและเกิดใหม่เป็นพระอรหันต์ ได้ร่วมกันกับพระยาสุมิตรธรรมวงศา ผู้ครองแคว้นศรีโคตรบูร พร้อมด้วยท้าวพระยาอื่นๆ บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมอีกครั้งหนึ่ง กาลล่วงเลยมาช้านาน พระธาตุพนมขาดการดูแลรักษา จวบจนกระทั่งสมัยล้านช้างซึ่งเป็นสมัยที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับ จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | พระธาตุพนมได้รับการจำลองแบบไปสร้างเป็นพระธาตุอื่นๆจำนวนมาก เช่น พระธาตุเรณู พระธาตุท่าอุเทน พระธาตุวัดมหาธาตุ จังหวัดนครพนม พระธาตุครอบพระพุทธบาทบัวบก จังหวัดอุดรธานี |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-09-21 |
ผู้จัดทำข้อมูล | ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | เทพรัตนโมลี, พระ. ประวัติย่อพระธาตุพนม. พิมพ์ครั้งที่ 4, พระนคร : เฟื่องอักษร, 2514. ประภัสสร์ ชูวิเชียร. 5 มหาเจดีย์สยาม. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2554. พระธาตุพนม. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2518. ธรรมราชานุวัตร, พระ. และ โสภณเจติยาภิบาล, พระ. อุรังคนิทาน ตำนานพระธาตุพนม (พิสดาร). พิมพ์ครั้งที่ 11, กรุงเทพฯ : จูน พับลิชชิง, 2551. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ พระพุทธรูป ฮูปแต้ม สิม ศิลปะลาวและอีสาน. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2555. สิริกุล จุมพล และคนอื่นๆ. แหล่งท่องเที่ยวอีสานบน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2534. อนุวิทย์ เจริญศุภกุล. พระธาตุพนม. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2521. |