ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 41 ถึง 48 จาก 120 รายการ, 15 หน้า
ภาพสลักพระพุทธรูป
สระบุรี
ประติมากรรมภาพสลักพระพุทธรูป

ภาพสลักนูนต่ำกลุ่มนี้สลักภาพพระพุทธเจ้าเป็นประธาน โดยอยู่ทางซ้ายสุดของกลุ่ม พระพุทธองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทอยู่บนบัลลังก์ พระหัตถ์ทำปางแสดงธรรม ถัดมาทางขวาเป็นภาพบุคคลเศียรเดียว สองกร ประทับในท่านั่งแบบลลิตาสนะ เชื่อว่าเป็นพระศิวะเพราะพระหัตถ์ซ้ายทรงอักษมาลา (ลูกประคำ) ถัดมาเป็นรูปพระวิษณุยืน โดยสังเกตได้จากการมีสี่กร พระกรปกติไขว้กันที่พระอุระ เป็นกิริยาแสดงความนบนอบต่อพระพุทธเจ้า พระหัตถ์อีก 2 ข้างทรงจักรและสังข์ ถัดไปทางขวามีรูปเทวดาเหาะ 2 องค์ และฤาษี 1 ตน

พระพิมพ์
ราชบุรี
ประติมากรรมพระพิมพ์

พระพิมพ์ทรงรี พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทอยู่ตรงกลาง พระหัตถ์แสดงปางปฐมเทศนา พระองค์นั่งอยู่ภายในอาคารทรงศิขร แวดล้อมด้วยสถูปขนาดเล็ก สองข้างของดอกบัวที่รองรับพระบาทมีลวดลายที่อาจเป็นกวางหมอบ

ภาพสลักพระพุทธรูป
ราชบุรี
ประติมากรรมภาพสลักพระพุทธรูป

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิแบบหลวม ไขว้ซ้อนกันเพียงข้อพระบาท พระหัตถ์ปางสมาธิ มีฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียร เบื้องขวาของพระองค์มีธรรมจักรวางตั้งอยู่บนเสา ส่วนเบื้องซ้ายของพระองค์เป็นเจดีย์ทรงกลม

พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี

พระพุทธเจ้ายืนอยู่บนดอกบัวที่วางอยู่เหนือพาหนะ ขนาบข้างด้วยบุคคลข้างละ 1 คน พระหัตถ์ทั้งสองข้างทำปางแสดงธรรม มีรูเจาะทะลุปรากฏอยู่บริเวณฐานบัว พาหนะทำเป็นรูปสัตว์ผสมลักษณะเด่นคือ มีปีก มีจะงอยปากแหลม มีเขา นิยมเรียกพาหนะแบบนี้ว่า ตัวพนัสบดี รูปบุคคลยืนที่ยืนอยู่สองข้างนั้น ข้างหนึ่งถือแส้ ข้างหนึ่งถือฉัตร น่าจะเป็นพระอินทร์และพระพรหม

พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี
นครปฐม
ประติมากรรมพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี

พระพุทธเจ้ายืนอยู่เหนือพาหนะ ขนาบข้างด้วยบุคคลข้างละ 1 คน พระหัตถ์ทั้งสองข้างทำปางแสดงธรรม มีรูเจาะทะลุปรากฏอยู่บริเวณพระชงฆ์ พาหนะทำเป็นรูปบุคคลขนาดใหญ่เห็นครึ่งตัว มีปีก สวมมงกุฎทรงกระบอก ถือดอกบัวในมือข้างละดอก บางท่านเรียกพาหนะแบบนี้ว่า พระอรุณาทิตย์ หรือพระอาทิตย์ เหนือดอกบัวแต่ละดอกเป็นรูปบุคคลยืน แม้จะชำรุดเสียหายแต่สังเกตได้ว่าบุคคลข้างหนึ่งถือแส้ สันนิษฐานว่าอาจเป็นรูปพระอินทร์และพระพรหม

พระพุทธรูปไสยาสน์
นครราชสีมา
ประติมากรรมพระพุทธรูปไสยาสน์

พระพุทธรูปสร้างโดยการนำเอาหินทรายขนาดใหญ่มาเรียงกันแล้วสลักเป็นพระพุทธรูป ประทับไสยาสน์แบบตะแคงขวาหรือสีหไสยาสน์ พระกรขวาวางราบกับพื้นรองรับพระเศียร พระวรกายเหยียวยาว พระกรซ้ายวางทับอยู่ด้านบน พระบาททั้ง 2 ข้างวางเสมอกัน พระพักตร์ทำจากหินทรายหลายก้อนมาเรียงซ้อนกัน มีรูปแบบทั่วไปตามศิลปะทวารวดี คือ พระพักตร์แลดูเหลี่ยม พระขนงเป็นสันและต่อเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำและโปน พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้าง

พระพุทธรูปปางสมาธิ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางสมาธิ

พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบแบบหลวม ซ้อนกันเฉพาะพระบาท พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ พระพักตร์เหลี่ยม พระขนงนูนเป็นสันและต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำและโปน พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะและกว้าง พระอุษณีษะเป็นต่อมนูนสูง มีพระรัศมีรูปดอกบัวตูมหรือลูกแก้ววางเหนือพระอุษณีษะ ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว บางแนบพระวรกาย

ภาพสลักเล่าเรื่องยมกปาฏิหาริย์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมภาพสลักเล่าเรื่องยมกปาฏิหาริย์

แผ่นหินนี้สลักภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถีเพื่อปราบเหล่าเดียรถีย์ พระพุทธเจ้านั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ซึ่งวางอยู่ใต้ต้นมะม่วง พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานธรรมทั้งสองข้างแวดล้อมด้วยภาพบุคคลจำนวนมาก แต่ละข้างมีเส้นตรงตามแนวนอนแบ่งกลุ่มบุคคลออกเป็น 2 กลุ่ม น่าจะสื่อว่าใต้เส้นตรงเป็นโลกมนุษย์ เหนือเส้นตรงเป็นสวรรค์ ดังนั้นกลุ่มบุคคลใต้แนวเส้นตรงที่อยู่ทางขวาของพระพุทธองค์น่าจะหมายถึงพระเจ้าปเสนทิโกศลพร้อมด้วยผู้ติดตาม ในขณะที่อีกข้างหนึ่งใต้แนวเส้นตรงเป็นเหล่าเดียรถีย์ที่พ่ายแพ้ สำหรับบุคคลที่อยู่เหนือแนวเส้นตรงเป็นทิพยบุคคลบนสวรรค์ โดยด้านขวาของพระพุทธองค์เป็นบุคคลสวมเครื่องทรงจำนวนมากน่าจะเป็นเทวดาที่นำโดยพระอินทร์ ส่วนด้านซ้ายเป็นบุคคลที่ครองเพศนักบวชน่าจะเป็นพระพรหม ถัดขึ้นไปด้านบนตามกิ่งก้านของต้นมะม่วงปรากฏภาพพระพุทธนิรมิตในอิริยาบถต่างๆ 7 องค์