ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี

คำสำคัญ : พระพุทธรูป, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี

ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.7576
Long : 100.492222
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661329.97
N : 1521418.09
ตำแหน่งงานศิลปะภายในห้องทวารวดี

ประวัติการสร้าง

ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมทำให้กำหนดอายุได้ว่าอยู่ในสมัยทวารวดี

กระบวนการสร้าง/ผลิต

สลักหิน

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระพุทธเจ้ายืนอยู่บนดอกบัวที่วางอยู่เหนือพาหนะ ขนาบข้างด้วยบุคคลข้างละ 1 คน พระหัตถ์ทั้งสองข้างทำปางแสดงธรรม มีรูเจาะทะลุปรากฏอยู่บริเวณฐานบัว พาหนะทำเป็นรูปสัตว์ผสมลักษณะเด่นคือ มีปีก มีจะงอยปากแหลม มีเขา นิยมเรียกพาหนะแบบนี้ว่า ตัวพนัสบดี รูปบุคคลยืนที่ยืนอยู่สองข้างนั้น ข้างหนึ่งถือแส้ ข้างหนึ่งถือฉัตร น่าจะเป็นพระอินทร์และพระพรหม

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ยังไม่ทราบความหมายที่แน่ชัดของพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี แต่นักวิชาการเห็นพ้องกันว่าเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะและวัฒนธรรมทวารวดี ไม่มีเหมือนที่แห่งใด สะท้อนให้เห็นว่าพุทธศาสนาในสมัยนั้นมีการแปลความหมายใหม่ หรือมีการปรับเปลี่ยนงานช่างในศาสนาให้เข้ากับคติความเชื่อของพุทธศาสนาท้องถิ่น

ข้อสังเกตอื่นๆ

ค้นพบที่นครปฐม

รูที่เจาะทะลุพระชงฆ์นั้นบางท่านเชื่อว่ามีไว้สำหรับเสียบเหล็กเพื่อยึดตรึงพระพุทธรูปไว้กับสิ่งอื่น บางท่านเชื่อว่าน่าจะยึดตรงกับดุมของธรรมจักร เพราะมีรูเจาะทะลุเหนือดุมเช่นเดียวกัน

ยังไม่ทราบคติความหมายที่แน่ชัดของพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี บางท่านให้ความเห็นว่าอาจหมายถึงพุทธประวัติตอนลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะว่าบางชิ้นเช่นเชิ้นนี้ขนาบข้างด้วยบุคคลถือฉัตร ซึ่งพ้องกันกับการเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่มีทิพยบุคคลติดตามกางกั้นฉัตรให้ ความคิดนี้แพร่หลายมาก จนทำให้เกิดการเรียกพระพุทธรูปปางแสดงธรรมสองพระหัตถ์ซึ่งปรากฏเสมอในพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดีว่าปางเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบางท่านเห็นว่ายังไม่มีหลักฐานแวดล้อมใดที่อธิบายได้ว่าเป็นตอนลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บางทีการคิดพาหนะให้พระพุทธเจ้าและขนาบข้างด้วยผู้ติดตาม อาจเป็นการสื่อสารว่าพระพุทธองค์สูงส่งมากเพียงใดก็ได้

นอกจากนี้นักวิชาการบางท่านยังเชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าอมิตาภะในลัทธิสุขาวดี กำลังลงมารับดวงวิญญาณผู้ที่นับถือพระองค์

ทั้งนี้ในกรณีที่ทำพาหนะเป็นสัตว์ผสมหรือตัวพนัสบดีมีคำอธิบายว่า ต้องการสื่อถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าว่ามีมากกว่าเทพเจ้าตรีมูรติในศาสนาพราหมณ์ จึงเอาลักษณะเด่นของพาหนะแห่งเทพตรีมูรติมาผสมกัน เช่น เขาของโคนนทิ จะงอยปากแหลมของครุฑ ปีกของหงส์ อย่างไรก็ตามตัวพนัสบดีนี้อาจเป็นเพียงสัตว์ในจินตนาการที่มีต้นเค้ามาแล้วตั้งแต่อินเดีย ช่างทวารวดีคงไม่ได้นำเอาพาหนะของเทพตรีมูรติมาผสมกันโดย

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะทวารวดี
อายุพุทธศตวรรษที่ 12-16
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-08-19
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ธนิต อยู่โพธิ์, พรหมสี่หน้า. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2509.

ผาสุข อินทราวุธ, ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : อักษรสมัย, 2542.

พิริยะ ไกรฤกษ์, ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยฉบับคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528.

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง “พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดีในศิลปะทวารวดี” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.