ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมเจดีย์รายวัดเจดีย์เจ็ดแถว
เจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์นี้ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูน และประดับปูนปั้น องค์ประกอบโดยรวมประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และยอด โดยส่วนฐานมีฐานเขียงและฐานบัวลูกฟักเป็นส่วนสำคัญ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยม กลางด้านทั้งสี่ประดับด้วยซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งประกอบด้วยองค์ระฆังกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ที่มุมทั้งสี่มียอดเจดีย์เล็กๆวางตั้งอยู่ เมื่อนับรวมกับยอดกลางทำให้มีทั้งสิ้น 5 ยอด เหนือองค์ระฆังของยอดกลางเป็นองค์ระฆังขนาดเล็กกว่าลดหลั่นขึ้นไป ไม่ได้เป็นบัลลังก์และปล้องไฉนเหมือนที่พบทั่วไป
สถาปัตยกรรมเจดีย์รายทรงปราสาทยอดวัดเจดีย์เจ็ดแถว
เจดีย์รายทรงปราสาทยอดตั้งเรียงรายรอบๆ เจดีย์ประธานและวิหาร ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูน และประดับปูนปั้น องค์ประกอบโดยรวมประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และยอด โดยส่วนฐานมีฐานบัวในผังสี่เหลี่ยมเป็นส่วนสำคัญ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุในผังเพิ่มมุมหรือย่อมุม ด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องคูหา ส่วนด้านอื่นๆ เป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนยอดเป็นชั้นซ้อน 2 ชั้น ต่อด้วยระเบียบของเจดีย์ทรงกลมศิลปะสุโขทัย คือ บัวถลา บัวปากระฆัง องค์ระฆัง และส่วนยอดสุดที่พังทลายแล้ว
สถาปัตยกรรมปราสาทภูมิโปน
ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วยอาคารขนาดต่างๆ เรียงตัวกันตามแนวเหนือ-ใต้ 4 หลัง อาคารหลังอื่นๆ ยกเว้นปราสาทประธานเหลือแต่เพียงส่วนฐาน ในขณะที่ปราสาทประธานมีสภาพสมบูรณ์จนถึงยอดปราสาทปราสาทประธานก่อด้วยอิฐเป็นวัสดุหลัก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผนังด้านตะวันออกเป็นประตูสู่ครรภคฤหะ ผนังด้านอื่นๆ อีกสามด้านเป็นประตูหลอก มุมทั้งสี่ตกแต่งเป็นเสาอิงหรือเสาหลอก เหนือขึ้นไปเป็นหลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 2-3 ชั้น ภายในครรภคฤหะมีสภาพเป็นหลุมขนาดใหญ่ ไม่พบแท่นฐานและรูปเคารพดั้งเดิม มุมทั้งสี่มีรอยหลุมเสา ผนังด้านเหนือมีท่อโสมสูตรหินทรายฝังอยู่ภายใน
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดแก้ว
เจดีย์วัดแก้วเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ส่วนยอดที่หักหายน่าจะเป็นชั้นซ้อนต่อด้วยองค์ระฆัง คล้ายคลึงกับจันทิในศิลปะชวาภาคกลาง และเป็นทำนองเดียวกันกับพระบรมธาตุไชยาแต่ขนาดใหญ่กว่า ก่อด้วยอิฐและฉาบปูน องค์ประกอบสำคัญประกอบด้วยฐานขนาดใหญ่รองรับองค์เจดีย์ ตัวเจดีย์เป็นทรงปราสาทที่ส่วนยอดพังทลายลงแล้ว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแผนผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม กลางด้านทั้งสี่เป็นมุข ฌเบมุขด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องครรภคฤหะ ในขณะที่มุขอีก 3 ด้านเป็นห้องประดิษฐานรูปเคารพ เทียบได้กับแผนผังของจันทิในศิลปะชวาภาคกลางหลายแห่ง ผนังของเรือนธาตุยังประดับตกแต่งด้วยเสาอิงหรือเสาหลอกด้วย
สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุไชยา
พระบรมธาตุไชยาเป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มียอดเป็นองค์ระฆัง ก่ออิฐถือปูน ด้านล่างสุดเป็นฐานไพที มีแผนผังสี่เหลี่ยมประดับด้วยเสาหลอกหรือเสาอิงเป็นระยะ มียกเก็จทางด้านตะวันออก มีบันไดทางขึ้นสู่เรือนธาตุอยู่ทางด้านตะวันออกนี้ ด้านบนของฐานไพทีนอกจากจะมีเจดีย์ทรงปราสาทยอดเป็นองค์ระฆังแล้ว ยังแวดล้อมด้วยเจดีย์ทรงกลมตั้งบนฐานบัวสี่เหลี่ยม 6 องค์เจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์ระฆังอันเป็นส่วนสำคัญที่สุดประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และส่วนยอด ส่วนฐานเป็นฐานบัวที่มีแผนผังยกเก็จล้อตามแผนผังของเรือนธาตุ โดยตัวเรือนธาตุมีแผนผังสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและมุมทั้งสี่ เก็จที่กลางด้านทั้งสี่ของเรือนธาตุเป็นมุขยื่นยาว มุขด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องครรภคฤหะ ในขณะที่มุขอีก 3 ด้านทึบตัน เก็จที่มุมทั้งสี่ของเรือนธาตุเป็นเสาอิงหรือเสาหลอก ส่วนยอดถัดขึ้นไปจากส่วนเรือนธาตุ ประกอบด้วยชั้นซ้อน 2 ชั้น แต่ละชั้นมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยมซึ่งมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบ จากนั้นเป็นบัวคลุ่ม องค์ระฆังแปดเหลี่ยม บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลี อันเป็นระเบียบของเจดีย์ทรงกลม
สถาปัตยกรรมดอนขุมเงิน
จากสภาพปัจจุบันซึ่งพังทลายและถูกรื้อทำลายอย่างมาก ทำให้เห็นว่าศาสนสถานแห่งนี้มีหลายอย่างที่ผิดแปลกไปจากปราสาทในวัฒนธรรมเขมรอื่นๆ ทั่วไป เช่น หินทรายที่นำมาใช้ก่อสร้างมิได้มีความหนาเฉกเช่นหินทรายตามปราสาทหินทั่วไป หินทรายบางจุดนำมาก่อในลักษณะของแนวคันเขื่อนมากกว่านำมาเรียงก่อเป็นตัวสถาปัตยกรรมแบบปราสาทหิน แผนผังของศาสนสถานหลังนี้ประกอบด้วยอาคารประธานหินทราย สภาพพังทลายและถูกรื้อทำลายจนเหลือแต่ฐาน สันนิษฐานรูปแบบดั้งเดิมได้ยาก ด้านหน้าหรือด้านตะวันออกของอาคารประธานมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยมที่กรุผนังบ่อด้วยหินทราย มีขั้นบันไดลงสู่บ่อด้วย ถัดออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ใช้หินทรายก่อเป็นแนวคันเขื่อน ภายในค้นพบฐานประดิษฐานโคที่มีจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมัน พื้นที่โดยรอบยังเห็นหินทรายที่ก่อเป็นแนวกำแพงเป็นระยะๆ นอกจากนี้ยังค้นพบแนวท่อโสมสูตรอยู่ทางทิศตะวันตกด้วย เข้าใจว่าเป็นแนวที่ทอดยาวมาจากห้องครรภคฤหะหรือสระน้ำ
สถาปัตยกรรมพระรามราชนิเวศน์
พระรามราชนิเวศน์เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นสไตล์ยุโรป ตัวอาคารมี 2 ชั้น หลังคามี 2 ยอดทรงสูง มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบ ตัวอาคารมีผังเป็นตรีมุข แต่ละมุขมีบันไดทางขึ้นขนาดใหญ่เป็นทางขึ้นลง มุขด้านหน้าทางทิศตะวันออกถือเป็นจุดเด่นของอาคาร ประกอบด้วยวงกลมสามวงเรียงกันคล้ายรูปดอกจิก เรียกว่า ผังดอกจิกแบบโรมาเนสก์ (Rhenish Romanesque Trefoil Plan)โถงทางเข้าเป็นวงกลมขนาดใหญ่มีลักษณะโปร่งทะลุไปถึงเพดานชั้น 2 และเป็นที่ตั้งของบันไดใหญ่ของพระที่นั่ง ซึ่งเป็นการออกแบบในแนว จุงเกนสติล (Jugendstil) ที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ภายในประกอบด้วยห้องต่างๆ ด้านทิศเหนือมีอาคารรองก่อสร้างต่ออกไปโอบล้อมที่ว่างตรงกลาง มีบริเวณสวนหรือที่ว่างตรงกลางตกแต่งแบบสวนยุโรป (Court) ภานในพระที่นั่งตกแต่งโดยใช้ทองแดง กระจกสี กระเบื้องเคลือบสี เหล็กหล่อ ช่อไฟกิ่งซึ่งเน้นความหรูหราแบบยุโรป
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท
มีรูปแบบเป็นปราสาททรงจัตุรมุข ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับลวดลายปูนปั้นที่บริเวณหน้าบัน บัวหัวเสา และกาบพรหมศร ส่วนยอดเป็นปรางค์มีทั้งหมด 5 ยอด โดยประดับอยู่ที่กลางสันหลังคามุขทั้ง 4 และยอดประธานซึ่งมีความสูงที่สุด ทุกยอดประดับนภศูล ภายในพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทมีขนาดไม่กว้างใหญ่มากนัก ใช้เทคนิคการก่ออิฐแนวผนังและเพดานโดยก่อเป็นวงโค้งปลายแหลม ซึ่งช่องวงโค้งค่อนข้างแคบจึงช่วยรองรับน้ำหนักของเครื่องหลังคาที่มีถึง 5 ยอดได้เป็นอย่างดี