ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เจดีย์รายทรงปราสาทยอดวัดเจดีย์เจ็ดแถว
คำสำคัญ : เจดีย์ทรงปราสาท, วัดเจดีย์เจ็ดแถว, เจดีย์ราย
ชื่อเรียกอื่น | - |
---|---|
ชื่อหลัก | วัดเจดีย์เจ็ดแถว |
ชื่ออื่น | - |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ศรีสัชนาลัย |
อำเภอ | ศรีสัชนาลัย |
จังหวัด | สุโขทัย |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 17.430775 Long : 99.786263 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 Q Hemisphere : N E : 583501.05 N : 1927382.25 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | เขตพุทธาวาส |
ประวัติการสร้าง | วัดเจดีย์เจ็ดแถวไม่มีประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นนับแต่ครั้งที่พระยาลิไทครองเมืองนี้เมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา สอดคล้องกับการกำหนดอายุจากรูปแบบศิลปกรรมที่มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19-20 ได้ เจดีย์รายซึ่งล้อมรอบเจดีย์ประธานและวิหารมีทั้งสิ้น 35 องค์ จัดวางอย่างเป็นระเบียบ จึงเชื่อว่าถูกออกแบบและสร้างขึ้นในครั้งเดียวกันทุกองค์ |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ขุดแต่งและบูรณะครั้งแรกระหว่าง พ.ศ. 2498-2499 ต่อมาได้ดำเนินการบูรณะเจดีย์บางองค์เมื่อ พ.ศ. 2502 ระหว่าง พ.ศ. 2508-2509 ได้ดำเนินการบูรณะเจดีย์อีกหลายองค์ที่รายล้อมเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม และวิหารด้านหน้ารวมทั้งหมด 32 องค์ บูรณะวิหารคดพร้อมแท่นพระรอบพระเจดีย์ประธานและตรงฐานบางตอน บูรณะวิหารหลวงบริเวณผนังบางตอน ฐานชุกชีพระประธาน และยกเสาศิลาบางต้น บูรณะเพิ่มเติมบางส่วนเมื่อ พ.ศ. 2533 คือ กำแพงวัด และต่อเศียรพระพุทธรูปที่หักหายไป |
ลักษณะทางศิลปกรรม | เจดีย์รายทรงปราสาทยอดตั้งเรียงรายรอบๆ เจดีย์ประธานและวิหาร ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูน และประดับปูนปั้น องค์ประกอบโดยรวมประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และยอด โดยส่วนฐานมีฐานบัวในผังสี่เหลี่ยมเป็นส่วนสำคัญ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุในผังเพิ่มมุมหรือย่อมุม ด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องคูหา ส่วนด้านอื่นๆ เป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนยอดเป็นชั้นซ้อน 2 ชั้น ต่อด้วยระเบียบของเจดีย์ทรงกลมศิลปะสุโขทัย คือ บัวถลา บัวปากระฆัง องค์ระฆัง และส่วนยอดสุดที่พังทลายแล้ว |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | เจดีย์รายวัดเจดีย์เจ็ดแถวแต่ละองค์มีรูปแบบที่แตกต่างกัน คือ เจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัย เจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง เจดีย์ทรงกลม เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ละองค์ยังมีลวดลายปูนปั้นประดับที่งดงาม นับเป็นสถานที่ศึกษารูปแบบเจดีย์ในศิลปะสุโขทัยได้ดีที่สุด เจดีย์แต่ละรูปแบบยังสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของช่างสุโขทัยและการแลกเปลี่ยนทางศิลปกรรมกับดินแดนข้างเคียงด้วย |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | สุโขทัย |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 20 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-06-09 |
ผู้จัดทำข้อมูล | ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | คณะกรรมการปรับปรุงโบราณสถาน จังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชร, รายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณสถานเมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองศรีสัชนาลัย พ.ศ. 2508 – 2512. พระนคร: กรมศิลปากร, 2514. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์สมัยสุโขทัยที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2534. สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549. |