ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เจดีย์รายวัดเจดีย์เจ็ดแถว
คำสำคัญ : เจดีย์ทรงปราสาท, วัดเจดีย์เจ็ดแถว, เจดีย์ราย
ชื่อเรียกอื่น | - |
---|---|
ชื่อหลัก | วัดเจดีย์เจ็ดแถว |
ชื่ออื่น | - |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ศรีสัชนาลัย |
อำเภอ | ศรีสัชนาลัย |
จังหวัด | สุโขทัย |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 17.430775 Long : 99.786263 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 Q Hemisphere : N E : 583501.05 N : 1927382.25 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเจดีย์ประธาน |
ประวัติการสร้าง | วัดเจดีย์เจ็ดแถวรวมถึงเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆังองค์นี้ไม่มีประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นนับแต่ครั้งที่พระยาลิไทครองเมืองนี้เมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา สอดคล้องกับการกำหนดอายุจากรูปแบบศิลปกรรมที่มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19-20 ได้ เจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเจดีย์ประธาน จัดวางตำแหน่งร่วมกับเจดีย์อื่นๆได้อย่างเป็นระเบียบ จึงเชื่อว่าถูกออกแบบและสร้างขึ้นพร้อมกับเจดีย์องค์อื่นๆ เมื่อคราวแรกสร้างวัด |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ขุดแต่งและบูรณะครั้งแรกระหว่าง พ.ศ. 2498-2499 ต่อมาได้ดำเนินการบูรณะเจดีย์บางองค์เมื่อ พ.ศ. 2502 ระหว่าง พ.ศ. 2508-2509 ได้ดำเนินการบูรณะเจดีย์อีกหลายองค์ที่รายล้อมเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม และวิหารด้านหน้ารวมทั้งหมด 32 องค์ บูรณะวิหารคดพร้อมแท่นพระรอบพระเจดีย์ประธานและตรงฐานบางตอน บูรณะวิหารหลวงบริเวณผนังบางตอน ฐานชุกชีพระประธาน และยกเสาศิลาบางต้น บูรณะเพิ่มเติมบางส่วนเมื่อ พ.ศ. 2533 คือ กำแพงวัด และต่อเศียรพระพุทธรูปที่หักหายไป |
ลักษณะทางศิลปกรรม | เจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์นี้ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูน และประดับปูนปั้น องค์ประกอบโดยรวมประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และยอด โดยส่วนฐานมีฐานเขียงและฐานบัวลูกฟักเป็นส่วนสำคัญ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยม กลางด้านทั้งสี่ประดับด้วยซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งประกอบด้วยองค์ระฆังกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ที่มุมทั้งสี่มียอดเจดีย์เล็กๆวางตั้งอยู่ เมื่อนับรวมกับยอดกลางทำให้มีทั้งสิ้น 5 ยอด เหนือองค์ระฆังของยอดกลางเป็นองค์ระฆังขนาดเล็กกว่าลดหลั่นขึ้นไป ไม่ได้เป็นบัลลังก์และปล้องไฉนเหมือนที่พบทั่วไป |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | เจดีย์รายวัดเจดีย์เจ็ดแถวองค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง เดิมทีเคยมีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเจดีย์ในศิลปะศรีวิชัย เช่น พระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ปัจจุบันมีการวิเคราะห์ใหม่แล้วเชื่อว่าน่าจะสัมพันธ์กับเจดีย์ในศิลปะล้านนาและศิลปะพม่าสมัยพุกามมากกว่า |
ข้อสังเกตอื่นๆ | เจดีย์องค์นี้มีรูปแบบเหมือนกันกับอนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก จนเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นต้นแบบให้กับอนุสาวรีย์แห่งนี้ |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | สุโขทัย |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 20 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | 1. เจดีย์วัดป่าสัก เมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพราะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆังที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน 2. เจดีย์เชียงยัน วัดพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน เพราะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆังที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-06-09 |
ผู้จัดทำข้อมูล | ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | คณะกรรมการปรับปรุงโบราณสถาน จังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชร, รายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณสถานเมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองศรีสัชนาลัย พ.ศ. 2508 – 2512. พระนคร: กรมศิลปากร, 2514. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์สมัยสุโขทัยที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2534. สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549. |