ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 25 ถึง 32 จาก 210 รายการ, 27 หน้า
ปราสาทบ้านบุ
บุรีรัมย์
สถาปัตยกรรมปราสาทบ้านบุ

เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดยาวไปตามทิศตะวันออก - ตะวันตก มีทางเข้าด้านหน้าซึ่งหันไปทางทิศตะวันออก ช่วงหลังเป็นตัวปราสาทซึ่งแบ่งเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสส่วนกรอบประตูทางเข้ามีการนำศิลาทรายซึ่งมีลวดลายดอกไม้สี่กลีบแต่เดิมมาใช้ในการก่อสร้าง โดยหันแผ่นศิลาทรายด้านสลักลวดลายเข้าข้างใน คล้ายกับปรางค์หินแดงที่ปราสาทหินพิมาย ในการนำวัสดุในศิลปะเก่ากว่ากลับมาใช้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้พบบัวยอดปราสาทขนาดใหญ่ในรูปแบบศิลปะร่วมแบบบายน ดังเช่นยอดโคปุระของปราสาทพระขรรค์ในกัมพูชา ทางเดินเชื่อมด้านทิศใต้มีการเจาะช่องหน้าต่าง 3 ช่อง และตรงมุขอีก 1 ช่อง ด้านเหนือก่อทึบในขณะที่ส่วนบนหักพังจนเกือบหมด และมีหลังคาโค้งเหนือทางเดินที่สร้างระหว่างตัวปราสาทกับมุข

พระเจ้าล้านทอง
ลำปาง
ประติมากรรมพระเจ้าล้านทอง

พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่ กรอบพระพักตร์เล็ก ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระนลาฏแคบ พระโอษฐ์เล็กมีร่องด้านข้าง พระวรกายบอบบาง สังฆาฏิแผ่นใหญ่ปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบประทับนั่งบนฐานบัหงายมีกลีบขนาดใหญ่และเกสรบัว ประดิษฐานภายในกู่ปราสาท

กู่พระเจ้าล้านทอง
ลำปาง
ประติมากรรมกู่พระเจ้าล้านทอง

กู่พระเจ้าล้านทองมีส่วนฐานที่ประกอบด้วยฐานเขียงรองรับฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังยกเก็จโดยไม่มีลูกแก้วอกไก่ประดับที่ท้องไม้ ส่วนฐานที่เพิ่มเข้ามาผระดับลวดลายปูนปั้นลายเครือล้านนา คือลายดอกไม้ใบไม้ และมีรูปสัตว์แทรก มีลูกแก้วมารองรับฐานบัว เรือนธาตุเป็นห้องสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมด้านละ 3 มุม มีการยกเก็จเป็นเสาซุ้มอยู่ 2 มุม แต่ละมุมประดับลายกาบบน กาบล่าง ประจำยามอก เรือนธาตุมีฐานบัวเชิงเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ที่ด้านล่างและบัวรัดเกล้าที่ด้านบน ภายในประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง เจาะช่องเฉพาะด้านหน้า ด้านอื่นประดับรูปเทวดาเป็นลายเส้นในซุ้มจระนำ เรือนชั้นซ้อนมีการผสมผสานกันระหว่างแบบเรือนชั้นซ้อนและแบบหลังคาลาด ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะล้านนา แสดงตัวเรือนที่มีฐานบัวคว่ำบัวหงายลูกแก้วอกไก่รองรับเรือนธาตุที่มีช่องจระนำประดับซุ้มบรรพแถลง กรอบสามเหลี่ยมคล้ายกลีบขนุนและเสาหัวเม็ดขนาดเล็ก หลังคาเอนมีการประดับสันหลังคาด้วยมังกรหรือปัญจรูป ส่วนยอดเป็นทรงพุ่มคล้ายดอกบัวในผังยกเก็จปลายเป็นรูปกลีบบัวต่อด้วยลูกแก้วเป็นวงซ้อนกันและยอดสุดเป็นปลี

เจดีย์ประธาน วัดเทพพลประดิษฐาราม
หนองคาย
สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธาน วัดเทพพลประดิษฐาราม

เจดีย์องค์เป็นเจดีย์ทรงปราสาทในผังเพิ่มมุม ฐานเขียงสี่เหลี่ยมด้านล่างรองรับฐานบัวเข่าพรหมในผังเพิ่มมุมต่อด้วยเรือนธาตุซ้อนกัน 2 ชั้น มีซุ้มที่ด้านทั้ง 4 โดยซุ้มที่เรือนธาตุชั้นแรกมีการประดิษฐานพระพุทธรูปแต่ซุ้มที่เรือนธาตุชั้น 2 ไม่สามารถประดิษฐานพระพุทธรูปได้ ส่วนยอดประกอบด้วยองค์ระฆัง บัลลังก์และปลียอด

ศาลตาผาแดง
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมศาลตาผาแดง

เป็นปราสาทแบบเขมรก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ที่นิยมใช้ในงานก่อสร้างในวัฒนธรรมเขมร ส่วนยอดพังทลายไปแล้ว เหลือแต่ส่วนห้องที่เคยประดิษฐานรูปเคารพกับมุขทางเข้าที่เชื่อมต่อ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนล่างของอาคารเริ่มจากชั้นเขียงรองรับฐานบัวลูกฟัก เหนือจากฐานขึ้นไปคือเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม และต่อมุขออกไปทางตะวันออก โดยมีบันไดทางขึ้นอยู่หน้ามุข อันเป็นแบบอย่างของปราสาทเขมรเช่นกัน ซึ่งต่อมาลักษณะดังกล่าวนี้ช่างสุโขทัยจะเลือกนำไปปรับปรุงอยู่ในเจดีย์รูปทรงใหม่ของตน ก่อนหน้านี้คงสร้างขึ้นในศาสนาฮินดูหรือศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน ต่อขึ้นไปคือส่วนบนซึ่งพังทลายลงหมดแล้ว เชื่อว่าส่วนบนของปราสาทเป็นทรงแท่ง มีชั้นซ้อนเช่นเดียวกับปราสาทเขมรโดยทั่วไป

กุฏิฤาษีบ้านโคกเมือง
บุรีรัมย์
สถาปัตยกรรมกุฏิฤาษีบ้านโคกเมือง

แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านนอกสุดเป็นกำแพงศิลาแลงมีซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระทางทิศตะวันออก ตรงกลางภายในเป็นที่ตั้งของปราสาทประธานก่อด้วยศิลาแลง บางตอนมีหินทรายประกอบกรอบประตู ประตูด้านหน้าทางทิศตะวันออกทำเป็นมุขยื่นออกมา ประตูอีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานภายในกำแพงแก้วเป็นบรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกัน บางส่วนของโคปุระและปราสาทประธานมีการประดับด้วยส่วนประกอบของหน้าบันหรือทับหลังเป็นรูปนาค มกรคายนาค สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบศิลปะในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 แต่ทว่าส่วนประดับเหล่านี้ดูไม่สู้จะต่อเนื่องกับปราสาทประธานและกำแพง จึงอาจเป็นการนำของเดิมมาประกอบอาคารที่ก่อสร้างใหม่ อย่างไรก็ตาม หากชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมเหล่านี้เป็นของที่มีมาแต่เดิม ก็อาจสันนิษฐานว่าเคยมีศาสนสถานแห่งหนึ่งสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 จึงปรับเปลี่ยนใช้เป็นอโรคยศาลในพุทธศาสนามหายาน

ปราสาทวัดเจ้าจันทร์
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมปราสาทวัดเจ้าจันทร์

ประกอบด้วยปราสาทประธานก่อด้วยศิลาแลง มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกมุม และมีปูนฉาบประดับตกแต่งผิว ฐานชั้นล่างสุดเป็นชุดบัวคว่ำ-บัวหงาย ที่เรือนธาตุมีซุ้มประกอบทั้งสี่ด้าน มีประตูทางเข้าด้านหน้าทางทิศตะวันออกเพียงทางเดียวด้านหน้ามีห้องสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ ส่วนด้านอื่นๆ ตกแต่งเป็นประตูหลอก ถัดขึ้นไปเป็นชุดเครื่องบนของปราสาทสอบคล้ายรูปพุ่มและมีกลศประดับเป็นเครื่องยอด ต่อมาในสมัยสุโขทัย ศาสนสถานแห่งนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนา โดยการถมบริเวณโดยรอบของฐานปราสาท ทำให้ฐานชุดบัวคว่ำ-บัวหงายจมอยู่ใต้ดิน แล้วจึงสร้างวิหารศิลาแลงขึ้นที่ด้านหน้าของปรางค์ปราสาทพร้อมกับมณฑปศิลาแลงสำหรับประดิษฐานพระอัฏฐารศขึ้นทางทิศเหนือของปรางค์ ในมณฑปมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปยืนพระหัตถ์แนบลำพระองค์ ๑ องค์ หลังคาที่เป็นเครื่องไม้ได้ผุพังไป พบเพียงชิ้นส่วนของกระเบื้องดินเผาสำหรับมุงหลังคาตกกระจายอยู่โดยรอบ ต่อมากรมศิลปากรได้ขุดพบพระพิมพ์ทำด้วยชิน ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ และเมื่อขุดลึกลงไปอีกในระดับลึกพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เครื่องถ้วยหริภุญไชย ลูกปัดแก้ว และชิ้นส่วนโครงกระดูกคน

ปราสาทเขาน้อย
สระแก้ว
สถาปัตยกรรมปราสาทเขาน้อย

ผังของปราสาทเขาน้อยประกอบไปด้วยอาคาร 3 หลังตั้งอยู่ในแนวเหนือใต้ ซึ่งหลังเหนือและใต้พังทลายลงเหลือเพียงหลังกลาง ปราสาททิศเหนือและปราสาทหลังกลางตั้งอยู่บนฐานอันเดียวกัน แต่ปราสาททิศเหนือสร้างยื่นล้ำออกมาข้างนอกมาก ส่วนอาคารทิศใต้ตั้งอยู่บนฐานสูงเท่ากันแต่แยกห่างออกไปเล็กน้อย มีเพียงแนวฐานอิฐด้านหลังทำมาเชื่อมต่อกัน ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าการวางผังก่อสร้างอาคารทั้ง 3 หลังนี้ไม่ได้สร้างให้อยู่ในแนวเดียวกัน เป็นลักษณะที่คล้ายกับการสร้างปราสาทในสมัยก่อนเมืองพระนครของเขมรซึ่งไม่ค่อยมีระเบียบนักปราสาทด้านทิศเหนือมีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางเข้าด้านทิศตะวันออก อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก ช่องทางเข้าสร้างให้ยืดยาวออกไป ทำให้ผังของอาคารด้านนี้มีลักษณะเป็นช่องลึก ผังในห้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ละด้านทำเป็นช่องเว้าเข้าไปปราสาทหลังกลางเป็นอาคารก่ออิฐไม่สอปูนในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมไม้สิบสอง มีทางเข้าทางทิศตะวันออกทางเดียว อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก ส่วนด้านในเป็นห้องที่มีความยาวแต่ละด้านไม่เท่ากัน ส่วนทิศใต้เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนฐานอิฐ ผังอาคารก่อสร้างเป็นผนังขึ้นไป ทางเข้าทางทิศตะวันออกทำเป็นมุขยื่นออกมา ผังในอาคารก็เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นเดียวกัน