ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

กู่พระเจ้าล้านทอง

คำสำคัญ : พระธาตุลำปางหลวง, พระพุทธรูป, พระเจ้าล้านทอง, กู่พระเจ้าล้านทอง, กู่ปราสาท, วัดพระธาตุลำปางหลวง, กู่

ชื่อหลักวัดพระธาตุลำปางหลวง
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลลำปางหลวง
อำเภอเกาะคา
จังหวัดลำปาง
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 16.824348
Long : 100.26873
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 635182.19
N : 1860556.93
ตำแหน่งงานศิลปะประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง พระพุทธรูปประธานของวิหารหลวง

ประวัติการสร้าง

ไม่มีประวัติการก่อสร้างแต่เชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นในคราวเดียวกับที่หล่อพระเจ้าล้านทองเป็นพระพุทธรูปประธานภายในพระวิหารในปี พ.ศ. 2046 โดยเจ้าเมืองหาญศรีทัตถ์มหาสุรมนตรี

กระบวนการสร้าง/ผลิต

หล่อสำริด

ลักษณะทางศิลปกรรม

กู่พระเจ้าล้านทองมีส่วนฐานที่ประกอบด้วยฐานเขียงรองรับฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังยกเก็จโดยไม่มีลูกแก้วอกไก่ประดับที่ท้องไม้ ส่วนฐานที่เพิ่มเข้ามาผระดับลวดลายปูนปั้นลายเครือล้านนา คือลายดอกไม้ใบไม้ และมีรูปสัตว์แทรก มีลูกแก้วมารองรับฐานบัว เรือนธาตุเป็นห้องสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมด้านละ 3 มุม มีการยกเก็จเป็นเสาซุ้มอยู่ 2 มุม แต่ละมุมประดับลายกาบบน กาบล่าง ประจำยามอก เรือนธาตุมีฐานบัวเชิงเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ที่ด้านล่างและบัวรัดเกล้าที่ด้านบน ภายในประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง เจาะช่องเฉพาะด้านหน้า ด้านอื่นประดับรูปเทวดาเป็นลายเส้นในซุ้มจระนำ เรือนชั้นซ้อนมีการผสมผสานกันระหว่างแบบเรือนชั้นซ้อนและแบบหลังคาลาด ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะล้านนา แสดงตัวเรือนที่มีฐานบัวคว่ำบัวหงายลูกแก้วอกไก่รองรับเรือนธาตุที่มีช่องจระนำประดับซุ้มบรรพแถลง กรอบสามเหลี่ยมคล้ายกลีบขนุนและเสาหัวเม็ดขนาดเล็ก หลังคาเอนมีการประดับสันหลังคาด้วยมังกรหรือปัญจรูป ส่วนยอดเป็นทรงพุ่มคล้ายดอกบัวในผังยกเก็จปลายเป็นรูปกลีบบัวต่อด้วยลูกแก้วเป็นวงซ้อนกันและยอดสุดเป็นปลี

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ตัวอย่างกู่พระเจ้าที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป

ข้อสังเกตอื่นๆ

แม้ระบบซ้อนชั้นของกู่พระเจ้าล้านทองจะคล้ายกับยอดของปราสาทในศิลปะพม่าที่เรียกว่าพญาธาตุและต่างจากเรือนยอดในศิลปะรัตนโกสินทร์แต่ก็มีลักษณะหลายประการที่ต่างจากศิลปะพม่าและรัตนโกสินทร์คือการตกแต่ง ได้แก่ การทำอาคารในผังเพิ่มมุมทำให้สามารถประดับกรอบสามเหลี่ยมที่มุมคล้ายกลีบขนุนของปรางค์ การแสดงชั้นฐานของเรือนแต่ละชั้น การประดับบรรพแถลงทั้งที่เรือนธาตุและที่หลังคา ตั้งบังซุ้มจระนำ และมีการประดับอาคารจำลองรูปเสาหัวเม็ดเล็กๆ

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะล้านนา
อายุกลางพุทธศตวรรษที่ 21 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 22
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. โขงประตูทางเข้า วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง ตัวอย่างของโขงประตูที่มีลวดลายปูนปั้นรูปแบบเดียวกันกับกู่พระเจ้าล้านทองซึ่งสามารถนำมาตรวจสอบกำหนดอายุปูนปั้นของกู่พระเจ้าล้านทองได้

2. กู่พระแก่นจันทน์ วัดมหาโพธาราม จังหวัดเชียงใหม่ กู่ปราสาทอีกแห่งที่เคยใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นเดียวกับกู่พระเจ้าล้านทอง มีลวดลายปูนปั้นที่สามารถกำหนดอายุอยู่ในรัชกาลพระเมืองแก้ว ซึ่งร่วมสมัยกับกู่พระเจ้าล้านทองเมื่อแรกสร้าง

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-05-18
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. วัดพระธาตุลำปางหลวง. เอกสารประกอบการบูรณะ พระธาตุลำปางหลวง พ.ศ. 2555 โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด รักษ์โบราณ 999 เสนอ สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.

จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา. ลวดลายปูนปั้นประดับโบราณสถานในจังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545.

ตำนานพระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง และตำนานพระแก้วมรกต. ลำปาง: โรงพิมพ์ศิลป์ประดิษฐ์, 2513.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย – ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2555.