ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมรำมะนา
ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจจากลักษณะของความเป็นไทยจากพระพุทธรูปไทยที่มีสัดส่วนงดงามผนวกกับความคิดส่วนตัวโดยนำการจัดวางโครงสร้างและองค์ประกอบแบบสมัยใหม่มาผสมผสาน และสนใจสร้างงานประติมากรรมโดยการแกะสลักด้วยวัสดุไม้และงาช้าง ดังที่ศิลปินได้แสดงทัศนะไว้ว่า “รำมะนา…เวลาตีเสียงมันก้องกลมกังวาน สนุก จึงสร้างเส้นรอบนอกให้ประสานกันเป็นวงโค้งมีหน้ากลองวงกลมเป็นตัวขัดอยู่ตรงกลาง”
จิตรกรรมน้ำเงินเขียว
เป็นภาพผู้หญิงเปลือยที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะคิวบิสม์ (Cubism) อันมีลักษณะการวิเคราะห์โครงสร้างของรูปทรงที่คมคาย ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์เดินทางไปศึกษาต่อที่อิตาลี เมื่อ พ.ศ.2497 และเกิดความคิดริเริ่มในการเขียนภาพเปลือย (nude) อาจารย์เฟื้ออธิบายเพิ่มเติมว่า "ให้กรรมวิธีที่มันสะเทือนเลยเบี่ยงเข้าหาจุดที่แสงสว่างจัด เงาจัด รูปคนสักแต่ว่ารูป ไม่ดูว่าเป็นคน คนแค่อาศัยดูว่าเส้นสี อะไรแดงๆ เลย อะไรเหลืองๆ เลย อะไรโค้งได้โค้งเลย กำหนดแสงสว่างเงาอ่อนแก่ จัดรูปโดยแยกไปจากรูปอีกที"
ประติมากรรมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบรมรูปเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชอิริยาบถประทับยืนตรง ทรงฉลองพระองค์เยียรบับ ทรงพระภูษาโจงขอบเชิง พระมาลาทรงหม้อตาล ทรงสายสะพายแบบเลจิอองดอนเนอร์ของฝรั่งเศส ทรงฉลองพระบาท พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบหัตถ์นารายณ์ ทอดปลายพระแสงดาบลงพื้น พระหัตถ์ซ้ายทรงถือหนังสือ
ประติมากรรมแบบร่างประติมากรรมพระบรมราชาอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบรมรูปอยู่ในลักษณะทรงฉลองพระองค์และพระมาลา ประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระราชบัลลังก์ ซึ่งเป็นแบบร่างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร หรือพระปฐมบรมราชานุสรณ์
ประติมากรรมพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระบรมรูปมีขนาดสองเท่าครึ่งของพระองค์จริง ทรงม้าพระที่นั่งออกศึก ทรงเครื่องกษัตริย์และสวมพระมาลา พระหัตถ์ขวาเงื้อพระแสงดาบในท่านำพล พระหัตถ์ซ้ายทรงกุมบังเหียน ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ทางจังหวัดจันทบุรี ประดิษฐานบนแท่น ทั้งสองด้านประดับด้วยประติมากรรมนูนสูงเล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ด้านละ 2 กรอบ รวม 4 กรอบ เล่าเหตุการณ์ 4 เหตุการณ์ได้แก่ ภาพประชาชนหมดหวังเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่า ภาพพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเกลี้ยกล่อมประชาชนให้ร่วมกันกู้อิสรภาพ ภาพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีออกรบและได้รับชัยชนะทุกครั้ง และภาพความผาสุกของประชาชนหลังจากกู้เอกราชได้แล้ว ด้านหน้ามีแผ่นจารึกดวงฤกษ์และข้อความเทิดพระเกียรติ
สถาปัตยกรรมชื่อหลัก พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์
พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์เป็นพระที่นั่งทรงปราสาทจตุรมุขโถงจำลองแบบมาจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวัง มุขด้านทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นมุขสั้นหลังคาลดสองชั้น ด้านหน้าและด้านใต้หลังคาลดสี่ชั้น เครื่องยอดทรงปราสาทประดับด้วยครุฑยุดนาคที่มุมทั้ง 4 หน้าบันทั้ง 4 ด้านประดับตราอาร์มหรือตราแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเสารับย่อมุมไม้สิบสอง มีชานประกอบกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน ด้านตะวันตกมีอัฒจันทร์ลงสู่สระ คานล่างก่อเสาคอนกรีตรับพื้นองค์พระที่นั่งทรงสามเหลี่ยม
สถาปัตยกรรมเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์
เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์นี้ เป็นอาคารทรงปราสาทโถง 9 ยอด มีรูปช้างเอราวัณรองรับส่วนยอดปราสาท เสา 48 ต้นเอียงเข้าสู่ศูนย์กลางยอดหน้าบันด้านกลางทิศเหนือประดิษฐานพระปรมาภิไธย “อปร.” หน้าบันด้านทิศตะวันออกเหนือประดิษฐานพระนามาภิไธย “กว.”หน้าบันด้านทิศตะวันตกเหนือประดิษฐานพระนามาภิไธย “สธ.” หน้าบันด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระนามาภิไธย “มวก.” หน้าบันกลางด้านทิศใต้ประดิษฐานพระปรมาภิไธย “ภปร.” หน้าบันด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ประดิษฐานพระนามาภิไธย “มอ.” หน้าบันด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ประดิษฐานพระนามาภิไธย “สว.” หน้าบันด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระนามาภิไธย “สก.” ใต้หน้าบันฉลุเพดานด้านในปรากฏพระนามาภิไธยที่ส่วนกลาง “จภ.” เพดานด้านซ้ายและด้านขวา “อร.” พื้นเป็นหินอ่อนมีลูกกรงโดยรอบ ฐานเรือนยอดชั้นบนประดับรูปเทพพนม มีโคมไฟรูปพุ่มข้าวบิณฑ์โดยรอบ บันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน ทางขึ้นด้านทิศเหนือและทิศใต้มีสระน้ำครึ่งวงกลม มีรูปปั้นม้าอยู่กลางสระ มุมทั้ง 4 มีสระ 4 แห่งมีรูปช้าง ม้า วัว สิงห์ มีช้างสำริด จำนวน 10 ช้างอยู่โดยรอบอาคาร
สถาปัตยกรรมพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์เป็นพระตำหนักสองชั้นในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันด้านหน้าซึ่งเป็นด้านยาวไปทางทิศเหนือ ปลายสุดของด้านสกัดตะวันออก – ตะวันตกเป็นระเบียงโค้งครึ่งวงกลม มุมอาคารทั้ง 4 ทำเป็นเสากลมซึ่งมีชั้นบนใหญ่กว่าชั้นล่าง ปลายสุดทำเป็นทรงกรวยสองชั้น บริเวณทางเข้าด้านหน้าทำเป็นเสาคล้ายเสาที่มุมแต่สูงกว่า ยอดด้านหนึ่งทำทรงกรวยสองชั้นแต่แหลมสูงกว่าเสาที่มุม ยอดอีกด้านหนึ่งทำเป็นหลังคาจัตุรมุขมีหลังคาปีกนกรับโดยรอบ ชั้นล่างมีห้องใต้บันได ห้องโถงบันได ห้องโถงปีกตะวันตกและห้องส่งเครื่อง ชั้นบนมีห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทมและห้องสรง