ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์
คำสำคัญ : พระที่นั่งอนันตสมาคม, พระราชวังดุสิต, เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์
ชื่อเรียกอื่น | - |
---|---|
ชื่อหลัก | พระที่นั่งอนันตสมาคม |
ชื่ออื่น | พระราชวังดุสิต |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ดุสิต |
อำเภอ | เขตดุสิต |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.771245 Long : 100.514057 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 663681.64 N : 1522942.28 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม |
ประวัติการสร้าง | เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์นี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดสร้างขึ้น เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559 |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ก่ออิฐถือปูน โลหะผสมและหินอ่อนปิดทองประดับกระจก |
ประวัติการอนุรักษ์ | - |
ขนาด | - |
ลักษณะทางศิลปกรรม | เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์นี้ เป็นอาคารทรงปราสาทโถง 9 ยอด มีรูปช้างเอราวัณรองรับส่วนยอดปราสาท เสา 48 ต้นเอียงเข้าสู่ศูนย์กลาง ยอดหน้าบันด้านกลางทิศเหนือประดิษฐานพระปรมาภิไธย “อปร.” หน้าบันด้านทิศตะวันออกเหนือประดิษฐานพระนามาภิไธย “กว.” หน้าบันด้านทิศตะวันตกเหนือประดิษฐานพระนามาภิไธย “สธ.” หน้าบันด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระนามาภิไธย “มวก.” หน้าบันกลางด้านทิศใต้ประดิษฐานพระปรมาภิไธย “ภปร.” หน้าบันด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ประดิษฐานพระนามาภิไธย “มอ.” หน้าบันด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ประดิษฐานพระนามาภิไธย “สว.” หน้าบันด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระนามาภิไธย “สก.” ใต้หน้าบันฉลุเพดานด้านในปรากฏพระนามาภิไธยที่ส่วนกลาง “จภ.” เพดานด้านซ้ายและด้านขวา “อร.” พื้นเป็นหินอ่อนมีลูกกรงโดยรอบ ฐานเรือนยอดชั้นบนประดับรูปเทพพนม มีโคมไฟรูปพุ่มข้าวบิณฑ์โดยรอบ บันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน ทางขึ้นด้านทิศเหนือและทิศใต้มีสระน้ำครึ่งวงกลม มีรูปปั้นม้าอยู่กลางสระ มุมทั้ง 4 มีสระ 4 แห่งมีรูปช้าง ม้า วัว สิงห์ มีช้างสำริด จำนวน 10 ช้างอยู่โดยรอบอาคาร |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์สร้างขึ้นใกล้กับพระที่นั่งอนันตสมาคมบนตำแหน่งซึ่งเคยเป็นพลับพลาโถงสำหรับทอดพระเนตรการสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยยังพบฐานรากของพลับพลาเดิมอยู่ใต้ดิน เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์นี้สร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิของพุทธศาสนา เรือนยอด หมายถึง เขาพระสุเมรุที่ประทับของพระอินทร์ มีรูปสัตว์ที่มุมทั้ง 4 อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสระอโนดาต สระน้ำด้านทิศเหนือและทิศใต้คือทะเลสีทันดร นอกจากนี้ที่หน้าบันต่างๆ ยังประดิษฐานพระปรมมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระนามาภิไธยย่อของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งแสดงถึงสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ด้านล่างโดยรอบของเรือนยอดมีช้างสำริดทั้ง 10 ช้างปั้นตามลักษณะของช้างเผือกประจำรัชกาลที่ 9 เช่น คุณพระเศวตอดุลเดชพาหน การสร้างอาคารยอดปราสาท 9 ยอดนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในศิลปะไทยโบราณ พบเพียงปราสาท 5 ยอด มีตัวอย่างสำคัญ คือ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท |
ข้อสังเกตอื่นๆ | - |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 26 |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | - |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | - |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | 1. พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร พระที่นั่งจตุรมุขโถงซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นต้นแบบให้กับพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ 2. พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร พระที่นั่งที่มีจำนวนยอดปราสาทมากที่สุดที่มีการในงานศิลปะในประเทศไทย คือ 5 ยอด ประกอบด้วยยอดประธาน 1 ยอดและยอดเล็กอีก 4 ยอด |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2017-07-28 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล |
บรรณานุกรม | สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ. ที่ระลึกครบรอบ 100 ปี พระที่นั่งอนันตสมาคม พิธีเปิดเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2559. กรุงเทพฯ: สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, 2559. พิมพา. “เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ ผลงานชิ้นสำคัญของแผ่นดิน.” ทิศไท. 7, 26 (ตุลาคม – ธันวาคม 2559): 9 – 12. สำนักพระราชวัง. พระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ: สำนักฯ, 2547. |