ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระพุทธปริตร

คำสำคัญ : พระบรมมหาราชวัง, วังหลวง, หอศาสตราคม, พระพุทธปริตร, พระสาน, หอพระปริตร

ชื่อเรียกอื่นพระสาน
ชื่อหลักหอศาสตราคม
ชื่ออื่นหอพระปริตร,พระบรมมหาราชวัง, วังหลวง
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.750473
Long : 100.492224
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661335.07
N : 1520629.6
ตำแหน่งงานศิลปะภายในหอศาสตราคม

ประวัติการสร้าง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธปริตรขึ้นตามสัดส่วนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงค้นคว้าจากพระไตรปิฎก และพบเกณฑ์สัดส่วนในสมัยพุทธกาลซึ่งเรียกว่า “พระสุคติวทัฐฏิ” หรือเรียกอย่างสามัญว่า “คืบพระสุคต” ที่ใช้ขนาดเม็ดข้าวเปลือกเป็นเกณฑ์ และทำอวัยวะให้เหมือนมนุษย์ปุถุชนทุกประการแม้จนคุยหฐานก็สร้างขึ้น

กระบวนการสร้าง/ผลิต

สร้างจากไม้ไผ่สานพอกปูนน้ำมัน แล้วระบายสี

ประวัติการอนุรักษ์

-

ขนาดหน้าตักกว้าง 133 เซนติเมตร สูงเฉพาะองค์พระ 190 เซนติเมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

พระพุทธปริตรประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว พระกรรณค่อนข้างยาว พระเศียรประกอบด้วยขมวดพระเกศาเป็นก้นหอยขนาดเล็ก ไม่มีอุษณีษะแต่มีรัศมีเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว มีสังฆาฏิปลายตัดตรงพาดที่พระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี องค์พระระบายสีเหลืองส่วนพระภูษาทรงระบายสีแดงเข้ม

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระพุทธปริตรเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธปริตรโดยมีขนาดตามที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงค้นคว้าและเชื่อว่าใกล้เคียงกับพระวรกายของพระพุทธเจ้ามากที่สุด เป็นตัวอย่างของพระพุทธรูปในพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 องค์หนึ่งที่เริ่มเกิดขึ้นตามแนวคิดแบบสัจนิยม

ส่วนสูงของพระพุทธเจ้านั้น แต่เดิมเชื่อตามคติในลังกาว่า พระพุทธเจ้าสูง 18 ศอก เรียกกันว่า “พระอัฏฐารส” อย่างไรก็ดี การค้นคว้าของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทำให้เกิดส่วนสูงใหม่ของพระพุทธเจ้าคือ 4 ศอก หรือประมาณ 2 เมตร และถือเป็นข้อยุติในสมัยนั้นว่าเป็นขนาดของพระพุทธองค์

เหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระพุทธปริตรด้วยไม้ไผ่สานและปูนน้ำมันเพื่อให้มีน้ำหนักเบาและสามารถอัญเชิญไปตั้งเป็นประธานในพิธีเลี้ยงพระ แต่เนื่องจากขนาดที่ใหญ่เกินไปจนดูข่มพระสงฆ์ ภายหลังจึงทรงงดไม่เชิญประดิษฐานในการพิธี ปัจจุบัน พระพุทธปริตรนี้เป็นพระพุทธรูปในพิธีสงฆ์ที่พระสงฆ์มอญมาสวดและทำน้ำพระพุทธมนต์ในวัดธรรมสวนะ เพื่อใช้เป็นน้ำสรงพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์
ข้อสังเกตอื่นๆ

การสร้างพระสานเช่นนี้นิยมอยู่ในหมู่ชาวไทใหญ่ เช่น หลวงพ่อสาน วัดจอมสวรรค์ จังหวัดแพร่ หรือ พระสานในหอคำเจ้าฟ้ายองห้วย เมืองตองยี อย่างไรก็ดี ไม่เป็นที่แน่ชัดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้แนวพระราชดำรินี้จากไทใหญ่ผ่านพระสงฆ์มอญในพม่าหรือไม่

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

-

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

หลวงพ่อสาน วัดจอมสวรรค์ จังหวัดแพร่ พระพุทธรูปศิลปะพม่าที่สร้างด้วยไม้ไผ่สานทั้งองค์และปิดทอง เป็นตัวอย่างของพระพุทธรูปสานสำคัญในประเทศไทย

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2017-07-22
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
บรรณานุกรม

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ: สำนักราชเลขา, 2535.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการและความเชื่อของคนไทย. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

พิริยะ ไกรฤกษ์. ลักษณะไทย เล่ม 1: พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552.

พิชญา สุ่มจินดา. ถอดรหัสพระจอมเกล้า. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.