ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วังวรดิศ
คำสำคัญ : วังวรดิศ, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ชื่อหลัก | วังวรดิศ |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | คลองมหานาค |
อำเภอ | เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศารุ้งแวง | Lat : 13.755611 Long : 100.512878 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 663565.02 N : 1521211.93 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ริมถนนหลานหลวง |
ประวัติการสร้าง | วังวรดิศเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2453 บนที่ดินของเจ้าจอมมารดาชุ่มด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจำนวน 50,000 บาท ทั้งสองพระองค์ยังเสด็จมาพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีขึ้นตำหนักใหม่เมื่อ พ.ศ. 2454 พระตำหนักวังวรดิศนี้ออกแบบโดยคาร์ล เดอห์ริง(Karl Döhring) สถาปนิกชาวเยอรมันที่ได้ออกแบบพระราชวังและวังอีกหลายแห่ง อาทิ พระรามราชนิเวศน์ จังหวัดเพชรบุรี หรือตำหนักใหญ่ วังบางขุนพรหม โดยงานออกแบบของเดอห์ริงแสดงถึงการนำสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกมาประยุกต์กับลักษณะบางประการของสถาปัตยกรรมไทยภายใต้แนวคิดประโยชน์นิยม (Functionalism) การก่อสร้างวังวรดิศนี้ได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากเจ้านายและเหล่าข้าราชการซึ่งเป็นลูกศิษย์จำนวนหนึ่ง เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาสตรศุภกิจ ถวายหลังคาและบันได สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ประทานกระเบื้องเกาะยอมุงหลังคา เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และข้าราชการกระทรวงมหาดไทยถวายเครื่องกลอนหน้าต่างประตูและขอสับทั้งหมด |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ก่ออิฐฉาบปูน |
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 101ตอนที่ 55 วันที่ 27 เมษายน 2527 ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อ พ.ศ. 2527 และได้รับการเสนอโดยองค์การยูเนสโก ประจำภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก ให้ร่วมอนุรักษ์เป็น อาคารประวัติศาสตร์โลก |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระตำหนักวังวรดิศเป็นคฤหาสน์แบบยุโรป 3 ชั้นหันหน้าไปทางทิศเหนือ ตัวอาคารมีแผนผังเป็นรูปตัว L หลังคาทรงสูงมุงกระเบื้อง มีหน้าต่างระบายอากาศรูปหลังคา มุมอาคารชั้นสองตกแต่งด้วยเสาประดับปูนปั้นรูปคล้ายกลีบบัวซ้อนกัน ประตูและหน้าต่างทรงโค้งตกแต่งขอบบนของหน้าต่างด้วยลายปูนปั้น ภายในชั้นล่างมีห้องรับแขกแบบจีน ห้องเสวย ห้อง Study และห้องโถงบันไดเวียน ชั้นสองมีห้องบรรทม ห้องทรงพระอักษร ห้องทรงงานกลางคืน ห้องแต่งพระองค์และห้องพระบรมอัฐิ ชั้นสามเป็นห้องเก็บของ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | วังวรดิศเป็นที่ประทับของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ชื่อของวังวรดิศมีที่มาจากพระนามเดิมของพระองค์ คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร วังวรดิศได้รับการออกแบบโดยนำเอาศิลปะตะวันตกมาประยุกต์กับลักษณะบางประการของไทย ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ วังวรดิศเป็นวังเจ้านายเพียงไม่กี่แห่งในกรุงเทพฯที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ |
ข้อสังเกตอื่นๆ | - |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ศิลปะในราชสำนัก |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | - |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | - |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2017-07-30 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | ปรียา ม่านโคกสูง, เกษม ปฐมฤกษ์, สุภาวดี ไปลานนท์. บางกอกบอกเล่า (เรื่อง) วัง. กรุงเทพฯ: แก้วเจ้าจอม, 2555. บุญชัย ใจเย็น. 15 พระราชวังสำคัญในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: ปราชญ์, 2554. คนเก่าเล่าเรื่อง : สุลักษณ์ ศิวรักษ์ สนทนากับภิญโญ ไตรสุริยธรรมา. กรุงเทพฯ: โอเพ่นบุ๊คส์, 2556. 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สมาคมสถาปนิกสยาม, 2547 |