ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วังบางขุนพรหม
คำสำคัญ : ธนาคารแห่งประเทศไทย, วังบางขุนพรหม, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, รัชกาลที่ 5
ชื่อเรียกอื่น | - |
---|---|
ชื่อหลัก | วังบางขุนพรหม |
ชื่ออื่น | ธนาคารแห่งประเทศไทย |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | วัดสามพระยา |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.76852 Long : 100.499728 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 662134.12 N : 1522631.12 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ภายในธนาคารแห่งประเทศไทย |
ประวัติการสร้าง | เมื่อ พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระคลังข้างที่ซื้อที่ดิน ณ ตำบลบางขุนพรหมใกล้วัดสารพัดช่างริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกและพระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ ต่อมาได้ซื้อเพิ่มอีก 1 แปลงและโปรดเกล้าฯ ให้พระสถิตนิมานการ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างพระตำหนัก แต่เหตุขัดข้องงานจึงคั่งค้างอยู่ ต่อมาจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นายมาริโอ ตามาญโญ เป็นผู้ออกแบบ กำหนดรายละเอียดและส่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ ทรงตรวจแก้ไข ณ ต่างประเทศ เมื่อเสด็จนิวัติพระนครในปี พ.ศ. 2446 ได้เสด็จประทับ ณ ตำหนักไม้ หรือ ตำหนักหอที่พระสถิตนิมานการสร้างไว้เป็นที่ประทับชั่วคราว การก่อสร้างตำหนักใหญ่แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2449 ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีได้เสด็จมาประทับ ณ วังบางขุนพรหม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์จึงมีรับสั่งให้สร้างพระตำหนักสมเด็จ ออกแบบและก่อสร้างโดยนายคาร์ล เดอห์ริง |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ก่ออิฐถือปูน |
ประวัติการอนุรักษ์ | ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการบูรณะและซ่อมแซมตำหนักใหญ่ ตำหนักสมเด็จตั้งแต่หลังพ.ศ. 2521 เป็นต้นมา |
ขนาด | - |
ลักษณะทางศิลปกรรม | ตำหนักใหญ่วังบางขุนพรหมหรือตำหนักทูลกระหม่อมเป็นอาคาร 2 ชั้นในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารมีลักษณะโค้งเข้าโค้งออกและนูนต่อเนื่อง ใช้หลังคาแบบมันสาร์ดมุงกระเบื้องว่าว ปีกด้านทิศใต้มีหอคอยสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม ตกแต่งด้วยเสาหลายชนิดทั้งเสากลม เสาเหลี่ยม เสาแบน เสาบิดเป็นเกลียว หัวเสาตกแต่งด้วยงานปูนปั้น หน้าตามีทั้งหน้าต่างรูปไข่ล้อมด้วยปูนปั้นดอกคัทลียาและหน้าต่างรูปครึ่งวงกลมตกแต่งด้วยลายเครือไม้และผลไม้ ภายในชั้นล่างมีห้องรับแขก 2 ห้อง ห้องเสวยขนาดใหญ่ 2 ห้อง ห้องสมุด และห้องทรงพระอักษร ชั้นบนเป็นห้องบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องพระ ห้องสีชมพู ห้องสีน้ำเงิน ตำหนักสมเด็จเป็นอาคาร 3 ชั้นมีทางเชื่อมกับตำหนักใหญ่ เป็นอาคารคฤหาสน์แบบชนบทของเยอรมนี ภายนอกตกแต่งด้วยลายปูนปั้นอย่างเรียบง่าย ภายในมีการตกแต่งด้วยไม้แกะสลักและกระจกสี นอกจากนี้ภายในวังบางขุนพรหมยังมีตำหนักน้อยใหญ่อีกหลายหลัง เช่น ตำหนักหอ ตำหนักเล็ก ตำหนักน้ำ เรือนกล้วยไม้และกระโจมแตร |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | วังบางขุนพรหมแสดงการผสมผสานระหว่างศิลปะบาโรคจากหลายประเทศ อาทิ บาโรคจากอิตาลีบริเวณมุขที่ปีกด้านทิศเหนือ-ทิศใต้ และบาโรคแบบฝรั่งเศสบริเวณมุขบันไดและหลังคามันสาร์ด แต่เนื่องจากปัญหาระหว่างการก่อสร้างบางประการ ทำให้ตำหนักใหญ่วังบางขุนพรหมขาดความเป็นเอกภาพและสมมาตรในแบบฉบับบาโรคไปบ้างเพราะต้องตัดทอนหรือลดองค์ประกอบบางประการออก เช่น การต่อเติมใหม่บริเวณปีกด้านทิศใต้ การต่อชั้น 3 ของหอคอยทั้ง 2 โดยใช้รูปแบบงานแบบโมเดิร์นที่เน้นความเรียบง่ายและประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก แต่กระนั้นวังบางขุนพรหมก็ยังเป็นตัวอย่างของวังเจ้านายที่มีขนาดใหญ่และงดงาม ซึ่งสะท้อนถึงรสนิยมในการตกแต่งตามอิทธิพลศิลปะตะวันตกอันเป็นที่นิยมในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 5 |
ข้อสังเกตอื่นๆ | - |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ศิลปะในราชสำนัก |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | - |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | ตำหนักจิตรลดา วังปารุสกวัน กรุงเทพมหานคร อีกหนึ่งผลงานของมาริโอ ตามาญโญ ซึ่งออกแบบภายหลังจากตำหนักใหญ่วังบางขุนพรหม |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2017-07-31 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | ปรียา ม่านโคกสูง, เกษม ปฐมฤกษ์, สุภาวดี ไปลานนท์. บางกอกบอกเล่า (เรื่อง) วัง. กรุงเทพฯ: แก้วเจ้าจอม, 2555. หัสภพ ตั้งมหาเมฆ. “การศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมของตำหนักใหญ่ วังบางขุนพรหม.” ศิลปะนิพนธ์ ศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550. นวรัตน์ เลขะกุล. วังบางขุนพรหม เรอเนสซองส์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย, 2535. ธนาคารแห่งประเทศไทย. วังบางขุนพรหม. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊พ, 2535. |