ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 49 ถึง 56 จาก 354 รายการ, 45 หน้า
พระพุทธรูป วัดทุ่งศรีเมือง
อุบลราชธานี
ประติมากรรมพระพุทธรูป วัดทุ่งศรีเมือง

พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย พระพักตร์เสี้ยม เม็ดพระศกเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวขนาดใหญ่และสูง มีเส้นขอบพระพักตร์ พระเนตรมองตรง พระนาสิกงุ้ม พระกรรณโค้งงอน ขอบพระโอษฐ์หนายิ้มแบบล้านช้าง ชายสังฆาฎิใหญ่ยาวจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ยาวเท่ากัน

ปราสาทวัดเจ้าจันทร์
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมปราสาทวัดเจ้าจันทร์

ประกอบด้วยปราสาทประธานก่อด้วยศิลาแลง มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกมุม และมีปูนฉาบประดับตกแต่งผิว ฐานชั้นล่างสุดเป็นชุดบัวคว่ำ-บัวหงาย ที่เรือนธาตุมีซุ้มประกอบทั้งสี่ด้าน มีประตูทางเข้าด้านหน้าทางทิศตะวันออกเพียงทางเดียวด้านหน้ามีห้องสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ ส่วนด้านอื่นๆ ตกแต่งเป็นประตูหลอก ถัดขึ้นไปเป็นชุดเครื่องบนของปราสาทสอบคล้ายรูปพุ่มและมีกลศประดับเป็นเครื่องยอด ต่อมาในสมัยสุโขทัย ศาสนสถานแห่งนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนา โดยการถมบริเวณโดยรอบของฐานปราสาท ทำให้ฐานชุดบัวคว่ำ-บัวหงายจมอยู่ใต้ดิน แล้วจึงสร้างวิหารศิลาแลงขึ้นที่ด้านหน้าของปรางค์ปราสาทพร้อมกับมณฑปศิลาแลงสำหรับประดิษฐานพระอัฏฐารศขึ้นทางทิศเหนือของปรางค์ ในมณฑปมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปยืนพระหัตถ์แนบลำพระองค์ ๑ องค์ หลังคาที่เป็นเครื่องไม้ได้ผุพังไป พบเพียงชิ้นส่วนของกระเบื้องดินเผาสำหรับมุงหลังคาตกกระจายอยู่โดยรอบ ต่อมากรมศิลปากรได้ขุดพบพระพิมพ์ทำด้วยชิน ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ และเมื่อขุดลึกลงไปอีกในระดับลึกพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เครื่องถ้วยหริภุญไชย ลูกปัดแก้ว และชิ้นส่วนโครงกระดูกคน

พระเจดีย์กลางน้ำ จ.ระยอง
ระยอง
สถาปัตยกรรมพระเจดีย์กลางน้ำ จ.ระยอง

เจดีย์ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว มีฐานประทักษิณที่มีพนักระเบียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับพนักระเบียงด้วยลูกถ้วยเคลือบ มีบันไดขึ้น 2 ข้าง มีกำแพงแก้วเตี้ยในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบ รองรับเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ชุดมาลัยเถา บัวลูกแก้วอกไก่เป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง แต่ละชั้นค่อนข้างยืดสูง ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม เสาหาน ปล้องไฉนและปลียอด ลานด้านล่างโดยรอบปูด้วยกระเบื้องดินเผาสีอิฐ

เจดีย์อิสรภาพ จ.จันทบุรี
จันทบุรี
สถาปัตยกรรมเจดีย์อิสรภาพ จ.จันทบุรี

เจดีย์ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว มีฐานประทักษิณที่มีพนักระเบียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับพนักระเบียงด้วยกระเบื้องเคลือบปรุลายแบบจีน มีกำแพงแก้วเตี้ยในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบ รองรับเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ชุดมาลัยเถา บัวลูกแก้วอกไก่เป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง แต่ละชั้นค่อนข้างยืดสูง ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม เสาหาน ปล้องไฉนและปลียอด

อลังกรณเจดีย์
จันทบุรี
สถาปัตยกรรมอลังกรณเจดีย์

เจดีย์ก่อด้วยศิลาแลงมีฐานประทักษิณที่มีพนักระเบียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน รองรับเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ชุดมาลัยเถา บัวลูกแก้วอกไก่เป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง องค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม เสาหาน ปล้องไฉนและปลียอด

พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ภายในพระอุโบสถเป็นแบบยุโรปผสมแบบไทย เพดานเป็นลายเครือเถาสีทอง ที่ผนังด้านในพระอุโบสถเขียนเป็นรูปดอกไม้ร่วงสีทอง ระหว่างช่องหน้าต่างเป็นรูปอุณาโลมสลับด้วยรูปอักษร “จ”ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกของพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหนือซุ้มประตูกลางด้านในเป็นรูปตราแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 หรือที่เรียกว่า ตราอาร์ม ประกอบด้วยสิ่งสำคัญต่างๆ ได้แก่ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ตราจักรีบรมราชวงศ์ รูปช้างเอราวัณ ช้างเผือก และกริชคด เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฉัตร 7 ชั้น ขนาบข้างโดยมีราชสีห์และคชสีห์ประคองผนังส่วนบนระหว่างเสาคูหาเขียนภาพพุทธประวัติ ซึ่งออกแบบโดยหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ช่างหลวงคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ทำด้วยสำริดกะไหล่ทองเนื้อแปด ซึ่งเป็นทองคำจากเครื่องแต่งพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระเยาว์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนที่สั่งมาจากประเทศอิตาลี เบื้องบนเหนือองค์พระพุทธรูปมีนพปฎลมหาเศวตฉัตรซึ่งเคยกางกั้นพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใต้ฐานชุกชีของพระพุทธอังคีรสเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระอุโบสถมีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังประดับกระเบื้องเคลือบสีเบญจรงค์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เขียนลายเทพนม หลังคาทำด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องเคลือบสี ประดับช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ด้านหน้ามีมุขเด็จ หน้าบันหลักเป็นรูปช้าง 7 เศียร ทูนพานแว่นฟ้ารองรับพระจุลมงกุฎขนาบสองข้างด้วยฉัตรที่มีราชสีห์และคชสีห์ประคอง หน้าบันมุขเด็จเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นยอดแหลมอย่างปราสาทประดับลวดลายปูนปั้นปิดทอง ด้านในบานประตูหน้าต่างเป็นลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านนอกเป็นลายดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่หนึ่งรวม 5 ดวง คือ นพรัตน์ราชวราภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์ ปฐมจุลจอมเกล้า ประถมาภรณ์ช้างเผือก และประถมาภรณ์มงกุฎไทย ภายในพระอุโบสถเป็นศิลปะตะวันตกแบบโกธิค ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานประธาน คือ พระพุทธอังคีรสพระเจดีย์ มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถา ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเบญจรงค์เช่นเดียวกับผนังพระอุโบสถ โดยมีระเบียงคดในผังกลมล้อมรอบพระเจดีย์ หลังคาพระระเบียงมุงกระเบื้องเคลือบสี เสาระเบียงเป็นเสากลมทำด้วยหินอ่อนประดับบัวหัวเสา พระวิหารเป็นอาคารแบบไทยประเพณี รูปแบบใกล้เคียงกับพระอุโบสถแต่มีขนาดเล็กกว่า และต่างกันที่บานประตูและบานหน้าต่างของพระวิหารไม่ใช่งานประดับมุก แต่เป็นงานไม้แกะสลักเป็นลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลงรักปิดทองและระบายสี

พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระมหาเจดีย์สี่รัชกาล

พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน และพระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร ล้วนเป็นเจดีย์ทรงเครื่องซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเป็นรูปแบบที่สืบเนื่องมาจากศิลปะอยุธยาตอนปลาย มีองค์ประกอบที่สำคัญจากส่วนฐานได้แก่ ชุดฐานสิงห์ บัวทรงคลุ่ม องค์ระฆังเพิ่มมุม บัวทรงคลุ่มเถา ปลี ลูกแก้ว และปลียอด ประดับกระเบื้องเคลือบและกระเบื้องเครื่องถ้วยลวดลายต่างๆ โดยพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณประดับกระเบื้องเคลือบสีเขียว พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทานประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขารประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ส่วนพระมหาเจดีย์ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้าง มีรูปแบบเป็นเจดีย์เพิ่มมุม ประดับกระเบื้องเคลือบสีขาบหรือสีน้ำเงิน ซึ่งเจดีย์เพิ่มมุมเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนกลางเป็นต้นมา