ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระพุทธรูปท่ามกลางพระอสีติมหาสาวก
คำสำคัญ : วัดสุทัศนเทพวราราม, พระพุทธรูป, วัดสุทัศน์, พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม, พระสาวก
ชื่อหลัก | พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม |
---|---|
ชื่ออื่น | วัดสุทัศน์ |
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | เสาชิงช้า |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.750277 Long : 100.500999 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 662284.79 N : 1520612.3 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ภายในพระอุโบสถ |
ประวัติการสร้าง | สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปท่ามกลางพระอสีติมหาสาวก 80 องค์ ประดิษฐานที่ด้านหน้าพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ แทนที่พระศรีศาสดาที่ทรงอัญเชิญย้ายไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ปูนปั้นระบายสี |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิบนแท่นฐานบัวเตี้ยๆ แวดล้อมด้วยพระอสีติมหาสาวกจำนวน 80 รูป ซึ่งอยู่ในท่านั่งพับเพียบ พนมมือ นั่งเรียงเป็นแถวซ้ายขวาทางด้านหน้า และล้อมด้านหลังพระพุทธรูป พุทธลักษณะเป็นแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 กล่าวคือ ไม่มีอุษณีษะ โดยมีเพียงขมวดพระเกศาและต่อด้วยพระรัศมีเปลว ขนาดพระวรกายมีความสมจริงใกล้เคียงกับบุคคลโดยทั่วไป ใบพระกรรณหดสั้นคล้ายใบหูมนุษย์มากขึ้น ครองจีวรห่มเฉียงมีริ้วอย่างเป็นธรรมชาติ และมีสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่พาดผ่านพระอังสาซ้าย พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างวางพาดบนพระเพลาอย่างเป็นธรรมชาติอันหมายถึงการแสดงพระธรรมเทศนาโดยไม่แสดงวิตรรกมุทรา ระบายสีจีวรด้วยสีเหลือง และระบายสีพระพักตร์และพระฉวีด้วยสีเนื้อ พระขนงและพระเนตรเป็นสีดำตามแนวคิดแบบสมจริง รูปพระสาวกอยู่ในท่านั่งพนมมือ ครองจีวรห่มเฉียงระบายสีเหลือง โดยมีสังฆาฏิแผ่นใหญ่พาดทับบ่าซ้ายเช่นเดียวกันทั้งหมด ศีรษะโล้นเรียบระบายด้วยสีดำ แต่พระอสีติมหาสาวกทั้ง 80 รูปก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป เช่น สีผิว รายละเอียดบนใบหน้า รอยยับของจีวร |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระพุทธรูปประทับนั่งท่ามกลางพระอสีติมหาสาวกเป็นประติมากรรมที่แสดงให้เห็นถึงพระราชนิยมที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 4 คือ การสร้างพระพุทธรูปที่ไม่มีอุษณีษะ และการสร้างงานประติมากรรมที่คำนึงถึงความสมจริง ได้แก่เรื่องขนาดของพระพุทธรูปที่ใกล้เคียงกับพระสาวกและมีขนาดเกือบเท่าคนจริง ซึ่งได้เคยมีพระราชนิพนธ์แสดงพระราชวินิจฉัยไว้ว่าพระพุทธเจ้ามีขนาดพระวรกายเท่ากับมนุษย์โดยปกติ แต่อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่ายังคงมีพุทธลักษณะบางประการ เช่น พระรัศมีเปลว เพื่อสื่อให้เห็นความแตกต่างจากประติมากรรมพระสาวก ความสมจริงยังแสดงออกผ่านการระบายสีเพื่อให้รายละเอียดต่างๆ เช่น พระพักตร์ที่เป็นสีเนื้อ พระเนตรสีดำ พระโอษฐ์สีชมพูอ่อน จีวรสีเหลือง เป็นต้น พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างวางบนพระเพลาหมายถึงการแสดงพระธรรมเทศนา ซึ่งแตกต่างจากการแสดงมุทราโดยทั่วไปของพระพุทธรูป ที่น่าสนใจคือการระบายสีผิวพรรณของพระสาวกซึ่งมีความอ่อน-เข้มที่แตกต่างกัน |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 24 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | ประวัติพระอสีติมหาสาวก |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-06-01 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | ประวัติวัดสุทัศนเทพวราราม พร้อมด้วยแผนผัง ภาพปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุ. กรุงเทพฯ: ศิวพร, 2516. ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา และคณะ. สองศตวรรษวัดสุทัศนเทพวราราม : ศูนย์กลางจักรวาล ศูนย์กลางพระนคร. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2550. |