ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระพุทธไสยาส, พระพุทธไสยาสน์
คำสำคัญ : วัดโพธิ์, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, พระนอน, พระนอนวัดโพธิ์, พระพุทธไสยาสน์
ชื่อเรียกอื่น | พระนอนวัดโพธิ์ |
---|---|
ชื่อหลัก | วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม |
ชื่ออื่น | วัดโพธิ์ท่าเตียน |
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.746478 Long : 100.491739 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661282.49 N : 1520185.61 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ภายในวิหารพระพุทธไสยาส ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเขตพุทธาวาส |
ประวัติการสร้าง | พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นปรากฏความในสำเนาจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์ วัดพระเชตุพน จ.ศ.1393 พ.ศ.2374 ว่า “...แลที่ซึ่งขยายออกไปใหม่เหนือสวนขึ้นไปนั้น ทรงพระกรุณาให้ถาปนาพระพุทธไสยาศน์ขึ้นใหม่พระองค์หนึ่ง กำหนดโดยยาวแต่พระบาทถึงพระรัศมีได้เส้นหนึ่งกับสามวา แล้วก่อพระวิหารใหญ่สัณฐานเหมือนพระอุโบศถสรวมองค์พระพุทธเจ้า หลังคามุงกระเบื้องเครือบศรีขาบ...” และในสำเนาพระราชดำริ ทรงสร้างพระพุทธไสยาสวัดพระเชตุพน จ.ศ.1193 พ.ศ.2374 ว่า “...ทรงพระราชดำหริว่า พระพุทธปฏิมากรใหญ่ยังมิได้มีในพระมหานครนี้ จึ่งมีพระราชโองการมานพระบันทูลสุรสีหนาท ดำหรัสสั่งพญาศรีพิพัทธ์รัตนราชโกษาแลพญาเพ็ชพิไชย ให้เปนแม่การถาปนาพระมหาวิหารแลพระพุทธไสยาศน์ใหญ่ขึ้นไว้ในพระอารามนี้จะให้เปนที่สักการบูชาแก่เทพยดามานุษย์สรรพสัตวทั้งปวงทั่วสกลโลกธาตุ เปนมหากุศลโกษฐาษเจริญพระเกียรติยศ ปรากฏไปตราบเท่ากัลปวสาน ให้ลงรักปิดทองบันจุพระบรมสารีริกธาตุในพระอุตมังคศิโรตม์ แลพื้นฝ่าพระบาททั้งสองข้างนั้นให้ประดับมุกเปนพระลายลักษณกงจักรแลรูปอัษฐุตรสตะมหามงคลร้อยแปดประการ...” |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง |
ขนาด | ยาว 1 เส้น 3 วา หรือ 46 เมตร |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระพุทธรูปประทับนอนตะแคงขวาหรือสีหไสยาสน์ พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรองรับพระเศียร โดยมีพระเขนยทรงสี่เหลี่ยมประดับลวดลายดอกไม้อิทธิพลศิลปะจีนรองรับอีกทีหนึ่ง พระพุทธรูปมีรูปแบบเป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ กล่าวคือ พระพักตร์สงบนิ่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระขนงโก่ง พระโอษฐ์บางเรียว พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาขนาดเล็ก มีอุษณีษะ และพระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ครองจีวรห่มเฉียงเรียบ ไม่มีริ้ว จีวรบางแนบพระวรกาย มีชายสังฆาฏิเป็นแถบสี่เหลี่ยม ปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ พาดจากพระอังสาซ้ายมาที่กลางพระอุระ ยาวจรดกึ่งกลางพระนาภี สบงมีแถบสี่เหลี่ยมยาวที่ด้านหน้าจรดข้อพระบาท และมีขอบรัดประคด ฝ่าพระบาททั้ง 2 ข้าง ประดับมุกลวดลายมงคล 108 ประการ แบ่งประเภทต่างๆ ได้ดังนี้ 1. สัญลักษณ์แห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ เช่น หม้อน้ำ ปลาคู่ สวัสดิกะ พวงมณี ดอกบัว เป็นต้น 2. เครื่องประกอบพระบารมีของกษัตริย์และพระเจ้าจักรพรรดิ เช่น รัตนะ 7 ประการ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ บัลลังก์ เครื่องสูง เครื่องยศ เครื่องต้นต่างๆ และราชพาหนะ เป็นต้น 3. ภาพสัญลักษณ์ภูมิในจักรวาลตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา เช่น เขาจักรวาล มหาสมุทร ทวีปทั้ง 4 เขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ ป่าหิมพานต์ เป็นต้น |
สกุลช่าง | ช่างหลวง |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่าในพระมหานครนี้ยังไม่มีพระพุทธปฏิมากรขนาดใหญ่เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธไสยาสขึ้นในคราวบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2375 และสร้างพระวิหารครอบองค์พระในภายหลัง โดยได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่อุษณีษะเหนือพระเศียร และโปรดเกล้าฯ ให้ประดับมุกเป็นลายมงคล 108 ประการที่ฝ่าพระบาททั้งสองข้าง ซึ่งนับเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นเยี่ยมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์พระพุทธไสยาสหรือพระนอนวัดโพธิ์จึงเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยนั้น ข้อมูลจากบางแห่งอธิบายว่าพระพุทธไสยาสนี้คือพระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตอนหนึ่งในพุทธประวัติที่พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระวรกายให้มีขนาดใหญ่เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดอสุรินทราหูผู้ครองอสูรภพซึ่งมีร่างกายใหญ่โต แต่อย่างไรก็ตาม ไม่อาจสรุปได้ว่าพระพุทธรูปไสยาสนี้เป็นปางโปรดอสุรินทราหู เนื่องจากไม่พบหลักฐานศิลปกรรมอื่นที่แสดงถึงเหตุการณ์พุทธประวัติตอนนั้น แม้จิตรกรรมฝาผนังที่อยู่โดยรอบก็ไม่ได้เขียนเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน อีกทั้งพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ 3 ก็ระบุเพียงว่าโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธไสยาสขนาดใหญ่ไว้ในพระนครเพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชาเท่านั้น โดยมิได้กล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตามพุทธประวัติตอนใด ดังนั้นจึงควรเรียกว่าพระพุทธไสยาสซึ่งหมายถึงพระพุทธรูปในอิริยาบถประทับนอน โดยมีลักษณะสำคัญคือการประทับนอนตะแคงขวาที่เรียกว่า สีหไสยาสน์ |
ข้อสังเกตอื่นๆ | ยาว 1 เส้น 3 วา หรือ 46 เมตร สูงจากพื้นถึงยอดพระเกตุมาลา 15 เมตร เฉพาะพระพักตร์จากไรพระศก (ไรผม) ถึงพระหนุ (คาง) ยาว 30 ศอก (5 เมตร) กว้าง 5 ศอก (2.5 เมตร) พระพุทธบาท ยาว 5 เมตร สูง 3 เมตร สูงจากพื้นถึงยอดพระเกตุมาลา 15 เมตร เฉพาะพระพักตร์จากไรพระศก (ไรผม) ถึงพระหนุ (คาง) ยาว 30 ศอก (5 เมตร) กว้าง 5 ศอก (2.5 เมตร) พระพุทธบาท ยาว 5 เมตร สูง 3 เมตร |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 24 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | พระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอิทประมูล จ.อ่างทอง พระพุทธไสยาสน์วัดพระนอนจักรสีห์ จ.สิงห์บุรี |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-07-01 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | พระราชเวที (สุรพล ชิตญาโณ),บรรณาธิการ. วิหารพระนอนวัดโพธิ์. กรุงเทพฯ : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, 2549. ศานติ ภักดีคำ, รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และ พอพล สุกใส. พระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2555. |