ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

คำสำคัญ : พระอุโบสถ, วัดราชบพิธ, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พระอุโบสถวัดราชบพิธ, พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ชื่อหลักวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ชื่ออื่นวัดราชบพิธ
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลวัดราชบพิธ
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.748971
Long : 100.497339
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661888.44
N : 1520463.65
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพุทธาวาส

ประวัติการสร้าง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามขึ้น โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ซึ่งกำกับราชการกรมช่างสิบหมู่ ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้างเป็นพระองค์แรก แต่สิ้นพระชนม์ก่อนที่จะสร้างเสร็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ จึงเป็นผู้อำนวยการสร้างต่อมา แต่ก็สิ้นพระชนม์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) ครั้งดำรงตำแหน่งพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรเป็นผู้อำนวยการสร้างพระองค์ต่อมา จนแล้วเสร็จ

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ ปิดทองประดับกระจก

ขนาดกว้าง 17.70 เมตร ยาว 21.65 เมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

พระอุโบสถมีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังประดับกระเบื้องเคลือบสีเบญจรงค์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เขียนลายเทพนม หลังคาทำด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องเคลือบสี ประดับช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ด้านหน้ามีมุขเด็จ หน้าบันหลักเป็นรูปช้าง 7 เศียร ทูนพานแว่นฟ้ารองรับพระจุลมงกุฎขนาบสองข้างด้วยฉัตรที่มีราชสีห์และคชสีห์ประคอง หน้าบันมุขเด็จเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นยอดแหลมอย่างปราสาทประดับลวดลายปูนปั้นปิดทอง ด้านในบานประตูหน้าต่างเป็นลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านนอกเป็นลายดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่หนึ่งรวม 5 ดวง คือ นพรัตน์ราชวราภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์ ปฐมจุลจอมเกล้า ประถมาภรณ์ช้างเผือก และประถมาภรณ์มงกุฎไทย ภายในพระอุโบสถเป็นศิลปะตะวันตกแบบโกธิค ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานประธาน คือ พระพุทธอังคีรส

พระเจดีย์ มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถา ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเบญจรงค์เช่นเดียวกับผนังพระอุโบสถ โดยมีระเบียงคดในผังกลมล้อมรอบพระเจดีย์ หลังคาพระระเบียงมุงกระเบื้องเคลือบสี เสาระเบียงเป็นเสากลมทำด้วยหินอ่อนประดับบัวหัวเสา

พระวิหารเป็นอาคารแบบไทยประเพณี รูปแบบใกล้เคียงกับพระอุโบสถแต่มีขนาดเล็กกว่า และต่างกันที่บานประตูและบานหน้าต่างของพระวิหารไม่ใช่งานประดับมุก แต่เป็นงานไม้แกะสลักเป็นลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลงรักปิดทองและระบายสี
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามขึ้นเมื่อต้นรัชกาลสำหรับเป็นวัดประจำพระองค์ โดยมีแรงบันดาลใจสำคัญจากวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 ทั้งสองวัดจึงมีสร้อยนามและการผูกสีมาให้เป็นมหาสีมาเช่นเดียวกัน ปูชนียสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระมหาเจดีย์ ซึ่งเป็นหลักสำคัญของวัด ล้อมรอบด้วยพระระเบียงคด พระอุโบสถ พระวิหาร และพระวิหารทิศ ซึ่งเป็นแผนผังและองค์ประกอบที่สืบเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเฉพาะระเบียงคดในผังกลมที่ล้อมรอบเจดีย์ประธานนั้นคล้ายกับที่พระปฐมเจดีย์เป็นอย่างยิ่ง วัดแห่งนี้ถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ถึงสองพระองค์ คือรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7

พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นสถาปัตยกรรมในพุทธศาสนาที่ผสมผสานระหว่างรูปแบบภายนอกอย่างไทยประเพณีกับศิลปะตะวันตกที่ตกแต่งไว้ภายใน เป็นการสะท้อนถึงวัฒนธรรมตะวันตกที่แพร่เข้ามาในสังคมไทยขณะนั้น ความงดงามในการประดับตกแต่งพระอุโบสถแสดงถึงความเฟื่องฟูด้านงานช่างในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีทั้งช่างหลวงและช่างพระ อาทิ ผนังด้านนอกพระอุโบสถประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเบญจรงค์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือพระอาจารย์แดง แห่งวัดหงส์รัตนาราม เป็นช่างพระผู้ออกแบบเขียนลาย

นอกจากนี้ บานประตูประดับมุกซึ่งประดิษฐ์เป็นลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำคัญรวม 5 ตระกูล ยังนับเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นเอกในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งสะท้อนแนวคิดอย่างใหม่เกี่ยวกับสิ่งของที่เป็นสิริมงคล นอกเหนือจากที่เคยมีกล่าวถึงไว้อย่างปรัมปราคติในทางพุทธศาสนา
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

พระพุทธอังคีรส พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-08-01
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

สุริยา รัตนกุล. พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล, 2550-2552.

ชัชพล ไชยพร บรรณาธิการ. ประมวลเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 เรื่องวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2553.

ศุภชัย เสริมสุขเจริญชัย. “งานตกแต่งภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม : การปรับเปลี่ยนสู่ศิลปะตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.)