ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สัตตมหาสถาน
คำสำคัญ : วัดสุทัศนเทพวราราม, วัดสุทัศน์, สัตตมหาสถาน
ชื่อหลัก | วัดสุทัศนเทพวราราม |
---|---|
ชื่ออื่น | วัดสุทัศน์ |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | เสาชิงช้า |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.750921 Long : 100.501607 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 662349.65 N : 1520688.34 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | เขตพุทธาวาส |
ประวัติการสร้าง | รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสัตตมหาสถานแทนพระธาตุเจดีย์โดยปรากฏหลักฐานในหมายรับสั่งเรื่องหมายกำหนดการเกณฑ์แห่พระพุทธรูปไปประดิษฐานยังวัดสุทัศนเทพวรารามเมื่อ พ.ศ.2389 โดยในหนังสือประวัติวัดได้กล่าวถึงการสร้างในครั้งนั้นว่า โปรดเกล้าฯให้สร้างสัตตมหาสถานเจดีย์ 7 สถาน ก่อเป็นแท่นด้วยอิฐประดับด้วยศิลาแกะสลัก สัตตมหาสถานนี้ปลูกต้นไม้โพธิ์ ไม้จิก ไม้เกต และรูปเรือนแก้วเป็นรูปเก๋งจีนทำด้วยศิลาล้วน กับทรงสร้างพระพุทธรูปประทับในสัตตมหาสถานหล่อด้วยทองแดงขัดเกลี้ยง ปางมารวิชัย1 ปางถวายเนตรประสานพระหัตถ์ที่พระเพลา1 ปรงจงกรมแก้วพระศิลา1 ปางทรงพิจารณาธรรมนั่งสมาธิ1 ปางทรงประทับใต้ต้นไม้ไทร1 ปางนาคปรก1 ปางทรงรับผลสมอ1 บาตรข้าวสัตตุ นั่งสมาธิใต้ต้นไทร |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | อาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กประกอบกับศิลาแกะสลัก ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองแดง |
ลักษณะทางศิลปกรรม | 1.รัตนบัลลังก์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ ใต้ที่ประทับมีประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำรูปพญามารและบริวารพร้อมประติมากรรมศิลาจีนที่เป็นรูปสัตว์แต่งกายแบบชุดนักรบ หน้าตาท่าทางขึงขัง ซึ่งน่าจะหมายถึงบริวารของพญามาร แสดงถึงตอนตรัสรู้ 2.อนิมิสเจดีย์ พระพุทธรูปประทับยืนปางถวายเนตร โดยประดิษฐานอยู่ภายในเก๋งจีนที่แกะสลักจากศิลาเป็นรูปปราสาท แสดงถึงเมื่อภายหลังตรัสรู้ ได้ประทับทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตรเป็นเวลา 7 วัน 3.รัตนจงกรม พระพุทธรูปประทับยืนบนฐานบัว โดยมีพระบาทเหลื่อมกัน พระหัตถ์ขวาวางหน้าพระเพลา พระหัตถ์ซ้ายทอดยาวตามพระวรกาย แสดงถึงตอนที่เสด็จพระดำเนินในจงกรมแก้วเป็นเวลา 7 วัน 4.รัตนฆรเจดีย์ พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิบนฐานบัว ประสานพระหัตถ์ไว้ในพระอุระ ประดิษฐานภายในเก๋งศิลาจีนแทนเรือนแก้ว แสดงถึงเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่ 4 ที่มีเทพยดาได้เนรมิตเรือนแก้วถวายเพื่อให้ทรงพิจารณาธรรม 5.อัชปาลนิโครธ พระพุทธรูปประทับนั่งใต้ต้นไทร พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานอภัย มีประติมากรรมรูปธิดาพญามาร 3 นางอยู่เบื้องหน้า และด้านซ้ายขวาของพระพุทธรูป (น่าจะสร้างขึ้นใหม่ในภายหลัง ) แสดงถึงตอนที่ทรงเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 6 ขณะทรงพิจารณาพระอภิธรรม พญามารได้ให้ธิดาทั้ง 3 มายั่วยวนพระพุทธองค์แต่ทรงห้ามไว้ 6.มุจลินท์ พระพุทธรูปนาคปรกซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากที่อื่น โดยมีขนดนาคล้อมองค์พระจนสูงถึงพระอุระ ประดิษฐานใต้ต้นจิกหรือต้นมุจลินทร์ มีอ่างศิลาปลูกบัว มีปลาและเต่า แสดงถึงเหตุการณ์ตอนที่ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นจิก เกิดพายุฝนลมแรง พญานาคมุจลินท์จึงแผ่พังพานป้องกันพระพุทธองค์ 7.ราชายตนะ พระพุทธรูปปางรับผลสมอ โดยประทับนั่งขัดสมาธิ ใต้ต้นเกด หรือต้นราชายตนะ พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาหงายบนพระชานุถือผลสมอ ใกล้กันมีศิลาจีนสลักเป็นรูปม้าและโคเทียมเกวียน หมายถึงคาราวานพ่อค้าของตปุสสะและภัลลิกะที่ได้นำข้าวสัตตุมาถวาย แสดงถึงเหตุการณ์ตอนเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 7 ซึ่งพระพุทธองค์ไม่ได้เสวยสิ่งใดเลยตลอด 49 วัน พระอินทร์จึงนำผลสมอซึ่งเป็นทิพยโอสถมาถวาย และพ่อค้าทั้งสองได้นำข้าสัตตุมาถวายเป็นภัตตาหารมื้อแรก |
สกุลช่าง | ช่างหลวงในรัชกาลที่ 3 |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | สัตตมหาสถาน หมายถึง สถานที่สำคัญ 7 แห่ง ที่ปรากฏตามพุทธประวัติว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงเสวยวิมุติสุข ณ สถานที่ต่างๆ รวม 7 แห่งเป็นเวลา 7 สัปดาห์ จากเหตุการณ์ในพุทธประวัติดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสัตตมหาสถานโดยจำลองสถานที่ต่างๆ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กประดับด้วยศิลาแกะสลัก และปลูกต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แต่ละสัปดาห์ รวมทั้งให้สร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทองแดงในอิริยาบถต่างๆ เพื่อประดิษฐานในสัตตมหาสถานแต่ละแห่ง พระพุทธรูปเหล่านั้นสอดคล้องกับพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่รัชกาลที่ 3 ทรงให้คิดค้นขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงค้นคว้าจากพุทธประวัติและสร้างขึ้นใหม่อีกหลายปาง การสร้างสัตตมหาสถานจำลองเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติเช่นที่วัดสุทัศนเทพวรารามนั้นพบเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย เช่น ที่วัดพระธาตุบังพวน จ.หนองคาย และที่วัดมหาโพธาราม จ.เชียงใหม่ เป็นต้น |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 24 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | พระปฐมสมโพธิกถา, ตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามพระมติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | พระพุทธรูปรูปแบบเดียวกันกับที่ประดิษฐานในสัตตมหาสถาน วัดสุทัศนฯ ยังมีอยู่ภายในพระวิหารหลวง และพระอุโบสถ โดยมีทั้งที่ทำจากทองแดงและหินอ่อน การสร้างสัตตมหาสถานที่วัดอื่นๆ เช่น วัดพระธาตุบังพวน จ.หนองคาย และที่วัดมหาโพธาราม จ.เชียงใหม่ |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-06-01 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | ประวัติวัดสุทัศนเทพวราราม พร้อมด้วยแผนผัง ภาพปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุ. กรุงเทพฯ: ศิวพร, 2516. ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา และคณะ. สองศตวรรษวัดสุทัศนเทพวราราม : ศูนย์กลางจักรวาล ศูนย์กลางพระนคร. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2550. เสาวณิต วิงวอน, บรรณาธิการ. ตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส. กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน, 2550. |