ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 17 ถึง 24 จาก 107 รายการ, 14 หน้า
ปรางค์กู่
ชัยภูมิ
สถาปัตยกรรมปรางค์กู่

ปรางค์กู่เป็นโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งที่มีแผนผังและลักษณะเหมือนกับโบราณสถานที่ได้พบหลักฐานว่าเป็นอโรคยาศาล ที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ก็คือ มีองค์ประธานอยู่ตรงกลาง 1 องค์ บรรณาลัยด้านหน้า 1 หลัง ล้อมด้วยกำแพงซึ่งมีโคปุระเฉพาะด้านหน้าทั้งหมด ก่อด้วยอิฐศิลาแลงยกเว้นกรอบประตูหน้าต่าง ทับหลัง เสาประดับล้วนเป็นหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปรางค์มีสระน้ำ 1 สระ ยังคงสภาพสมบูรณ์ โดยเฉพาะองค์ประธานซึ่งมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 5 เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้ามีประตูทำเป็นมุขยื่นออกมา ผนังปรางค์อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก จำหลักภาพตรงกลางเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ซึ่งจับท่อนพวงมาลัยไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง ด้านข้างทางซ้ายและขวาจำหลักรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร กับรูปนางปรัชญาปารมิตา ด้านหน้ามีทับหลังเช่นกัน สันนิษฐานว่าสลักเป็นภาพเดียวกัน แต่ปัจจุบันลบเลือนมาก ที่ช่องประตูหลอกด้านทิศเหนือยังมีพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ ศิลปะแบบทวาราวดี ขนาดสูง 1.75 เมตร หน้าตักกว้าง 7.5 เมตร ประดิษฐานอยู่ 1 องค์ ซึ่งเป็นของที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น

ปราสาทบ้านบุ
บุรีรัมย์
สถาปัตยกรรมปราสาทบ้านบุ

เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดยาวไปตามทิศตะวันออก - ตะวันตก มีทางเข้าด้านหน้าซึ่งหันไปทางทิศตะวันออก ช่วงหลังเป็นตัวปราสาทซึ่งแบ่งเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสส่วนกรอบประตูทางเข้ามีการนำศิลาทรายซึ่งมีลวดลายดอกไม้สี่กลีบแต่เดิมมาใช้ในการก่อสร้าง โดยหันแผ่นศิลาทรายด้านสลักลวดลายเข้าข้างใน คล้ายกับปรางค์หินแดงที่ปราสาทหินพิมาย ในการนำวัสดุในศิลปะเก่ากว่ากลับมาใช้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้พบบัวยอดปราสาทขนาดใหญ่ในรูปแบบศิลปะร่วมแบบบายน ดังเช่นยอดโคปุระของปราสาทพระขรรค์ในกัมพูชา ทางเดินเชื่อมด้านทิศใต้มีการเจาะช่องหน้าต่าง 3 ช่อง และตรงมุขอีก 1 ช่อง ด้านเหนือก่อทึบในขณะที่ส่วนบนหักพังจนเกือบหมด และมีหลังคาโค้งเหนือทางเดินที่สร้างระหว่างตัวปราสาทกับมุข

กุฏิฤาษีบ้านโคกเมือง
บุรีรัมย์
สถาปัตยกรรมกุฏิฤาษีบ้านโคกเมือง

แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านนอกสุดเป็นกำแพงศิลาแลงมีซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระทางทิศตะวันออก ตรงกลางภายในเป็นที่ตั้งของปราสาทประธานก่อด้วยศิลาแลง บางตอนมีหินทรายประกอบกรอบประตู ประตูด้านหน้าทางทิศตะวันออกทำเป็นมุขยื่นออกมา ประตูอีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานภายในกำแพงแก้วเป็นบรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกัน บางส่วนของโคปุระและปราสาทประธานมีการประดับด้วยส่วนประกอบของหน้าบันหรือทับหลังเป็นรูปนาค มกรคายนาค สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบศิลปะในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 แต่ทว่าส่วนประดับเหล่านี้ดูไม่สู้จะต่อเนื่องกับปราสาทประธานและกำแพง จึงอาจเป็นการนำของเดิมมาประกอบอาคารที่ก่อสร้างใหม่ อย่างไรก็ตาม หากชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมเหล่านี้เป็นของที่มีมาแต่เดิม ก็อาจสันนิษฐานว่าเคยมีศาสนสถานแห่งหนึ่งสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 จึงปรับเปลี่ยนใช้เป็นอโรคยศาลในพุทธศาสนามหายาน

วัดศรีสวาย
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมวัดศรีสวาย

ตั้งหันหน้าไปทางทิศใต้ มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กึ่งกลางกำแพงด้านทิศใต้มีซุ้มประตูเข้าออก 1 แห่ง ถัดเข้าไปเป็นวิหารโถงชั้นนอกต่อเนื่องด้วยวิหารทึบชั้นในในแนนวเหนือใต้ ถัดจากนั้นเป็นปราสาท 3 หลังเรียงกันในแนวตะวันตก-ตะวันออก หลังกลางสูงกว่าหลังที่ขนาบทั้งสองข้าง สภาพปัจจุบันแสดงให้เห็นร่องรอยการก่อสร้างและดัดแปลงมาแล้วหลายครั้ง ส่วนฐานนั้นจมดินอยู่ ก่อด้วยศิลาแลงมาจนถึงเรือนธาตุ แต่ส่วนหลังคาที่ซ้อนเป็นชั้นก่อด้วยอิฐ ประดับกลีบขนุนรูปครุฑยุดนาค เทวดา อัปสร นาคโคนกรอบซุ้ม ซึ่งคลี่คลายจากศิลปะเขมรผสมผสากับศิลปะสุโขทัย นอกจากนี้ยังมีร่องรอยสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ได้แก่ แนวระเบียงล้อมรอบปราสาท ฐานอาคาร 3 หลังกระจายล้อมรอบปราสาทประธานพื้นที่ระหว่างกำแพงวัดและกำแพงแก้วมีสระน้ำอยู่ด้านหลังปราสาท ซึ่งในอดีตน่าจะเป็นรูปตัว U คว่ำ ต่อมาได้มีการถมบริเวณทิศตะวันตกและปรากฏวิหารน้อยก่อด้วยศิลาแลง 1 หลัง ด้านหน้าวิหารน้อยปรากฏฐานเจดีย์ 1 องค์ ส่วนด้านหลังกำแพงวัดด้านทิศเหนือยังปรากฏฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลง 1 หลัง โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ค้นพบได้ในวัด ได้แก่ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แผ่นหินสลักรูปพระนารายณ์ประทับยืน พระพุทธรูปสำริดทรงเครื่อง กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 18 จึงสันนิษฐานว่าเมื่อแรกสร้างวัดศรีสวายนี้เพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์หรือพุทธมหายาน ต่อมาเมื่อสุโขทัยมีอำนาจเหนือขอมในพุทธศตวรรษที่ 19 จึงได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถานพุทธเถรวาท

ปราสาทกู่พันนา
สกลนคร
สถาปัตยกรรมปราสาทกู่พันนา

ประกอบด้วยปราสาทประธานทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมหนึ่งหลัง ตั้งอยู่กึ่งกลางภายในกำแพงศิลาแลงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า เครื่องบนของปราสาทประธานนั้นพังทลายลงไป ส่วนประตูทางเข้าออกนั้นด้านเดียวทางทิศตะวันออก ส่วนอีก 3 ด้านทำเป็นประตูหลอก ประตูทางเข้าออกนี้ทำเป็นห้องยาวๆ ด้านหน้าเป็นมุข ส่วนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานปรากฏเฉพาะส่วนฐานของบรรณาลัยสร้างด้วยศิลาแลงในผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนกึ่งกลางของกำแพงศิลาแลงด้านทิศตะวันออกนั้นปรากฏซุ้มประตูหรือโคปุระในผังจัตุรัสรูปกากบาท และภายนอกกำแพงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีสระน้ำรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกัน

กำแพงวัดมหาธาตุวรวิหาร
ราชบุรี
สถาปัตยกรรมกำแพงวัดมหาธาตุวรวิหาร

เนื่องจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ทับซ้อนในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งปราสาทขอมในพุทธศตวรรษที่ 18 มาก่อน จากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้ทราบแผนผังของปราสาทขอมที่ถูกซ้อนทับอยู่ดังนี้ลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปรากฏฐานปราสาทประธานหลังเดียวก่อด้วยศิลาแลงบริเวณกึ่งกลางของแผนผัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งปรากฏร่องรอยโคปุระด้านทิศเหนือและทิศใต้เท่านั้น จึงสันนิษฐานว่าระเบียงคดน่าจะมีโคปุระของแต่ละด้านอยู่ทั้งสี่ทิศ และมีตำแหน่งที่ตรงกับโคปุระของกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงที่อยู่ถัดออกไป โดยเฉพาะด้านทิศตะวันออกจะปรากฏร่องรอยทางเดินเป็นแนวยาวจากโคปุระของระเบียงคดเชื่อมต่อกับโคปุระของกำแพงแก้ว บนกำแพงแก้วนั้นประดับทับหลังกำแพงทำจากหินทรายแดง สลักพระพุทธรูปปางสมาธิประทับในซุ้มเรือนแก้ว ทับหลังกำแพงแต่ละชิ้นมีขนาดต่างกัน บางชิ้นสลักพระพุทธรูปองค์เดียว บางชิ้นสลัก 2-4 องค์ มีปะปนกันตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมขอมในพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์รูปแบบของศิลปกรรมของทับหลังประดับกำแพงแก้วในสมัยบายนนี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันเกือบทั้งหมด คือเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางสมาธิ พระเกศาเรียบไม่ตกแต่ง พระรัศมีเป็นทรงกรวย พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรเหลือบมองต่ำ ครองจีวรแนบพระวรกายและไม่มีการสลักลายละเอียดหรือริ้วจีวร พระพุทธรูปประทับในซุ้มเรือนแก้วซึ่งเป็นซุ้มโค้งเข้าโค้งออก ประดับขอบซุ้มด้วยรวยระกา ที่ปลายขอบซุ้มด้านล่าง ตกแต่งด้วยกนกหรือตัวเหงาหันหน้าเข้าด้านใน การประดับทับหลังกำแพงสลักเป็นพระพุทธรูปในซุ้มเรือนแก้วนี้ปรากฏเพียงไม่กี่แห่งในสถาปัตยกรรมขอมในประเทศไทย เช่น โบราณสถานเนินโคกพระ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

พระโพธิสัตว์องค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตรง มีแปดกรแต่ทุกพระกรเหลือเพียงช่วงบนเท่านั้น พระวรกายช่วงล่างตั้งแต่พระชานุลงไปหักหายหมดแล้วเช่นกันพระพักตร์อวบอิ่ม เครื่องประกอบพระพักตร์งามสมส่วน เปลือกพระเนตรปิดลงครึ่งหนึ่ง สวมมงกุฎที่ประดับด้วยกลุ่มเพชรพลอยทรงสามเหลี่ยม มวยพระเกศาทรงกระบอก มีรูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะที่อยู่ภายในกรอบวงกลมประดับอยู่กึ่งกลางมวยพระเกศา ปลายพระเกศาเป็นลอนสยายปะพระอังสา สวมเครื่องประดับจำนวนมาก ได้แก่ ยัชโญปวีตที่ทำจากผ้า ยัชโญปวีตนี้ซ้อนทับโดยสังวาลไข่มุกประดับเพชรพลอยอีกชั้นหนึ่ง กรองศอมี 2 เส้น เส้นบนเป็นดั่งเม็ดไข่มุก เส้นล่างเป็นดั่งเครื่องประดับลายเพชรพลอย มีพาหุรัดประดับลายเพชรพลอย ในภาพรวมพระโพธิสัตว์องค์นี้แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะอินเดียแบบปาละและศิลปะชวาภาคกลางของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ชี้ให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กับศิลปะชวาภาคกลางมากกว่า นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ไม่ปรากฏทั้งในศิลปะปาละและศิลปะชวาภาคกลาง ซึ่งอาจหมายความว่าหล่อขึ้นในภาคใต้ของไทยเอง ได้แก่ ยัชโญปวีตแบบหนังสัตว์ที่ซ้อนทับด้วยสังวาลเพชรพลอย

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ประติมากรรมนี้อยู่ในสภาพชำรุด เหลือเพียงพระเศียรและพระวรกายส่วนบนที่แสดงอาการเอียงตนหรือตริภังค์ ในขณะที่มวยพระเกศา พระกรทั้งสองข้าง และพระวรกายส่วนล่างชำรุดสูญหายไปแล้วพระพักตร์อวบอิ่ม เครื่องประกอบพระพักตร์งามสมส่วน เปลือกพระเนตรปิดลงครึ่งหนึ่ง มีพระอุณาโลมที่พระนลาฏ สวมมงกุฎที่ประดับด้วยกลุ่มเพชรพลอยทรงสามเหลี่ยม มวยพระเกศาที่เคยมีอยู่ทางด้านบนได้หักหายไปแล้ว เหลือแต่พระเกศาเป็นลอนสยายปะพระอังสา สวมเครื่องประดับจำนวนมาก ได้แก่ ยัชโญปวีตแบบหนังสัตว์โดยสังเกตได้จากหัวเลียงผาที่อยู่บริเวณพระอังสาซ้าย ยัชโญปวีตนี้ซ้อนทับโดยสังวาลไข่มุกประดับเพชรพลอยอีกชั้นหนึ่ง กรองศอมี 2 เส้น เส้นบนเป็นดั่งเม็ดไข่มุก เส้นล่างเป็นดั่งเครื่องประดับลายเพชรพลอยที่มีสายอุบะห้อยระย้า มีพาหุรัดประดับลายเพชรพลอย ในภาพรวมพระโพธิสัตว์องค์นี้แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะอินเดียแบบปาละและศิลปะชวาภาคกลางของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดที่ไม่ปรากฏทั้งในศิลปะปาละและศิลปะชวาภาคกลาง ซึ่งอาจหมายความว่าหล่อขึ้นในภาคใต้ของไทยเอง ได้แก่ ยัชโญปวีตแบบหนังสัตว์ที่ซ้อนทับด้วยสังวาลเพชรพลอย