ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธสิหิงค์
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก อุษณีษะทรงสูง รัศมีเป็นเปลวไฟค่อนข้างสูง พระเนตรหรี่เหลือบต่ำ พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปม พระวรกายสมส่วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิแผ่นใหญ่ยาวถึงพระนาภีปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานบัวหงายที่มีลายกลีบบัวขนาดใหญ่
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารยกพื้นสูง มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ช่อง ซุ้มประตูทรงบรรพแถลง มีเสาพาสี่เหลี่ยมโดยรอบอาคารและมีคันทวยไม้แกะสลักปิดทองรองรับชายคา เครื่องหลังคาประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องสีส้ม หลังคาซ้อนชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีคอสองหรือผนังที่คั่นจังหวะหลังคาออกเป็น 2 ส่วน หน้าบันพระที่นั่งทำด้วยไม้แกะสลักรูปพระพรหมสถิตในวิมาน 3 หลัง แวดล้อมด้วยลายกระหนกใบไม้ม้วนและเทพนม ปิดทองประดับกระจก
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุม
จิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มีรูปแบบเป็นงานจิตรกรรมไทยประเพณี เขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่างส่วนผนังเหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุมโดยเหล่าเทพเทวดาแต่งกายยืนเครื่องอยู่ในท่านั่งเรียงเป็นแถว ต่างพนมมือเพื่อกราบนมัสการพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีภาพพระเจดีย์ที่ผนังท้ายพระที่นั่งส่วนผนังด้านหน้าพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประธาน เขียนภาพเทวดาชั้นพรหมประทับนั่งเรียงแถวพนมมือเพื่อกราบนมัสการพระทุสสะเจดีย์ซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตเทคนิคการเขียนภาพยังคงเป็นแบบไทยประเพณีที่นิยมในสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวคือ ใช้เทคนิคการระบายสีแล้วตัดเส้น ภาพบุคคลสำคัญแสดงออกผ่านกิริยาที่เป็นนาฏลักษณ์ ใช้เส้นสินเทาแบ่งเรื่องราวตอนต่างๆ มีการปิดทองคำเปลวในส่วนสำคัญของภาพ เป็นต้น
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นอาคารโรง ก่ออิฐถือปูน ชั้นเดียว ขนาด 10 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฝากั้นทึบทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้ามีระเบียง เสาระเบียงและเสาในอาคารเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่แบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลา หลังคาพระที่นั่งประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี ประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับรูปเทพนมประทับบนฐานบัวแกมช่อกระหนกเปลว ปิดทองประดับกระจก
สถาปัตยกรรมเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์
เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์นี้ เป็นอาคารทรงปราสาทโถง 9 ยอด มีรูปช้างเอราวัณรองรับส่วนยอดปราสาท เสา 48 ต้นเอียงเข้าสู่ศูนย์กลางยอดหน้าบันด้านกลางทิศเหนือประดิษฐานพระปรมาภิไธย “อปร.” หน้าบันด้านทิศตะวันออกเหนือประดิษฐานพระนามาภิไธย “กว.”หน้าบันด้านทิศตะวันตกเหนือประดิษฐานพระนามาภิไธย “สธ.” หน้าบันด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระนามาภิไธย “มวก.” หน้าบันกลางด้านทิศใต้ประดิษฐานพระปรมาภิไธย “ภปร.” หน้าบันด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ประดิษฐานพระนามาภิไธย “มอ.” หน้าบันด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ประดิษฐานพระนามาภิไธย “สว.” หน้าบันด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระนามาภิไธย “สก.” ใต้หน้าบันฉลุเพดานด้านในปรากฏพระนามาภิไธยที่ส่วนกลาง “จภ.” เพดานด้านซ้ายและด้านขวา “อร.” พื้นเป็นหินอ่อนมีลูกกรงโดยรอบ ฐานเรือนยอดชั้นบนประดับรูปเทพพนม มีโคมไฟรูปพุ่มข้าวบิณฑ์โดยรอบ บันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน ทางขึ้นด้านทิศเหนือและทิศใต้มีสระน้ำครึ่งวงกลม มีรูปปั้นม้าอยู่กลางสระ มุมทั้ง 4 มีสระ 4 แห่งมีรูปช้าง ม้า วัว สิงห์ มีช้างสำริด จำนวน 10 ช้างอยู่โดยรอบอาคาร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์
พระที่นั่งตั้งอยู่บนเนินดินใจกลางถ้ำที่มีลักษะโปร่งแสงแดดส่องถึงพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เป็นพระที่นั่งโถงแบบจัตุรมุข โดยมีมุขทางด้านเหนือและด้านใต้ยาวกว่ามุขด้านตะวันตกและตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้ซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระหา หางหงส์
สถาปัตยกรรมพระรามราชนิเวศน์
พระรามราชนิเวศน์เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นสไตล์ยุโรป ตัวอาคารมี 2 ชั้น หลังคามี 2 ยอดทรงสูง มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบ ตัวอาคารมีผังเป็นตรีมุข แต่ละมุขมีบันไดทางขึ้นขนาดใหญ่เป็นทางขึ้นลง มุขด้านหน้าทางทิศตะวันออกถือเป็นจุดเด่นของอาคาร ประกอบด้วยวงกลมสามวงเรียงกันคล้ายรูปดอกจิก เรียกว่า ผังดอกจิกแบบโรมาเนสก์ (Rhenish Romanesque Trefoil Plan)โถงทางเข้าเป็นวงกลมขนาดใหญ่มีลักษณะโปร่งทะลุไปถึงเพดานชั้น 2 และเป็นที่ตั้งของบันไดใหญ่ของพระที่นั่ง ซึ่งเป็นการออกแบบในแนว จุงเกนสติล (Jugendstil) ที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ภายในประกอบด้วยห้องต่างๆ ด้านทิศเหนือมีอาคารรองก่อสร้างต่ออกไปโอบล้อมที่ว่างตรงกลาง มีบริเวณสวนหรือที่ว่างตรงกลางตกแต่งแบบสวนยุโรป (Court) ภานในพระที่นั่งตกแต่งโดยใช้ทองแดง กระจกสี กระเบื้องเคลือบสี เหล็กหล่อ ช่อไฟกิ่งซึ่งเน้นความหรูหราแบบยุโรป
สถาปัตยกรรมหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ความสูง 2 ชั้น และ3 ชั้น มีรูปแบบผสมผสานระหว่างไทย ตะวันตก และจีน โครงสร้างหลังคารูปจั่ว มุงกระเบื้องกาบกล้วยดินเผาแบบจีน หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า มีฉัตรกระหนาบ 2 ข้าง ส่วนหน้าจั่วพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัยเป็นรูปพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร มีฉัตรกระหนาบ 2 ข้าง หมู่พระที่นั่งประกอบด้วยห้องโถงหลายห้องมีมุขที่ด้านหน้าขนาบอัฒจันทร์ซึ่งเป็นทางขึ้นอยู่ตรงกลาง อาคารด้านในเป็นอาคารขวาง เป็นท้องพระโรงซึ่งแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเป็นท้องพระโรงใหญ่สำหรับเสด็จออกว่าราชการ ตอนในเป็นท้องพระโรงเล็ก จากท้องพระโรงมีทางขึ้นไปสูระบียงอัฒจันทร์ชั้น 3 ซึ่งเป็นห้องบรรทม หมู่พระที่นั่งมีการใช้ซุ้มวงโค้งปลายแหลมและโค้งมนมาใช้ในการประดับอาคารซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะตะวันตกที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งทำให้เกิดความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมเดิมที่อยู่ใกล้เคียง