ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
คำสำคัญ : พระที่นั่ง, วังหน้า, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์, พระราชวังบวรสถานมงคล
ชื่อหลัก | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
---|---|
ชื่ออื่น | พระราชวังบวรสถานมงคล, วังหน้า |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.757913 Long : 100.492054 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661323.41 N : 1521406.09 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
ประวัติการสร้าง | พระที่นั่งพุทไธสวรรย์สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2338 เดิมมีนามว่าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีต่างๆ ต่อมาเมื่อเสด็จไปราชการทัพศึกพม่าครั้งที่ 3 พระยาเชียงใหม่ได้ถวายพระพุทธสิหิงค์ จึงได้อัญเชิญลงมาแล้วทรงอุทิศพระที่นั่งองค์นี้ให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ จนกระทั่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงได้ทรงปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนนามพระที่นั่งเป็นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า การปฏิสังขรณ์ในครั้งนั้นเป็นที่น่าชม เนื่องจากรักษาศิลปกรรมของเดิมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ซ่อมแซมเฉพาะที่ชำรุดเท่านั้น จึงทำให้ศิลปกรรมอันทรงคุณค่าแต่โบราณยังคงสืบมาจนทุกวันนี้ และได้ทรงวินิจฉัยว่าการเปลี่ยนนาม "พระที่นั่งสุทธาสวรรย์" เป็น "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์" อาจจะด้วยเหตุผล 3 ประการ ได้แก่ 1.เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีชื่อที่ใกล้เคียงกับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ดังนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพจึงทรงเปลี่ยนนามพระที่นั่งเพื่อให้แตกต่างไป 2. ทรงเปลี่ยนชื่อพระที่นั่งเป็น "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์" เพื่อให้ชื่อคล้องจองกันกับพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ 3. อาจเป็นพระราชดำริให้พระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปดังที่เคยเป็น จึงเปลี่ยนนามพระที่นั่งใหม่เป็น "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์" |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารยกพื้นสูง มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ช่อง ซุ้มประตูทรงบรรพแถลง มีเสาพาสี่เหลี่ยมโดยรอบอาคารและมีคันทวยไม้แกะสลักปิดทองรองรับชายคา เครื่องหลังคาประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องสีส้ม หลังคาซ้อนชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีคอสองหรือผนังที่คั่นจังหวะหลังคาออกเป็น 2 ส่วน หน้าบันพระที่นั่งทำด้วยไม้แกะสลักรูปพระพรหมสถิตในวิมาน 3 หลัง แวดล้อมด้วยลายกระหนกใบไม้ม้วนและเทพนม ปิดทองประดับกระจก |
สกุลช่าง | วังหน้าในรัชกาลที่ 1 |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมภายในพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้าที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ในปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงได้มาจากการเสด็จไปราชการทัพ เมื่อ พ.ศ.2338 ภายในพระที่นั่งมีภาพจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุมซึ่งเป็นฝีมือชั้นเอกในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คติการสร้างพระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคลมีความคล้ายคลึงกับพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง แต่มีฐานันดรศักดิ์ทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน โดยสังเกตได้จากเครื่องหลังคาที่ไม่สร้างเป็นเรือนยอดอย่างพระมหาปราสาท การใช้กระเบื้องหลังคาเพียงสีเดียว และเครื่องลำยองที่ไม่ประดับด้วยนาคสะดุ้ง เป็นต้น |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 24-25 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ศิลปะในราชสำนัก, พุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | ตำนานวังหน้า |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-05-30 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว.พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525). กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานวังหน้า. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2553. อลงกรณ์ เทียมจันทร์.จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2557. |