ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 33 ถึง 40 จาก 124 รายการ, 16 หน้า
ปราสาทสด๊อกก๊อกธม
สระแก้ว
สถาปัตยกรรมปราสาทสด๊อกก๊อกธม

ประกอบไปด้วยปราสาทประธานตั้งอยู่กึ่งกลางผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกทางเดียว อีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก ปราสาทประธานมีสภาพไม่สมบูรณ์ก่อด้วยศิลาทรายตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีเสานางเรียงหรือเสานางจรัลปักอยู่โดยรอบ มีบรรณาลัยสองหลังในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานตามลำดับ อาคารทั้งหมดนี้ถูกล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีประตูทางเข้าหรือที่เรียกว่าโคปุระทางทิศตะวันออก ส่วนระเบียงคดด้านทิศตะวันตกปรากฏห้องยาวคั่นอยู่กึ่งกลาง ส่วนพื้นที่ระหว่างระเบียงคดและกำแพงแก้วนั้นขุดคูน้ำล้อมรอบ กำแพงแก้วนั้นก่อด้วยศิลาแลง มีโคปุระหนึ่งหลังอยู่ทางทิศตะวันออกและมีฉนวนหรือทางเดินปูด้วยศิลาแลงเชื่อมต่อกันเป็นแนวตรงระหว่างโคปุระของระเบียงคดและโคปุระของกำแพงแก้ว มีเสานางเรียงปักตามแนวทั้งสองข้างทอดยาวไปจนถึงคันดินสระน้ำทางทิศตะวันออกนอกกำแพงแก้ว

พระบรมรูป 4 รัชกาล
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระบรมรูป 4 รัชกาล

พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3 มีขนาดเท่าพระองค์จริง หล่อด้วยสำริดเคลือบทองในพระราชอิริยาบถยืนตรง ทรงพระภูษาจีน มีสายรัดพระองค์และมีหัวพระปั้นเหน่งทับ ไม่ทรงฉลองพระองค์ ทรงพระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบเวียต และพระแสงดาบญี่ปุ่นตามลำดับ จะเห็นได้ว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงใช้วิธีการผสมผสานรูปลักษณ์ตามคติไทยลงไปในรูปเหมือนตามคติตะวันตก คือเน้นความเหมือนจริงของพระพักตร์ แต่พระวรกายในพระราชอิริยาบถยืนนั้นยังคงความเกลี้ยงเกลากลมกลืนดูสงบนิ่งแต่แฝงความศักดิ์สิทธิ์น่าเลื่อมใสศรัทธาตามแบบพระพุทธรูป ส่วนพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 นั้นเดิมหลวงเทพรจนา (พลับ) เป็นผู้ปั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ แก้ไขและเพิ่มรายละเอียด เช่น รอยย่นบนพระพักตร์ รอยยับของพระภูษาโจง และลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำให้ดูเหมือนจริงกว่าพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3

ปราสาทวัดพระพายหลวง
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมปราสาทวัดพระพายหลวง

ปราสาทวัดพระพายหลวงตั้งเป็นประธานของวัดพระพายหลวง ซึ่งเป็นวัดที่มีสิ่งก่อสร้างต่างๆ จำนวนมาก โดยสิ่งก่อสร้างเหล่านี้สร้างเสริมต่อเนื่องกันมาหลายยุค นับแต่ครั้งก่อนสุโขทัย สุโขทัยตอนต้น และสุโขทัยตอนปลาย ตัววัดล้อมรอบด้วยคู้น้ำ เรียกว่า ห้วยแม่โจนตัวปราสาทวัดพระพายหลวงเป็นปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูนและประดับปูนปั้น ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน เรียงตัวตามแนวเหนือใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทั้ง 3 หลังอยู่ในผังเพิ่มมุมปราสาทหลังกลางและใต้พังทลายลงเหลือเพียงฐานและเรือนธาตุ ปราสาทหลังเหนือยังสมบูรณ์จนถึงส่วนยอดที่เป็นชั้นซ่อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 4 ชั้น ยอดสุดเป็นกลศ จากสภาพปัจจุบันยังคงสังเกตเห็นได้ว่าปราสาทหลังกลางมีความสูงใหญ่กว่าอีก 2 หลัง ซึ่งเป็นระเบียบโดยทั่วไปของศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมร งานปูนปั้นประดับดั้งเดิมยังคงเห็นชัดเจนได้ที่ปราสาทหลังเหนือ (ลายปูนปั้นหลายส่วนปั้นใหม่โดยกรมศิลปากร) ที่น่าสนใจคือภาพพุทธประวัติที่หน้าบัน ทิศใต้เป็นตอนปลงพระเกศา ทิศเหนือเป็นตอนกองทัพพญามารกำลังผจญพระพุทธเจ้า และทิศตะวันตกน่าจะเป็นตอนชนะมารและตรัสรู้

เจดีย์รายวัดเจดีย์เจ็ดแถว
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมเจดีย์รายวัดเจดีย์เจ็ดแถว

เจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์นี้ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูน และประดับปูนปั้น องค์ประกอบโดยรวมประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และยอด โดยส่วนฐานมีฐานเขียงและฐานบัวลูกฟักเป็นส่วนสำคัญ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยม กลางด้านทั้งสี่ประดับด้วยซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งประกอบด้วยองค์ระฆังกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ที่มุมทั้งสี่มียอดเจดีย์เล็กๆวางตั้งอยู่ เมื่อนับรวมกับยอดกลางทำให้มีทั้งสิ้น 5 ยอด เหนือองค์ระฆังของยอดกลางเป็นองค์ระฆังขนาดเล็กกว่าลดหลั่นขึ้นไป ไม่ได้เป็นบัลลังก์และปล้องไฉนเหมือนที่พบทั่วไป

เจดีย์รายทรงปราสาทยอดวัดเจดีย์เจ็ดแถว
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมเจดีย์รายทรงปราสาทยอดวัดเจดีย์เจ็ดแถว

เจดีย์รายทรงปราสาทยอดตั้งเรียงรายรอบๆ เจดีย์ประธานและวิหาร ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูน และประดับปูนปั้น องค์ประกอบโดยรวมประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และยอด โดยส่วนฐานมีฐานบัวในผังสี่เหลี่ยมเป็นส่วนสำคัญ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุในผังเพิ่มมุมหรือย่อมุม ด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องคูหา ส่วนด้านอื่นๆ เป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนยอดเป็นชั้นซ้อน 2 ชั้น ต่อด้วยระเบียบของเจดีย์ทรงกลมศิลปะสุโขทัย คือ บัวถลา บัวปากระฆัง องค์ระฆัง และส่วนยอดสุดที่พังทลายแล้ว

ปราสาทภูมิโปน
สุรินทร์
สถาปัตยกรรมปราสาทภูมิโปน

ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วยอาคารขนาดต่างๆ เรียงตัวกันตามแนวเหนือ-ใต้ 4 หลัง อาคารหลังอื่นๆ ยกเว้นปราสาทประธานเหลือแต่เพียงส่วนฐาน ในขณะที่ปราสาทประธานมีสภาพสมบูรณ์จนถึงยอดปราสาทปราสาทประธานก่อด้วยอิฐเป็นวัสดุหลัก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผนังด้านตะวันออกเป็นประตูสู่ครรภคฤหะ ผนังด้านอื่นๆ อีกสามด้านเป็นประตูหลอก มุมทั้งสี่ตกแต่งเป็นเสาอิงหรือเสาหลอก เหนือขึ้นไปเป็นหลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 2-3 ชั้น ภายในครรภคฤหะมีสภาพเป็นหลุมขนาดใหญ่ ไม่พบแท่นฐานและรูปเคารพดั้งเดิม มุมทั้งสี่มีรอยหลุมเสา ผนังด้านเหนือมีท่อโสมสูตรหินทรายฝังอยู่ภายใน

เจดีย์วัดแก้ว
สุราษฎร์ธานี
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดแก้ว

เจดีย์วัดแก้วเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ส่วนยอดที่หักหายน่าจะเป็นชั้นซ้อนต่อด้วยองค์ระฆัง คล้ายคลึงกับจันทิในศิลปะชวาภาคกลาง และเป็นทำนองเดียวกันกับพระบรมธาตุไชยาแต่ขนาดใหญ่กว่า ก่อด้วยอิฐและฉาบปูน องค์ประกอบสำคัญประกอบด้วยฐานขนาดใหญ่รองรับองค์เจดีย์ ตัวเจดีย์เป็นทรงปราสาทที่ส่วนยอดพังทลายลงแล้ว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแผนผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม กลางด้านทั้งสี่เป็นมุข ฌเบมุขด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องครรภคฤหะ ในขณะที่มุขอีก 3 ด้านเป็นห้องประดิษฐานรูปเคารพ เทียบได้กับแผนผังของจันทิในศิลปะชวาภาคกลางหลายแห่ง ผนังของเรือนธาตุยังประดับตกแต่งด้วยเสาอิงหรือเสาหลอกด้วย

พระบรมธาตุไชยา
สุราษฎร์ธานี
สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุไชยา

พระบรมธาตุไชยาเป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มียอดเป็นองค์ระฆัง ก่ออิฐถือปูน ด้านล่างสุดเป็นฐานไพที มีแผนผังสี่เหลี่ยมประดับด้วยเสาหลอกหรือเสาอิงเป็นระยะ มียกเก็จทางด้านตะวันออก มีบันไดทางขึ้นสู่เรือนธาตุอยู่ทางด้านตะวันออกนี้ ด้านบนของฐานไพทีนอกจากจะมีเจดีย์ทรงปราสาทยอดเป็นองค์ระฆังแล้ว ยังแวดล้อมด้วยเจดีย์ทรงกลมตั้งบนฐานบัวสี่เหลี่ยม 6 องค์เจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์ระฆังอันเป็นส่วนสำคัญที่สุดประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และส่วนยอด ส่วนฐานเป็นฐานบัวที่มีแผนผังยกเก็จล้อตามแผนผังของเรือนธาตุ โดยตัวเรือนธาตุมีแผนผังสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและมุมทั้งสี่ เก็จที่กลางด้านทั้งสี่ของเรือนธาตุเป็นมุขยื่นยาว มุขด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องครรภคฤหะ ในขณะที่มุขอีก 3 ด้านทึบตัน เก็จที่มุมทั้งสี่ของเรือนธาตุเป็นเสาอิงหรือเสาหลอก ส่วนยอดถัดขึ้นไปจากส่วนเรือนธาตุ ประกอบด้วยชั้นซ้อน 2 ชั้น แต่ละชั้นมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยมซึ่งมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบ จากนั้นเป็นบัวคลุ่ม องค์ระฆังแปดเหลี่ยม บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลี อันเป็นระเบียบของเจดีย์ทรงกลม