ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธาน
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ฐานล่างเป็นฐานเขียง 1 ฐานในผังสี่เหลี่ยมต่อด้วยฐานบัวคว่ำอีก 1 ฐานรองรับด้วยลูกแก้วอกไก่ขนาดใหญ่ 1 ลูกรองรับฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ในผังยกเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย เรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมมีการยกเก็จเพื่อออกซุ้มจระนำ เรือนธาตุประดับด้วยบัวเชิง ลูกแก้วอกไก่มีการตวัดปลายเล็กน้อย และบัวรัดเกล้า ยังมีร่องรอยของการประดับด้วยลายกาบบนและกาบล่าง ส่วนยอดมีหลังคาเอนลาด ต่อด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ในผัง 12 เหลี่ยม 3 ฐาน โดยประดับลูกแก้วอกไก่เฉพาะฐานล่างเท่านั้น ส่วนรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังกลม องค์ระฆังในผังกลม บัวแวงหรือปัทมบาท ปล้องไฉนและปลียอด ส่วนยอดมีฉัตร
สถาปัตยกรรมพระธาตุเจดีย์องค์เล็ก
ฐานล่างเป็นฐานเขียงในผังแปดเหลี่ยมต่อด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้ว 2 เส้นในผังแปดเหลี่ยม มีซุ้มประดับที่ด้านทั้ง 4 เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำสลับกับลูกแก้ว 2 เส้น 3 ฐาน ต่อด้วยฐานกลีบบัว 2 ฐานรองรับองค์ระฆังกลมมีการประดับรัดอกและบัวคอเสื้อต่อด้วยปล้องไฉน ปัทมบาทและปลียาว
สถาปัตยกรรมพระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีฐานเขียง 2 ฐานเป็นฐานรองล่างในผังสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม 3 ฐาน โดยฐานชั้นที่ 1 ปรากฏเพียงส่วนบนเท่านั้น มีการประดับด้วยสิงห์นั่งที่พื้น ถัดขึ้นมาคือนรสิงห์บนฐานรองล่าง ต่อด้วยปูรณะฆฏะ 2 ชั้น ด้านบนสุดประดับสถูปิกะ ถัดไปเป็นฐานสี่เหลี่ยมลบมุมต่อด้วยบัวปากระฆัง องค์ระฆังในผังกลมค่อนข้างเตี้ยมีรัดอกประดับลายกระทง ถัดขึ้นไปเป็นกลีบบัวรองรับปล้องไฉนทรงกรวยเตี้ย ปัทมบาทและปลีสั้น ส่วนยอดสุดประดับฉัตร
สถาปัตยกรรมเจดีย์ทรงระฆัง วัดกิตติ
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม มีฐานเขียงรองรับฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ 1 เส้น 2 ฐานยืดท้องไม้สูงในผังยกเก็จ ต่อด้วยฐานหน้ากระดานกลมรองรับชุดฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น 3 ฐาน ต่อด้วยบัวปากระฆัง องค์ระฆังในผังกลมมีรัดอก ต่อด้วยบัลลังก์ในผังเพิ่มมุม ก้านฉัตร ปล้องไฉน
สถาปัตยกรรมเจดีย์เชียงยัน
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียง 3 ฐานรองรับฐานบัวคว่ำบัวหงายยืดท้องไม้สูงคาดลูกแก้วอกไก่ 3 เส้น รองรับด้วยเรือนธาตุที่มีซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้านมีการประดับลายปูนปั้นที่ซุ้ม เหนือขึ้นไปเป็นเจดีย์จำลองหรือ สถูปิกะที่มุมทั้ง 4 ที่กึ่งกลางเป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลมมีการประดับรัดอกต่อด้วยบัวคลุ่มสลับกับลูกแก้ว ยอดสุดหักหายไป
สถาปัตยกรรมปราสาทนารายณ์เจงเวง
ปราสาทนารายณ์เจงเวง เป็นปราสาทหลังเดี่ยว ก่อด้วยหินทราย ทั้งหลัง ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษ เนื่องจากปราสาทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนหลังอื่นๆมักใช้วัสดุอื่นหรือวัสดุผสม ถ้าอนุมานจากรายละเอียดของภาพสลักและการใช้วัสดุ ย่อมแสดงใหเห็นว่าปราสาทแห่งนี้มีความพิเศษที่แตกต่างไปจากปราสาทในบริเวณเดียวกัน เช่น ปราสาทพระธาตุดุม และปราสาทภายในพระธาตุเชิงชุมแผนผังปราสาทประกอบด้วยห้องครรภคฤหะและมีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศตะวันออก มีประตูทางด้านหน้าเพียงทิศเดียว ส่วนทิศอื่นเป็นประตูหลอก ซื่งปรากฏโดยปกติกับปราสาทในศิลปะบาปวนและนครวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย สิ่งที่น่าสนใจสำหรับปราสาทแห่งนี้ก็คือยังคงปรากฏโสมสูตรที่ประตูหลอกทางด้านทิศเหนือ ภาพสลักส่วนมากเป็นภาพเล่าเรื่องในไวษณพนิกาย เช่น นารายณ์บรรทมสินธุ์ พระกฤษณะปราบสิงห์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หน้าบันกลางกลับแสดงภาพศิวนาฏราชซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าปราสาทแห่งนี้สร้างเพื่ออุทิศให้กับไศวนิกายมากกว่า
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังในวิหารน้ำแต้ม
ลักษณะในการเขียนจิตรกรรมในวิหารน้ำแต้มใช้สีพหุรงค์ประด้วยสีแดง สีเขียวเหลือง สีดำและขาว ตัวบุคคลชั้นสูงแต่งกายแบบพม่า ชาวบ้านแต่งกายแบบพื้นเมืองล้านนาและพม่า ภาพทิวทัศน์แสดงแนวเส้นเลื่อนไหล มีเส้นแบ่งภาพเป็นเส้นโค้ง มีจารึกบอกเรื่องราวเป็นอักษรธรรมล้านนา เรื่องราวที่เขียนเป็นเรื่องมาฆมาณพหรือประวัติพระอินทร์ และเรื่องสามาวดีซึ่งเป็นเรื่องราวในอรรถกถาบาลี มีการเขียนภาพไตรภูมิ ซึ่งแสดงเป็นแท่งเสา ตรงกลางเป็นวิมานของพระอินทร์ในสุทัศนนครบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระอาทิตย์และพระจันทร์โคจรอยู่รอบๆ
ประติมากรรมพระเจ้าล้านทอง
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่ กรอบพระพักตร์เล็ก ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระนลาฏแคบ พระโอษฐ์เล็กมีร่องด้านข้าง พระวรกายบอบบาง สังฆาฏิแผ่นใหญ่ปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบประทับนั่งบนฐานบัหงายมีกลีบขนาดใหญ่และเกสรบัว ประดิษฐานภายในกู่ปราสาท