ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เจดีย์เชียงยัน

คำสำคัญ : เจดีย์ทรงปราสาท, ศิลปะล้านนา, เจดีย์เชียงยัน, วัดพระธาตุหริภุญชัย, เจดีย์แม่ครัว

ชื่อเรียกอื่นเจดีย์แม่ครัว
ชื่อหลักวัดพระธาตุหริภุญชัย
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลในเมือง
อำเภอเมือง
จังหวัดลำพูน
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 18.577749
Long : 99.008057
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 500850.1
N : 2054107.35
ตำแหน่งงานศิลปะตั้งอยู่นอกกำแพงวัดพระธาตุหริภุญชัยทางทิศเหนือ ในพื้นที่ของสนามบาสเกตบอล โรงเรียนเมธีวุฒิกร

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏประวัติการสร้างแต่จากรูปแบบศิลปกรรมสามารถกำหนดอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 19

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการขุดค้นศึกษาที่ฐานเจดีย์ด้านทิศตะวันตก พบโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น ประติมากรรมพระพุทธเจ้าปางประสูติ เทวดาพนมมือ ใบหอก

ปี พ.ศ. 2550 ได้ทำการขุดแต่งเพื่อบูรณะลานประทักษิณ พบแนวอิฐที่น่าจะเป็นทางเชื่อมไปยังเขตพุทธาวาสทางทิศใต้
ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียง 3 ฐานรองรับฐานบัวคว่ำบัวหงายยืดท้องไม้สูงคาดลูกแก้วอกไก่ 3 เส้น รองรับด้วยเรือนธาตุที่มีซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้านมีการประดับลายปูนปั้นที่ซุ้ม เหนือขึ้นไปเป็นเจดีย์จำลองหรือ สถูปิกะที่มุมทั้ง 4 ที่กึ่งกลางเป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลมมีการประดับรัดอกต่อด้วยบัวคลุ่มสลับกับลูกแก้ว ยอดสุดหักหายไป

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เจดีย์ทรงปราสาทระยะแรกในศิลปะล้านนาที่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมในระยะหลัง

ข้อสังเกตอื่นๆ

1. จากการที่เจดีย์องค์นี้มีการยกฐานสูงและส่วนของจตุรมุขซุ้มจระนำทั้ง 4 หดสั้นเข้ามาเป็นซุ้มประดับเรือนธาตุ ทำให้น่าจะมีอายุหลังกว่าเจดีย์ที่วัดเกาะกลาง

2. ส่วนฐานบัวยอดท้องไม้สูงคาดลูกแก้วอกไก่ 3 เส้นเป็นลักษณะที่ไม่เคยปรากฏในศิลปะล้านนา ซึ่งอาจเกิดจากการซ่อมแซมในสมัยหลัง โดยรูปแบบเดิมน่าจะเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ 1 เส้น

3. ลวดลายปูนปั้นที่ปรากฏบนองค์เจดีย์ล้วนเป็นลายเครือล้านนา ซึ่งมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 21 ทั้งสิ้นแสดงถึงการบูรณะซ่อมแซมเจดีย์ในช่วงเวลานี้ด้วย
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะล้านนา
อายุพุทธศตวรรษที่ 19
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ตามตำนานกล่าวว่าเจดีย์องค์นี้สร้างโดยแม่ครัวที่เลี้ยงพวกที่สร้างพระธาตุหริภุญชัยและสุวรรณเจดีย์โดยนำอิฐที่เหลือจากการสร้างสุวรรณเจดีย์มาสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 17 แต่จากหลักฐานในปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานที่เก่าไปถึงช่วงเวลาที่สร้างนั้น

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. เจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด วัดสองพี่น้อง เมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ตัวอย่างเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดในศิลปะล้านนาที่มีอายุสมัยใกล้เคียงกัน

2. เจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ตัวอย่างเจดีย์ทรงปราสาทยอดในศิลปะสุโขทัยที่ได้รับอิทธิพลมาจากสายเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดในศิลปะล้านนา

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-05-30
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศิลปากร, กรม. การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในเขตรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรม, 2525.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556.

เพ็ญสุภา สุคตะ ใจอินทร์. พระธาตุหริภุญไชย. กรุงเทพฯ: สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2553.

วิชัย ตันกิตติกร. “เจดีย์เชียงยัน อีกแง่มุมหนึ่งของการพิจารณาทางรูปแบบ.” เมืองโบราณ. 17, 2 (เมษายน – มิถุนายน 2534), 48 – 53.