ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 13 รายการ, 2 หน้า
ปราสาทบ้านพลวง
สุรินทร์
สถาปัตยกรรมปราสาทบ้านพลวง

เป็นปราสาทขนาดเล็กหลังเดียวสร้างจากหินทราย ตั้งอยู่บนฐานไพทีรูปกากบาทขนาดใหญ่ที่สร้างจากศิลาแลง การที่ฐานศิลาแลงนี้มีปีก 2 ข้างซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าตัวปราสาทมากจึงทำให้คิดไปได้ว่าอาจเคยมีแผนในการสร้างปราสาทบริวารด้วย แต่ปัจจบันไม่ปรากฏแล้ว โดยที่ไม่ทราบว่าเนื่องจากปราสาทดังกล่าวไม่เคยสร้างเสร็จ หรือเคยเป็นไม้จึงได้สูญหายไปหมดแล้วปราสาทหลังนี้เป็นตัวอย่างปราสาทขนาดเล็กที่มีภาพสลักที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ประตูหลักอยู่ทางทิศตะวันออกในขณะที่อีกสามด้านเป็นประตูหลอก ตัวปราสาทมีภาพสลักในศิลปะร่วมแบบบาปวนอย่างงดงามทั้งบนทับหลังและหน้าบันอันทำให้พอกำหนดอายุได้ว่าอาจมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 สำหรับยอดของปราสาทนั้นอาจเป็นไปได้ที่เคยก่อด้วยอิฐมาก่อน เมื่อเวลาผ่านไปจึงสูญหายไปตามกาลเวลาทับหลังของปราสาทหลังนี้มักประกอบด้วยหน้ากาลแลบลิ้นสามเหลี่ยมคายท่อนพวงมาลัยตามแบบบาปวนโดยทั่วไป บางครั้งทับหลังก็มีพวงอุบะมาแบ่งตรงเสี้ยว บางครั้งก็ไม่มีซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นการพิสูจน์ว่าทับหลังแบบมีเสี้ยวและไม่มีเสี้ยวนั้นได้รับความนิยมในระยะร่วมสมัยกันส่วนหน้าบันนั้นมีลักษณะเป็นแบบบาปวนโดยทั่วไปเช่นกัน กล่าวคือ มีกรอบหน้าบันเป็นรูปก้านต่อดอกหันหัวลง มีนาคที่มีกระบังหน้า ภายในหน้าบันประกอบด้วยลายพรรณพฤกษาที่มีหน้ากาลคายอยู่เบื้องล่าง อนึ่ง เนื่องจากนาคปลายกรอบหน้าบันเริ่มมีกระบังหน้าแล้ว จึงอาจเป็นไปได้ที่ปราสาทหลังนี้คงมีอายุอยู่ในสมัยบาปวนตอนปลาย และอาจมีอายุหลังจากปราสาทเขาพระวิหารและปราสาทเมืองต่ำเล็กน้อย ทั้งหน้าบันและทับหลังของปราสาทหลังนี้ แสดงภาพพระกฤษณะในตอนต่างๆ เช่น กฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ และกฤษณะปราบนาคกาลียะ นอกจากนี้ยังปรากฏภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในหลายจุดอีกด้วย

ปราสาทตาเมือนธม
สุรินทร์
สถาปัตยกรรมปราสาทตาเมือนธม

ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง 3 องค์ ประกอบด้วยปราสาทประธานขนาดใหญ่ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ภายในห้องกลางปราสาทประดิษฐานศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ลักษณะของศิวลึงค์นี้ตกแต่งจากแท่งหินทรายธรรมชาติที่มีรูปร่างคล้ายศิวลึงค์ที่ตั้งอยู่บริเวณนี้มาแต่เดิม ภายหลังจึงสร้างปราสาทครอบ สันนิษฐานว่านี้น่าจะเป็นศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเอง เรียกว่า “สวายัมภูลึงค์” ซึ่งเป็นศิวลึงค์ที่สำคัญที่สุดของลัทธิไศวนิกาย ตัวปราสาทมีซุ้มประตู 4 ทิศ ประตูมุขด้านทิศใต้ต่อเข้ากับมุขหน้าหรือมณฑปยื่นออกมา โดยแบ่งเป็น 3 คูหา หลังคาทำด้วยหินทราย ปราสาทประธานมีการสลักลวดลายที่บริเวณฐาน โดยสลักเป็นรูปเทวรูปยืน นอกจากนี้ยังพบทับหลังหินทรายสลักภาพเทวดานั่งชันเข่าอยู่ภายในซุ้มบนแท่นเหนือหน้ากาลที่คายท่อนพวงมาลัยปราสาทบริวาร หรือ ปรางค์น้อยมี 2 องค์ สร้างด้วยหินทราย ตั้งอยู่ด้านหลังเยื้องไปทางซ้ายและขวาของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีซุ้มประตูเข้าออกอยู่ด้านทิศใต้ ส่วนอีก 3 ด้านทำเป็นประตูหลอกบรรณาลัย จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยศิลาแลง หลังหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนอีกหลังหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสปราสาทประธาน ปรางค์บริวาร และบรรณาลัย มีระเบียงคดล้อมรอบ ซุ้มประตูหรือโคปุระสร้างด้วยหินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีช่องทางเดินภายในกว้างประมาณ 1.40 เมตร มีซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน โดยซุ้มประตูด้านทิศเหนือ ตะวันออก และตะวันตก มีลักษณะเหมือนกัน ส่วนซุ้มประตูด้านทิศใต้จะมีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นซุ้มประตูหลัก โดยแบ่งออกเป็น 3 คูหา คูหากลางมีแผนผังเป็นรูปกากบาท มีหน้าต่างติดลูกกรงหินและบริเวณระเบียงคดนี้ได้พบศิลาจารึกอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ใช้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 มีเนื้อหากล่าวสรรเสริญพระศิวะและกล่าวถึงนามของทาสและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรักษาเทวสถานแห่งนี้ นอกจากนี้ยังพบท่าน้ำสร้างด้วยหินทรายนอกระเบียงคดด้านทิศใต้ ห่างออกไปประมาณ 10 เมตร และสระน้ำกรุด้วยศิลาแลงสอบลงไปถึงก้นสระ อยู่บริเวณนอกระเบียงคดทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ปราสาทนารายณ์เจงเวง
สกลนคร
สถาปัตยกรรมปราสาทนารายณ์เจงเวง

ปราสาทนารายณ์เจงเวง เป็นปราสาทหลังเดี่ยว ก่อด้วยหินทราย ทั้งหลัง ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษ เนื่องจากปราสาทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนหลังอื่นๆมักใช้วัสดุอื่นหรือวัสดุผสม ถ้าอนุมานจากรายละเอียดของภาพสลักและการใช้วัสดุ ย่อมแสดงใหเห็นว่าปราสาทแห่งนี้มีความพิเศษที่แตกต่างไปจากปราสาทในบริเวณเดียวกัน เช่น ปราสาทพระธาตุดุม และปราสาทภายในพระธาตุเชิงชุมแผนผังปราสาทประกอบด้วยห้องครรภคฤหะและมีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศตะวันออก มีประตูทางด้านหน้าเพียงทิศเดียว ส่วนทิศอื่นเป็นประตูหลอก ซื่งปรากฏโดยปกติกับปราสาทในศิลปะบาปวนและนครวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย สิ่งที่น่าสนใจสำหรับปราสาทแห่งนี้ก็คือยังคงปรากฏโสมสูตรที่ประตูหลอกทางด้านทิศเหนือ ภาพสลักส่วนมากเป็นภาพเล่าเรื่องในไวษณพนิกาย เช่น นารายณ์บรรทมสินธุ์ พระกฤษณะปราบสิงห์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หน้าบันกลางกลับแสดงภาพศิวนาฏราชซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าปราสาทแห่งนี้สร้างเพื่ออุทิศให้กับไศวนิกายมากกว่า

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

โขนเรือเป็นประติมากรรมรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงเทพศัตราได้แก่ ตรี คฑา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์และมงกุฎยอดชัย ประทับยืนเหนือครุฑ ไม้หัวเรือแกะสลักปิดทองร่องชาดประดับกระจกสีขาบ พื้นลำเรือทาสีแดง ลำเรือประดับลายก้านขดกระหนกเทศ กลางลำเรือประดับบัลลังก์กัญญา ท้ายเรือพระที่นั่งตลอดปลายประดับลวดลายกระหนกแทนขนปีกและหางครุฑ

พระวิษณุ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระวิษณุ

พระวิษณุอยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานหน้ากระดาน สวมมงกุฎทรงกระบอกหรือกิรีฏมกุฏเกลี้ยง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดของพระวิษณุรุ่นแรกๆ ในดินแดนไทย สัมพันธ์กับพระวิษณุในศิลปะอินเดียแบบปัลลวะพระองค์มี 4 พระกร พระกรขวาหน้าทอดลงจรดพระโสณี (สะโพก) เชื่อว่าเดิมทีเชื่อว่าเคยถือสัญลักษณ์ก้อนดินไว้ในพระหัตถ์ แต่ปัจจุบันชำรุดไปแล้ว พระกรซ้ายหน้าทอดลงจรดพระโสณีและถือตะบองไว้ในพระหัตถ์ แต่ปัจจุบันตะบองชำรุดไปแล้วเหลือแต่เพียงส่วนปลายที่ติดกับฐานหน้ากระดานและโคนที่ติดกับพระหัตถ์ พระกรขวาหลังและพระกรซ้ายหลังหักหายไปหมดแล้ว เมื่อเทียบกับประติมากรรมพระวิษณุอื่นๆ เชื่อว่าทั้ง 2 ข้างยกขึ้น ข้างขวาถือจักร ข้างซ้ายถือสังข์ การถือสิ่งของทั้ง 4 ชนิดในตำแหน่งพระหัตถ์ข้างต้นนี้เป็นแบบแผนของศิลปะอินเดียแบบปัลลวะ พระวรกายช่วงบนเปล่าเปลือย ช่วงล่างสวมผ้านุ่งยาวหรือที่เรียกว่า “โธตี” มีผ้าภูษาคาดพระโสณี (สะโพก) เป็นแนวตรง ประติมากรผู้สลักพระวิษณุองค์นี้คงมีกังวลว่าจะชำรุดแตกหักได้ง่าย พระกรปกติทั้ง 2 ข้างจึงเชื่อมติดกับพระโสณี (สะโพก) และยังใช้จุดรับน้ำหนัก 5 จุด ได้แก่ พระบาท 2 ข้าง แถบหน้านางอยู่ตรงกลาง ชายผ้าภูษาพันรอบพระโสณี (สะโพก) อยู่ทางขวา และตะบองอยู่ทางซ้าย

พระวิษณุ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระวิษณุ

พระวิษณุอยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานหน้ากระดาน สวมมงกุฎทรงกระบอกหรือกิรีฏมกุฏเกลี้ยง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดของพระวิษณุรุ่นแรกๆ ในดินแดนไทย ทั้งสัมพันธ์กับพระวิษณุในศิลปะอินเดียแบบปัลลวะพระองค์มี 4 พระกร พระกรขวาหน้าทอดลงจรดผ้าภูษาคาดพระโสณี เชื่อว่าเดิมทีเชื่อว่าเคยถือสัญลักษณ์ก้อนดินไว้ในพระหัตถ์ แต่ปัจจุบันชำรุดไปแล้ว พระกรซ้ายหน้าทอดลงและถือตะบองไว้ในพระหัตถ์ แต่ปัจจุบันตะบองชำรุดไปแล้วเหลือแต่เพียงส่วนปลายที่ติดกับฐานหน้ากระดานและโคนที่ติดกับพระหัตถ์ พระกรขวาหลังและพระกรซ้ายหลังหักหายไปหมดแล้ว เมื่อเทียบกับประติมากรรมพระวิษณุอื่นๆ เชื่อว่าทั้ง 2 ข้างยกขึ้น ข้างขวาถือจักร ข้างซ้ายถือสังข์ การถือสิ่งของทั้ง 4 ชนิดในตำแหน่งพระหัตถ์ข้างต้นนี้เป็นแบบแผนของศิลปะอินเดียแบบปัลลวะ พระวรกายช่วงบนเปล่าเปลือย ช่วงล่างสวมผ้านุ่งยาวหรือที่เรียกว่า “โธตี” มีผ้าภูษาคาดพระโสณี (สะโพก) เป็นแนวเฉียงประติมากรผู้สลักพระวิษณุองค์นี้คงมีกังวลว่าจะชำรุดแตกหักได้ง่าย พระกรปกติข้างหนึ่งจึงยึดติดกับชายผ้าคาดพระโสณี และอีกข้างหนึ่งจึงยึดติดกับตะบองซึ่งเชื่อมต่อกับพระโสณีและฐานอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้แถบหน้านางที่พาดผ่านตรงกลางผ้านุ่งแทนที่จะมีส่วนปลายสิ้นสุดเพียงตำแหน่งชายผ้านุ่ง แต่กลับตั้งใจให้ยาวจรดฐาน ทำให้พระวิษณุองค์นี้มีจุดรับน้ำหนัก 4 จุด ได้แก่ พระบาท 2 ข้าง แถบหน้านาง และตะบอง

พระวิษณุ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระวิษณุ

พระวิษณุองค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตรง สวมมงกุฎทรงกระบอกหรือกิรีฏมกุฏ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดของพระวิษณุรุ่นแรกๆ ในดินแดนไทยพระองค์มี 4 พระกรตามแบบแผนทางประติมานวิทยาของพระวิษณุ พระกรขวาหน้าแสดงปางประทานอภัย พระหัตถ์ขวาหลังถือตะบอง พระหัตถ์ซ้ายหน้าถือสังข์ในระดับพระโสณี (สะโพก) พระหัตถ์ซ้ายหลังหักหายซึ่งแต่เดิมควรถือจักร ท่าทางและการถือสิ่งของในตำแหน่งข้างต้นนี้มีมาก่อนแล้วในรูปพระวิษณุในศิลปะอินเดียภาคเหนือรุ่นก่อนพุทธศตวรรษที่ 10 พระวรกายช่วงบนเปล่าเปลือย ช่วงล่างสวมผ้านุ่งยาวหรือที่เรียกว่า “โธตี” บางแนบพระวรกายจนเห็นสรีระภายใน มีชายผ้าคาดพระโสณี (สะโพก) รูปวงโค้งพาดผ่านเหนือพระอุรุ (ต้นขา) ลักษณะเช่นนี้เทียบได้กับศิลปะอินเดียภาคใต้ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 10

พระวิษณุ
ปราจีนบุรี
ประติมากรรมพระวิษณุ

ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมที่เทียบได้กับเทวรูปยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในดินแดนไทย และเทวรูปศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร ทำให้กำหนดอายุพระวิษณุองค์นี้ได้ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13