ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระวิษณุ
คำสำคัญ : พระวิษณุ, พระนารายณ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ชื่อเรียกอื่น | พระนารายณ์ |
---|---|
ชื่อหลัก | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.7576 Long : 100.492222 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661329.97 N : 1521418.09 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ภายในห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
ประวัติการสร้าง | ไม่ปรากฏหลักฐานลายลักษณ์อักษรระบุถึงประวัติการสร้างพระวิษณุองค์นี้ แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับประติมากรรมพระวิษณุในประเทศอินเดียช่วงราชวงศ์ปัลลวะ ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 จึงเชื่อว่าพระวิษณุองค์นี้น่าจะสร้างขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว หรือสร้างภายหลังไม่นาน |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | สลักหิน |
ประวัติการอนุรักษ์ | ค้นพบจากวัดเวียงสระ อำเภอบ้านนา จังหวัดสุราษฎร์ธานี |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระวิษณุอยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานหน้ากระดาน สวมมงกุฎทรงกระบอกหรือกิรีฏมกุฏเกลี้ยง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดของพระวิษณุรุ่นแรกๆ ในดินแดนไทย สัมพันธ์กับพระวิษณุในศิลปะอินเดียแบบปัลลวะ พระองค์มี 4 พระกร พระกรขวาหน้าทอดลงจรดพระโสณี (สะโพก) เชื่อว่าเดิมทีเชื่อว่าเคยถือสัญลักษณ์ก้อนดินไว้ในพระหัตถ์ แต่ปัจจุบันชำรุดไปแล้ว พระกรซ้ายหน้าทอดลงจรดพระโสณีและถือตะบองไว้ในพระหัตถ์ แต่ปัจจุบันตะบองชำรุดไปแล้วเหลือแต่เพียงส่วนปลายที่ติดกับฐานหน้ากระดานและโคนที่ติดกับพระหัตถ์ พระกรขวาหลังและพระกรซ้ายหลังหักหายไปหมดแล้ว เมื่อเทียบกับประติมากรรมพระวิษณุอื่นๆ เชื่อว่าทั้ง 2 ข้างยกขึ้น ข้างขวาถือจักร ข้างซ้ายถือสังข์ การถือสิ่งของทั้ง 4 ชนิดในตำแหน่งพระหัตถ์ข้างต้นนี้เป็นแบบแผนของศิลปะอินเดียแบบปัลลวะ พระวรกายช่วงบนเปล่าเปลือย ช่วงล่างสวมผ้านุ่งยาวหรือที่เรียกว่า “โธตี” มีผ้าภูษาคาดพระโสณี (สะโพก) เป็นแนวตรง ประติมากรผู้สลักพระวิษณุองค์นี้คงมีกังวลว่าจะชำรุดแตกหักได้ง่าย พระกรปกติทั้ง 2 ข้างจึงเชื่อมติดกับพระโสณี (สะโพก) และยังใช้จุดรับน้ำหนัก 5 จุด ได้แก่ พระบาท 2 ข้าง แถบหน้านางอยู่ตรงกลาง ชายผ้าภูษาพันรอบพระโสณี (สะโพก) อยู่ทางขวา และตะบองอยู่ทางซ้าย |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | เป็นตัวอย่างพระวิษณุรุ่นแรกๆ ในภาคใต้และดินแดนไทย ที่อยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ศรีวิชัย |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 12-14 |
ศาสนา | พราหมณ์-ฮินดู |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ศาสนาพราหมณ์ |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | พระวิษณุจากเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-10-13 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ฉบับคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528. พิริยะ ไกรฤกษ์. ศิลปะทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2523. O’Conner, Stanley J., Hindu Gods of Peninsular Siam. Ascona: Artibus Asiae Publishers, 1972. |