ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

คำสำคัญ : รัชกาลที่ 9, เรือพระที่นั่ง, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลอรุณอมรินทร์
อำเภอเขตบางกอกน้อย
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.761978
Long : 100.484572
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 660500.27
N : 1521897.22
ตำแหน่งงานศิลปะภายในอู่เรือพระราชพิธี

ประวัติการสร้าง

พ.ศ. 2537 กองทัพเรือและกรมศิลปากรได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเพื่อสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปีที่ 50 ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยกองทัพเรือจัดสร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือ พาย และคัดฉาก กรมศิลปากรดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้าง และพระราชทานชื่อเรือว่า "เรือพระที่นั่ง นารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9"

การสร้างโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 มีต้นแบบจากโขนเรือพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีชื่อว่า เรือมงคลสุบรรณ ซึ่งมีโขนเรือเป็นรูปครุฑพ่าห์ มีช่องกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ที่ใต้ครุฑ ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ได้มีพระราชดำริให้เสริมรูปพระนารายณ์ยืนประทับบนหลังครุฑเพื่อความสง่างามของลำเรือ และเพื่อให้ต้องตามคติในศาสนาพราหมณ์ ประติมากรรมพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 4 นั้น สร้างด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือ ณ กรมอู่ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2537 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ลงน้ำเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2539

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ไม้ตะเคียนทองแกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก

ขนาดความยาว 44.30 เมตร กว้าง 3.20 เมตร กินน้ำลึก 1.10 เมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

โขนเรือเป็นประติมากรรมรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงเทพศัตราได้แก่ ตรี คฑา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์และมงกุฎยอดชัย ประทับยืนเหนือครุฑ ไม้หัวเรือแกะสลักปิดทองร่องชาดประดับกระจกสีขาบ พื้นลำเรือทาสีแดง ลำเรือประดับลายก้านขดกระหนกเทศ กลางลำเรือประดับบัลลังก์กัญญา ท้ายเรือพระที่นั่งตลอดปลายประดับลวดลายกระหนกแทนขนปีกและหางครุฑ

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งลำแรกที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยรัฐบาลมอบหมายให้กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากรและสำนักพระราชวังจัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถลัวยราชสมบัติครบ 50 ปี ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539 ได้รับพระราชทานนามว่า เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 มีฐานะเป็นเรือพระที่นั่งรองทอดบัลลังก์กัญญา โขนเรือซึ่งเป็นรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณเป็นเทพเจ้าที่สำคัญในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีคติความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเปรียบประดุจพระนารายณ์อวตาร

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 26
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีในราชสำนัก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-08-01
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

ณัฏฐภัทร จันทวิช. เรือพระราชพิธี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2539 กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2556.