ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 17 ถึง 24 จาก 62 รายการ, 8 หน้า
บานประตูประดับมุกลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมบานประตูประดับมุกลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์

บานประตูพระอุโบสถบานซ้ายและขวามีลวดลายประดับมุกเป็นแบบเดียวกันคือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้ง 5 ตระกูล ได้แก่1.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์2.เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์3.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า4.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก5.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยลายทั้งหมดประกอบด้วยมุกที่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เรียงกันเป็นรูปดวงตรา ล้อมด้วยสายสะพายและสายสร้อยมีอักษร จ.ป.ร. ไขว้ และมีตราจักรีคั่นไปเป็นระยะ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดแต่ละสำรับ นอกจากนี้ยังมีลายอื่นประดับใกล้เคียง ตามลำดับจากด้านบนดังนี้ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 1 เป็นภาพเทพนม ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 2 เป็นภาพเทพธิดาฟ้อน ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 3 เป็นภาพกินนรรำ ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 4 เป็นภาพหนุมานเหาะ ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 5 เป็นภาพอินทรชิตเหาะ พื้นหลังทั้งหมดเป็นลายกระหนก ล้อมกรอบด้วยลายประจำยามก้ามปู

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระอุโบสถมีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังประดับกระเบื้องเคลือบสีเบญจรงค์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เขียนลายเทพนม หลังคาทำด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องเคลือบสี ประดับช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ด้านหน้ามีมุขเด็จ หน้าบันหลักเป็นรูปช้าง 7 เศียร ทูนพานแว่นฟ้ารองรับพระจุลมงกุฎขนาบสองข้างด้วยฉัตรที่มีราชสีห์และคชสีห์ประคอง หน้าบันมุขเด็จเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นยอดแหลมอย่างปราสาทประดับลวดลายปูนปั้นปิดทอง ด้านในบานประตูหน้าต่างเป็นลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านนอกเป็นลายดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่หนึ่งรวม 5 ดวง คือ นพรัตน์ราชวราภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์ ปฐมจุลจอมเกล้า ประถมาภรณ์ช้างเผือก และประถมาภรณ์มงกุฎไทย ภายในพระอุโบสถเป็นศิลปะตะวันตกแบบโกธิค ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานประธาน คือ พระพุทธอังคีรสพระเจดีย์ มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถา ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเบญจรงค์เช่นเดียวกับผนังพระอุโบสถ โดยมีระเบียงคดในผังกลมล้อมรอบพระเจดีย์ หลังคาพระระเบียงมุงกระเบื้องเคลือบสี เสาระเบียงเป็นเสากลมทำด้วยหินอ่อนประดับบัวหัวเสา พระวิหารเป็นอาคารแบบไทยประเพณี รูปแบบใกล้เคียงกับพระอุโบสถแต่มีขนาดเล็กกว่า และต่างกันที่บานประตูและบานหน้าต่างของพระวิหารไม่ใช่งานประดับมุก แต่เป็นงานไม้แกะสลักเป็นลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลงรักปิดทองและระบายสี

พระนิรันตราย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระนิรันตราย

พระนิรันตรายเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเรียบขนาดใหญ่อย่างเหมือนจริงทับจีวรที่มีริ้วอย่างเป็นธรรมชาติ พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใบพระกรรณที่หดสั้นลง ที่สำคัญคือไม่มีอุษณีษะ แต่ยังคงทำรัศมีเปลว ขมวดพระเกศา และมีอุณาโลมตามลักษณะมหาบุรุษ พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานสิงห์ มีรูปศีรษะโคที่ด้านล่าง ซึ่งมีความหมายถึงโคตมะ รอบองค์พระพุทธรูปประดับด้วยซุ้มเรือนแก้วประกอบกับซุ้มไม้โพธิ์ซึ่งมีคาถาพระพุทธคุณหรือบทอิติปิโส ซึ่งเป็นคาถาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4

พระพุทธรูปไสยาสน์
นครราชสีมา
ประติมากรรมพระพุทธรูปไสยาสน์

พระพุทธรูปสร้างโดยการนำเอาหินทรายขนาดใหญ่มาเรียงกันแล้วสลักเป็นพระพุทธรูป ประทับไสยาสน์แบบตะแคงขวาหรือสีหไสยาสน์ พระกรขวาวางราบกับพื้นรองรับพระเศียร พระวรกายเหยียวยาว พระกรซ้ายวางทับอยู่ด้านบน พระบาททั้ง 2 ข้างวางเสมอกัน พระพักตร์ทำจากหินทรายหลายก้อนมาเรียงซ้อนกัน มีรูปแบบทั่วไปตามศิลปะทวารวดี คือ พระพักตร์แลดูเหลี่ยม พระขนงเป็นสันและต่อเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำและโปน พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้าง

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย รองรับด้วยฐานกลีบบัวหงายและชุดฐานบัวยกเก็จ รูปแบบโดยรวมสะท้อนแรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปล้านนาแบบสิงห์หนึ่ง ลักษณะเด่นได้แก่ พระพักตร์กลม พระรัศมีรูปดอกบัวตูม พระวรกายอวบอ้วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิขนาดเล็กพาดผ่านพระอังสาซ้าย ปลายอยู่เหนือพระถันหยักโค้งไปมา เรียกกันว่าแบบเขี้ยวตะขาบ

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย รองรับด้วยฐานสูงที่ประดับตกแต่งด้วยกลีบบัวหงายและเหตุการณ์ตอนตรัสรู้หรือชนะมารลักษณะเด่นของพระพุทธรูปคือ มีวงพระพักตร์ค่อนข้างเป็นวงรูปไข่ พระรัศมีเปลว โดยรวมสะท้อนการคลี่คลายจากศิลปะสุโขทัยอันเป็นรูปแบบหนึ่งของพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาตอนกลาง ครองจีวรห่มเฉียง บางแนบเนื้อ ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ฐานรองรับพระพุทธรูปเป็นฐานสูงที่ประดับตกแต่งด้วยเหตุการณ์ตอนตรัสรู้ แถวล่างสุดเป็นกองทัพของพญามารที่เข้ามาผจญพระพุทธองค์ โดยตัวพญามารขี่ช้างอยู่ทางขวาของพระพุทธรูป ตรงกลางในตำแหน่งที่เหนือกว่าไพร่พลมารขึ้นมาเป็นรูปแม่พระธรณีกำลังบีบมวยผม ด้านซ้ายของพระพุทธรูปเป็นพญามารบนหลังช้างกำลังพ่ายแพ้

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
สุโขทัย
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยบนฐานบัวที่ไม่มีการประดับตกแต่งใดๆ รูปแบบในภาพรวมสะท้อนถึงการสืบต่อจากพระพุทธรูปรุ่นก่อนกรุงศรีอยุธยา-อยุธยาตอนต้น หรือพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปหมวดใหญ่ในศิลปะสุโขทัยด้วย รูปแบบสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้ที่สืบต่อจากพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และ 2 ได้แก่ นั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ทำปางมารวิชัยอยู่บนฐานบัวเกลี้ยงๆ เม็ดพระศกเทียบได้ดังหนามขนุน ส่วนความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปสุโขทัยเห็นได้จากพระรัศมีรูปเปลวไฟ พระพักตร์วงรูปไข่ พระขนงโก่งโค้ง แม้มีไรพระศกเช่นพระพุทธรูปอู่ทอง แต่การหยักแหลมที่กึ่งกลางพระนลาฏล้อตามความโก่งโค้งของพระขนงและบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) ไม่หยักแหลม ย่อมสัมพันธ์กับแนวพระเกศาในพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่ พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรเป็นแถบสี่เหลี่ยมพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ปลายตัดตรง พระหัตถ์ขวาวางอยู่บริเวณพระชงฆ์มีความอ่อนช้อยกว่าพระพุธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และ 2 ซึ่งน่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สัมพันธ์กับพระพุทธรูปสุโขทัย

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระนครศรีอยุธยา
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยบนฐานบัวที่ไม่มีการประดับตกแต่งใดๆ รูปแบบในภาพรวมสะท้อนถึงการสืบต่อจากพระพุทธรูปรุ่นก่อนกรุงศรีอยุธยา-อยุธยาตอนต้น หรือพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปหมวดใหญ่ในศิลปะสุโขทัยด้วยรูปแบบสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้ที่สืบต่อจากพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และ 2 ได้แก่ นั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ทำปางมารวิชัยอยู่บนฐานบัวเกลี้ยงๆ เม็ดพระศกเทียบได้ดังหนามขนุน ส่วนความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปสุโขทัยเห็นได้จากพระรัศมีรูปเปลวไฟ พระพักตร์วงรูปไข่ พระขนงโก่งโค้ง แม้มีไรพระศกเช่นพระพุทธรูปอู่ทอง แต่การหยักแหลมที่กึ่งกลางพระนลาฏล้อตามความโก่งโค้งของพระขนงและบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) ไม่หยักแหลม ย่อมสัมพันธ์กับแนวพระเกศาในพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่ พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรเป็นแถบสี่เหลี่ยมพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ปลายตัดตรง พระหัตถ์ขวาวางอยู่บริเวณพระชงฆ์มีความอ่อนช้อยกว่าพระพุธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และ 2 ซึ่งน่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สัมพันธ์กับพระพุทธรูปสุโขทัย