ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระพุทธรูปปางมารวิชัย

คำสำคัญ : พระพุทธรูปปางมารวิชัย, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก, วัดบูรพาราม

ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลวังพิณพาทย์
อำเภอสวรรคโลก
จังหวัดสุโขทัย
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 17.31991
Long : 99.826491
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 587826.28
N : 1915134.18
ตำแหน่งงานศิลปะจัดแสดงภายในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก

ประวัติการสร้าง

รูปแบบทางศิลปกรรมของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นแบบที่เรียกกันว่า พระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 3 อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ที่ฐานมีจารึกภาษาไทย อ่านแบบปัจจุบันได้ว่า “ตนนี้ก่อพระเจ้าแม่เอินไว้ในบุรพารามนี้” มีนักวิชาการได้วิเคราะห์ว่าเจ้าแม่ที่เอ่ยถึงนี้น่าจะได้แก่พระเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ผู้สร้างวัดบุรพาราม

กระบวนการสร้าง/ผลิต

หล่อสำริด

ประวัติการอนุรักษ์

ค้นพบจากกรุเจดีย์ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย โดยคนร้าย ต่อมาพระราชประสิทธิคุณ (ทิม ยสฺสทินโน) ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดราชธานี อำเมือง จังหวัดสุโขทัย ก่อนปัจจุบันจะย้ายมาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก

ขนาดหน้าตักกว้าง 35 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยบนฐานบัวที่ไม่มีการประดับตกแต่งใดๆ รูปแบบในภาพรวมสะท้อนถึงการสืบต่อจากพระพุทธรูปรุ่นก่อนกรุงศรีอยุธยา-อยุธยาตอนต้น หรือพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปหมวดใหญ่ในศิลปะสุโขทัยด้วย

รูปแบบสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้ที่สืบต่อจากพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และ 2 ได้แก่ นั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ทำปางมารวิชัยอยู่บนฐานบัวเกลี้ยงๆ เม็ดพระศกเทียบได้ดังหนามขนุน ส่วนความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปสุโขทัยเห็นได้จากพระรัศมีรูปเปลวไฟ พระพักตร์วงรูปไข่ พระขนงโก่งโค้ง แม้มีไรพระศกเช่นพระพุทธรูปอู่ทอง แต่การหยักแหลมที่กึ่งกลางพระนลาฏล้อตามความโก่งโค้งของพระขนงและบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) ไม่หยักแหลม ย่อมสัมพันธ์กับแนวพระเกศาในพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่

พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรเป็นแถบสี่เหลี่ยมพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ปลายตัดตรง พระหัตถ์ขวาวางอยู่บริเวณพระชงฆ์มีความอ่อนช้อยกว่าพระพุธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และ 2 ซึ่งน่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สัมพันธ์กับพระพุทธรูปสุโขทัย

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 3 องค์นี้ค้นพบจากกรุเจดีย์องค์หนึ่งในวัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย มีจารึกที่ฐานอ่านเป็นภาษาไทยปัจจุบันได้ว่า “ตนนี้ก่อพระเจ้าแม่เอินไว้ในบุรพารามนี้” มีนักวิชาการได้วิเคราะห์ว่าเจ้าแม่ผู้สร้างพระพุทธรูปนี้น่าจะได้แก่พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ผู้เป็นพระมเหสีของพระมหาธรรมราชา ซึ่งเป็นพระโอรสของพระมหาธรรมราชาลิไทกับพระศรีธรรมราชมารดา ทั้งยังสันนิษฐานต่อไปว่าพระนางเป็นเจ้าหญิงจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ

การค้นพบพระพุทธรูปแบบอยุธยาตอนต้นหรืออู่ทองรุ่นที่ 3 ภายในกรุเจดีย์ที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ย่อมสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมระหว่างอยุธยากับสุโขทัยอย่างชัดเจน

ข้อสังเกตอื่นๆ

1.จารึกที่ฐานเขียนเป็นภาษาไทยสมัยสุโขทัย อ่านเป็นภาษาไทยปัจจุบันได้ว่า “ตนนี้ก่อพระเจ้าแม่เอินไว้ในบุรพารามนี้” แปลสรุปความได้ว่า “พระพุทธรูปองค์นี้เจ้าแม่ได้ให้สร้างขึ้นเพื่อถวายไว้กับวัดบุรพารามนี้”

2.พระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะเช่นนี้ตรงกับที่นักวิชาการกำหนดเรียกว่า พระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 3
สมัย/รูปแบบศิลปะอยุธยา
อายุพุทธศตวรรษที่ 20
ศาสนาพุทธ
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนา

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-30
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “ความหมายของ พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองซึ่งพบที่สุโขทัย” ดำรงวิชาการ ปีที่ 13, ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2557), หน้ส 45-72.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์ (มิใช่ชาวสุโขทัย).” ใน ศาสนาและการเมือง ในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545, หน้า 97-108

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปในประเทศไทย รูปแบบ พัฒนาการ และความเชื่อของคนไทย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา: งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2550.