ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

บานประตูประดับมุกลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์

คำสำคัญ : บานประตู, วัดราชบพิธ, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พระอุโบสถวัดราชบพิธ, พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ชื่อหลักวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ชื่ออื่นวัดราชบพิธ
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลวัดราชบพิธ
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.748971
Long : 100.497339
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661888.44
N : 1520463.65
ตำแหน่งงานศิลปะบานประตูพระอุโบสถ

ประวัติการสร้าง

ฝีมือประดับมุกที่บานประตูพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามนั้น สันนิษฐานว่าเป็นฝีพระหัตถ์ของพระบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ พระราชโอรสองค์ที่ 30 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์ที่ 4 ในเจ้าจอมมารดาจันทร์

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ลงรัก ประดับมุก

ลักษณะทางศิลปกรรม

บานประตูพระอุโบสถบานซ้ายและขวามีลวดลายประดับมุกเป็นแบบเดียวกันคือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้ง 5 ตระกูล ได้แก่

1.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์

2.เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์

3.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า

4.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก

5.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย

ลายทั้งหมดประกอบด้วยมุกที่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เรียงกันเป็นรูปดวงตรา ล้อมด้วยสายสะพายและสายสร้อยมีอักษร จ.ป.ร. ไขว้ และมีตราจักรีคั่นไปเป็นระยะ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดแต่ละสำรับ

นอกจากนี้ยังมีลายอื่นประดับใกล้เคียง ตามลำดับจากด้านบนดังนี้

ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 1 เป็นภาพเทพนม

ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 2 เป็นภาพเทพธิดาฟ้อน

ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 3 เป็นภาพกินนรรำ

ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 4 เป็นภาพหนุมานเหาะ

ใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงที่ 5 เป็นภาพอินทรชิตเหาะ

พื้นหลังทั้งหมดเป็นลายกระหนก ล้อมกรอบด้วยลายประจำยามก้ามปู
สกุลช่างช่างหลวง
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ด้านนอกของบานประตูพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีงานประดับมุกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานประณีติศิลป์ชิ้นสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นรูปเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สำคัญของสยามทั้ง 5 ตระกูล ซึ่งได้รับการสถาปนาครบทั้งหมดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความรุ่งเรืองสูงสุดของงานช่างประดับมุกในสมัยนั้น ก่อนที่จะซบเซาลงในรัชกาลต่อมา

ตามประวัติกล่าวว่าบานประตูหน้าต่างประดับมุกที่พระอุโบสถวัดราชบพิธฯนั้น เดิมเป็นบานพระทวารและบานพระแกลของพระพุทธปรางค์ปราสาท หรือปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบานประตูหน้าต่างประดับมุกเพิ่มเติมเมื่อบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คราวสมโภชพระนครครบ 100 ปี ใน พ.ศ.2425 ภายหลังเกิดเพลิงไหม้หลังคาพระพุทธปรางค์ปราสาท จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ถอดบานประตูหน้าต่างประดับมุกออก แล้วนำมาเป็นบานประตูหน้าต่างวัดราชบพิธฯ เมื่อภายหลัง

งานประดับมุกนั้น แม้จะเป็นงานประณีติศิลป์ไทยที่นิยมและมีหลักฐานมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ที่บานประตูพระอุโบสถวัดราชบพิธฯนี้มีความสำคัญที่แตกต่างจากที่อื่น เนื่องจากเป็นการสะท้อนแนวคิดบางประการที่ได้รับจากตะวันตก เช่น เรื่องความสมจริงซึ่งเห็นได้จากการแสดงรายละเอียดของเครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่ละตระกูล และยังสะท้อนให้เห็นว่าในขณะนั้นได้มีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระราชวงศ์และบุคคลเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและเป็นเครื่องสิริมงคลตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติราชการแผ่นดิน ธรรมเนียมดังกล่าวได้ถือปฏิบัติในราชสำนักตะวันตก ซึ่งต่อมาได้ทำให้เกิดการสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ ในราชสำนักสยามด้วย
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีในราชสำนัก
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ประวัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-08-01
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

สุริยา รัตนกุล. พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล, 2550-2552.

ชัชพล ไชยพร บรรณาธิการ. ประมวลเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 เรื่องวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2553.

ศุภชัย เสริมสุขเจริญชัย. “งานตกแต่งภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม : การปรับเปลี่ยนสู่ศิลปะตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.)