ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระนิรันตราย
คำสำคัญ : พระพุทธรูป, วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม, วัดราชประดิษฐ, พระนิรันตราย, รัชกาลที่ 4
ชื่อหลัก | วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
---|---|
ชื่ออื่น | วัดราชประดิษฐ์ |
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.749551 Long : 100.495525 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661692.36 N : 1520530.57 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ภายในพระอุโบสถ |
ประวัติการสร้าง | เมื่อ พ.ศ.2411 รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้สร้างพระพุทธรูปพิมพ์เดียวกับพระพุทธรูปทองและเงินที่สวมพระนิรันตรายซึ่งประดิษฐานในหอพระสุราลัยพิมาน พระบรมมหาราชวัง โดยหล่อด้วยทองเหลืองแล้วกะไหล่ทองคำ มีเรือนแก้วอยู่ด้านหลัง จำนวน 18 องค์ เท่ากับจำนวนปีที่ซึ่งได้เสด็จครองราชสมบัติ ถวายพระนามพระพุทธรูปเหล่านั้นว่าพระนิรันตรายเช่นเดียวกัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานไปยังวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 เช่น วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น และได้ทรงสร้างพระราชทานพระอารามหลวงซึ่งเป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายวัดละ 1 องค์ต่อมา |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | หล่อด้วยทองเหลืองกะไหล่ทองคำ |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระนิรันตรายเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเรียบขนาดใหญ่อย่างเหมือนจริงทับจีวรที่มีริ้วอย่างเป็นธรรมชาติ พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใบพระกรรณที่หดสั้นลง ที่สำคัญคือไม่มีอุษณีษะ แต่ยังคงทำรัศมีเปลว ขมวดพระเกศา และมีอุณาโลมตามลักษณะมหาบุรุษ พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานสิงห์ มีรูปศีรษะโคที่ด้านล่าง ซึ่งมีความหมายถึงโคตมะ รอบองค์พระพุทธรูปประดับด้วยซุ้มเรือนแก้วประกอบกับซุ้มไม้โพธิ์ซึ่งมีคาถาพระพุทธคุณหรือบทอิติปิโส ซึ่งเป็นคาถาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระนิรันตรายที่ประดิษฐานในวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายมีรูปแบบเดียวกันกับพระนิรันตรายในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามแบบพระราชนิยมกล่าวคือ เป็นพระพุทธรูปที่ไม่มีอุษณีษะ พระพักตร์มีความสมจริงคล้ายมนุษย์มากยิ่งขึ้นกว่าพระพุทธรูปในสมัยก่อน สังเกตได้จากใบพระกรรณหดสั้นลง แต่ยังคงมหาบุรุษลักษณะบางประการไว้ตามพุทธลักษณะ เช่น มีขมวดพระเกศาและพระรัศมี แนวคิดแบบสัจจนิยมหรือเน้นความสมจริงตามแนวคิดแบบตะวันตกแสดงออกผ่านจากการครองจีวรห่มเฉียงที่มีริ้วตามธรรมชาติ ท่าประทับนั่งปางสมาธิสัมพันธ์กับซุ้มไม้โพธิ์ที่อยู่โดยรอบ แสดงถึงการบำเพ็ญสมาธิจนกระทั่งบรรลุพระโพธิญาณ |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา | พุทธ |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | พระราชนิพนธ์ภาษาบาลีในรัชกาลที่ 4 |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | พระนิรันตรายทองและพระนิรันตรายเงินในหอพระสุราลัยพิมาน พระบรมมหาราชวัง, พระพุทธรูปตอนตรัสรู้ที่วิหารทิศตะวันออก พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-04-01 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ. กรุเทพฯ: มติชน, 2548. ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ: สำนักราชเลขาธิการ, 2535. |