ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 33 ถึง 40 จาก 53 รายการ, 7 หน้า
เจดีย์
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมเจดีย์

ชิ้นส่วนดั้งเดิมของเจดีย์องค์นี้เริ่มต้นจากส่วนที่คล้ายหม้อน้ำ (อิฐที่รองรับเป็นของที่ทำขึ้นใหม่) อาจเป็นส่วนที่เทียบได้กับอัณฑะหรือองค์ระฆังของเจดีย์ทรงกลม ตอนล่างของส่วนที่คล้ายหม้อน้ำนี้ประดับด้วยกลีบบัวคว่ำบัวหงาย มีจารึกคาถาเย ธมฺมา ปรากฏอยู่ที่ตอนบนของส่วนที่คล้ายหม้อน้ำ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งเริ่มต้นจากแท่งกลมหรือก้านฉัตร ถัดขึ้นไปเป็นแผ่นหินซ้อนดหลั่นกันและลำดับขนาดจากใหญ่ไปเล็ก ส่วนนี้คือฉัตรซ้อนชั้นนั่นเอง บนยอดสุดเป็นรูปลูกแก้วกลม

เจดีย์วัดโขลงสุวรรณคีรี
ราชบุรี
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดโขลงสุวรรณคีรี

เจดีย์วัดโขลงสุวรรคีรีสร้างขึ้นจากอิฐ สภาพปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานและเรือนธาตุทึบตันซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นฐานรับอาคารและลานประกอบพิธีกรรมที่อยู่ด้านบนแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จที่กลางด้านและมุม เฉพาะกลางด้านทิศตะวันออกทำบันไดทอดยาวเพื่อเป็นทางขึ้นสู่ลานชั้นบน องค์ประกอบของลวดบัวตามแนวตั้งที่สำตัญประกอบด้วยฐานหน้ากระดาน บัววลัยหรือกลศ ขื่อปลอม ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานซ้อนชั้นมีท้องไม้ที่ประดับด้วยแนวเสา จากนั้นเป็นส่วนของเรือนธาตุทึบตันซึ่งประดับตกแต่งด้วยซุ้มจระนำ ลานยอดข้างบนเคยมีสิ่งก่อสร้างอื่นวางอยู่ทางตอนหลัง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานเท่านั้น บริเวณมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัสตั้งอยู่ 1 องค์

เจดีย์จุลประโทน
นครปฐม
สถาปัตยกรรมเจดีย์จุลประโทน

เจดีย์จุลประโทนสร้างขึ้นจากอิฐ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้ว 1-2 ครั้งในอดีต สภาพปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานและเรือนธาตุทึบตัน ส่วนยอดหักพังจนไม่เหลือร่องรอยแผนผังของฐานล่างสุดเป็นผังสี่เหลี่ยม ประดับด้วยเสาคั่นเป็นระยะ ระหว่างเสาแต่ละต้นประดับภาพปูนปั้นและดินเผาเล่าเรื่องชาดกในพุทธศาสนาและรูปอื่นๆ ปัจจุบันเคลื่อนย้ายไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ แล้ว กึ่งกลางของแต่ละด้านเป็นบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณ ทั้งนี้ฐานส่วนนี้ปัจจุบันจมอยู่ใต้ดินองค์ประกอบชั้นถัดมาเดิมทีเคยอยู่ในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและที่มุม อันเป็นระเบียบทั่วไปของเจดีย์ทวารวดี แต่ต่อมาถูกก่อทับโดยฐานสี่เหลี่ยมที่ประดับด้วยบัววลัยหรือกลศและเสาคั่นเป็นระยะ ทำให้เกิดพื้นที่สี่เหลี่ยมระหว่างเสา ปัจจุบันฐานสี่เหลี่ยมนี้ปรักหักพังลงทำให้บางด้านสามารถมองเห็นฐานยกเก็จที่ซ้อนอยู่ภายในได้ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุทึบตัน ประกอบด้วยซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายโดยรอบ พระพุทธรูปได้รับการเคลื่อนย้ายไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ แล้ว ถัดขึ้นไปไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร แต่ ศาสตราจารย์ ปิแอร์ ดูปองส์ สันนิษฐานว่าอาจซ้อนชั้นขึ้นไปเช่นเดียวกันกับเจดีย์กู่กุด อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

วัดพระเมรุ
นครปฐม
สถาปัตยกรรมวัดพระเมรุ

สภาปัจจุบันปรักหักพังเหลือแต่ฐานที่ผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ไม่ทราบว่าส่วนยอดมีลักษณะเช่นใด แผนผังของวัดพระเมรุเป็นอาคารสี่เหลี่ยมที่มีการยกเก็จกลางด้านและมุม แต่ละเก็จมีบันไดทางขึ้น ตรงกลางเหลือเพียงแกนอิฐสี่เหลี่ยมที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักส่วนยอด ด้านทั้งสี่ของแกนอิฐเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทด้านละ 1 องค์ มีทางเดินเวียนประทักษิณโดยรอบแกนอิฐและพระพุทธรูปเหล่านี้

สระแก้ว
ปราจีนบุรี
สถาปัตยกรรมสระแก้ว

สระแก้วเป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมที่มีแนวต่อยื่นทางด้านตะวันตกเพื่อทำบันไดลาดเอียงเป็นทางลง เป็นสระที่ขุดลงไปในพื้นหินศิลาแลง ผนังส่วนใดที่ไม่เป็นระเบียบจะก่อก้อนศิลาแลงวางให้เป็นระเบียบ ผนังทั้งสี่ด้านมีภาพสัตว์มงคลต่างๆ ประดับอยู่ เช่น มกร ช้าง นาค สิงห์ ตรงกลางของผนังด้านเหนือมีรูปคชลักษมีและแนวคั่นบันไดลงสู่สระ สันนิษฐานว่น่าจะเป็นจุดสำคัญในการประกอบพิธีกรรม

ใบเสมา
ขอนแก่น
ประติมากรรมใบเสมา

ใบเสมาแผ่นแบน ทั้ง 2 ด้านมีภาพสลักปรากฏอยู่ ด้านแรกทำรูปหม้อต่อด้วยกรวยอยู่ตรงกลางและกลีบบัวประดับอยู่ตอนล่าง ด้านที่สองทำรูปแท่นสี่เหลี่ยมต่อด้วยทรงกรวยอยู่ตรงกลางและกลีบบัวประดับอยู่ตอนล่าง ใกล้ๆกับรูปทรงกรวยมีข้อความจารึก รูปที่สลักอยู่ตรงกลางของด้านทั้งสองมีความเห็นจากนักวิชาการเป็น 2 ทาง คือ บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นรูปสถูป ขณะที่บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นรูปเครื่องบวงสรวงทำนองบายศรี

ใบเสมา
อุดรธานี
ประติมากรรมใบเสมา

ใบเสมากลุ่มนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 24 ใบ ทุกใบอยู่ในทรงแผ่นแบน ปักตรงตามแนวทิศทั้งแปด ทิศละ 3 ชั้น ล้อมรอบพื้นที่สี่เหลี่ยม ความสูงของใบเสมาแต่ละชั้นไม่เท่ากัน ใบเสมาชั้นในสูงที่สุดจากนั้นค่อยๆ ไล่ลำดับความสูงลงมายังชั้นกลางและชั้นนอก ใบเสมาชั้นในกับชั้นนอกตั้งอยู่เคียงกันในขณะที่ชั้นนอกอยู่ห่างออกไปหลายเมตร ด้านในของใบเสมาชั้นในสลักภาพเล่าเรื่องที่บริเวณโคน สันนิษฐานว่าเป็นชาดก ในขณะที่ใบเสมาชั้นกลางและชั้นนอกสลักรูปกรวยเป็นส่วนใหญ่

หอนางอุสา
อุดรธานี
สถาปัตยกรรมหอนางอุสา

โขดหินรูปร่างประหลาดที่เรียกกันในปัจจุบันว่า หอนางอุสา มีลักษณะเป็นแท่งเสาหินธรรมชาติที่มีหินก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่งวางทับอยู่ด้านบน กลายเป็นเพิงสำหรับพักอาศัยหรือประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้ มีการกั้นผนังด้วยก้อนหิน ทำให้เพิงหินมีสภาพกลายเป็นห้องรูปลักษณ์ของหอนางอุสาเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ในอดีตกาลหลายล้านปีมาแล้วชั้นหินบริเวณนี้ยังอ่อนอยู่ทำให้เกิดการกัดเซาะหรือชะด้วยน้ำและลม ส่วนใดที่อ่อนตัวมากก็ถูกกัดเซาะหรือชะจนหายไป ส่วนใดที่แข็งแรงทนทานก็จะยังคงตัวอยู่ได้ จากรูปร่างของหอนางอุสาอธิบายได้ว่า แท่งเสาหินและก้อนหินที่ค้างอยู่ด้านบนเป็นชั้นหินที่แข็งแรงทนทานต่อการกัดเซาะ ชั้นหินที่เคยอยู่ตรงกลางระหว่างหินทั้งสองส่วนอ่อนตัวกว่าจึงง่ายต่อการกัดเซาะ ในที่สุดจึงถูกกัดเซาะหายไป ทำให้หินชั้นบนกลายเป็นก้อนหินใหญ่ที่วางตั้งอยู่ในหินชั้นล่างที่กลายสภาพเป็นแท่งเสา รอบๆ หอนางอุสาเป็นลานหินขนาดใหญ่ มีหลักหิน-ใบเสมาปักบนลานหินเพื่อล้อมรอบหอนางอุสา