ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

วัดพระเมรุ

คำสำคัญ : วัดพระเมรุ, เจดียวิหาร

ชื่อหลักวัดพระเมรุ
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลห้วยจรเข้
อำเภอเมือง
จังหวัดนครปฐม
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.811326
Long : 100.06721
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 615348.19
N : 1527116.53
ตำแหน่งงานศิลปะริมถนนเพชรเกษม บริเวณสวนนันทอุทยาน

ประวัติการสร้าง

ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมทำให้กำหนดอายุได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี ทั้งนี้นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าสัมพันธ์กับศิลปะอินเดียแบบปาละ จึงไม่ควรเก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 14

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ก่ออิฐถือปูน

ลักษณะทางศิลปกรรม

สภาปัจจุบันปรักหักพังเหลือแต่ฐานที่ผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ไม่ทราบว่าส่วนยอดมีลักษณะเช่นใด แผนผังของวัดพระเมรุเป็นอาคารสี่เหลี่ยมที่มีการยกเก็จกลางด้านและมุม แต่ละเก็จมีบันไดทางขึ้น ตรงกลางเหลือเพียงแกนอิฐสี่เหลี่ยมที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักส่วนยอด ด้านทั้งสี่ของแกนอิฐเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทด้านละ 1 องค์ มีทางเดินเวียนประทักษิณโดยรอบแกนอิฐและพระพุทธรูปเหล่านี้

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ภายใน โดยพระพุทธรูปที่ประดิษฐานนี้ก็คือพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทลอยตัวกลุ่มพระศิลาขาวนั่นเอง นับว่าเป็นอาคารประเภทเจติยวิหาร หรืออาคารที่มีห้องคูหาภายในที่ชัดเจนที่สุดในศิลปะทวารวดี รูปแบบหลายประการแสดงความสัมพนธ์กับศิลปะอินเดียแบบปาละ

พระพุทธรูปที่เคยประดิษฐานอยู่ที่แต่ละด้านของแกนกลางอยู่ในสภาพปรักหักพังมาก ได้รับการเคลื่อนย้ายไปยังหลายที่ ปัจจุบันได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และประดิษฐานยังที่ต่างๆ ดังนี้ 1.หลวงพ่อศิลาขาว ลานประทักษิณทิศใต้ของพระปฐมเจดีย์ 2.ภายในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ 3.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 4.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะทวารวดี
อายุพุทธศตวรรษที่ 14-16
ศาสนาพุทธ
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนา
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการบางท่าน เช่น ศาสตราจารย์ ปิแอร์ ดูปองส์ สันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวข้องปหรรปุระ อันเป็นเจดียวิหารที่สร้างขึ้นในศิลปะปาละ ปัจจุบันอยู่ในประเทศบังคลาเทศ โดยเฉพาะประเด็นการมีแกนกลางรับน้ำหนักส่วนยอดและมีพระพุทธรูปประดิษฐานที่ด้านทั้งสี่ อีกทั้งยังสามารถเดินเวียนประทักษิณภายในได้ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางท่าน เช่น รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี เสนอว่าวัดพระเมรุน่าจะสัมพันธ์กับมูลคันธกุฎีที่สารนาถด้วยก็ได้ โดยเฉพาะประเด็นการไม่ทำมุขยื่นยาวจนผังเป็นกากบาท และประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-08-19
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

เชษฐ์ ติงสัญชลี. ศิลปะไทยภายใต้แรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียแบบปาละ. กรุงเทพฯ : มติชนปากเกร็ด, 2558.

ผาสุข อินทราวุธ, ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : อักษรสมัย, 2542.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.

Dupont, Pierre. The Archaeology of the Mons of Dvaravati. Bangkok : White Lotus, 2006.