ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก
พระพุทธรูปนูนสูงองค์นี้ทำเป็นปางนาคปรก พระพุทธองค์นั่งทำปางสมาธิอยู่เหนือขนดนาค ครองจีวรห่มเฉียง เรียบ บางแนบเนื้อ มีชายจีวรอยู่เหนือพระอังสาขวา นาคมี 7 เศียร ปกอยู่เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า ใบหน้าละม้ายคล้ายลิงอันเป็นลักษณะเด่นของนาคแบบทวารวดี สองข้างของพระพุทธรูปสลักรูปเจดีย์ทรงกลมข้างละ 1 องค์ ถัดลงมาเบื้องล่างของเจดีย์มีรูปบุคคลนั่งเทินอยู่ ด้านล่างสุดใต้ขนดภาคมีลายหน้าสิงห์
ประติมากรรมพระสงฆ์อุ้มบาตร
ประติมากรรมนูนต่ำนี้เป็นดินเผา เดิมทีใช้สำหรับประดับเจดีย์ชำรุดเสียหายมาก สังเกตเห็นได้ว่าทำเป็นรูปพระสงฆ์ 3 รูป ยืนเรียงกัน แต่ละรูปครองจีวรห่มคลุม ถือบาตรไว้ในระดับหน้าท้อง
ประติมากรรมพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท
พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทองค์นี้เป็นประติมากรรมนูนต่ำ สลักอยู่บนผนังถ้ำ ได้รับการปิดทองและทาทองโดยคนปัจจุบัน พระพักตร์แป้น พระขนงต่อเป็นปีกกา พระเนตรโปน พระนาสิกบาน พระโอษฐ์แบะ เหล่านี้เทียบได้กับพระพักตร์พระพุทธรูปศิลปะทวารวดีทั่วไป น่าสังเกตว่าเหนือพระอุษณีษะมีพระรัศมีรูปบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียงบางแนบพระวรกาย มีชายจีวรอยู่เหนือพระอังสาซ้าย พระหัตถ์ขวาทำปางแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลา
ประติมากรรมฐานธรรมจักร
ฐานรับธรรมจักรนี้ชำรุดเสียหายมาก ทำจากหิน มีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมที่เจาะทะลุจากตรงกลางจากบนลงล่าง ทำหน้าที่ยึดตรึงองค์ธรรมจักรกับเสาไว้ด้วยกัน ด้านทั้งสี่สลักภาพพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาเหมือนกัน แต่แตกหักเสียหายมาก มีเพียงด้านเดียวที่เหลือรายละเอียดมากพอจะศึกษาได้ พระพุทธองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ พระหัตถ์ขวาทำปางแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลา เบื้องล่างด้านซ้ายของพระองค์เป็นนักบวชพราหมณ์ 5 คน เชื่อว่าเป็นปัญจวัคคีย์ก่อนบวช ด้านขวาของพระองค์เป็นพระสงฆ์ 5 รูป เชื่อว่าเป็นปัญจวัคคีย์หลัง ถัดขึ้นไปทั้งด้านขวาและซ้ายเป็นภาพบุคคลที่เชื่อว่าเป็นเทวดาและพรหม
ประติมากรรมพระพุทธรูป
ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายนี้เหลือเพียงพระบาทและฐานบัวเท่านั้น หินทรายส่วนพระบาทเป็นผังสี่เหลี่ยม สลักเชื่อมติดกับฐานหน้ากระดานและมีเดือยยาว ส่วนหินทรายส่วนฐานบัวเป็นผังกลม มีจารึกอยู่ที่ขอบล่าง กึ่งกลางฐานบัวสลักเป็นช่องสี่เหลี่ยมเพื่อรับพระบาท
ประติมากรรมเศียรพระพุทธรูป
เศียรพระพุทธรูปองค์นี้มีเค้าพระพักตร์แป้น พระนลาฏกว้าง พระขนงนูนเป็นสันและต่อเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำและโปน พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้าง ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะเป็นต่อมนูน มีช่องเจาะอยู่ที่กลางพระอุษณีษะ สันนิษฐานว่าเดิมทีเคยมีพระรัศมีที่ทำจากอัญมณีหรือหินมีค่าประกอบไว้ นอกจากนี้อาจเคยเป็นช่องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วย
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย รองรับด้วยฐานกลีบบัวหงายและชุดฐานบัวยกเก็จ รูปแบบโดยรวมสะท้อนแรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปล้านนาแบบสิงห์หนึ่ง ลักษณะเด่นได้แก่ พระพักตร์กลม พระรัศมีรูปดอกบัวตูม พระวรกายอวบอ้วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิขนาดเล็กพาดผ่านพระอังสาซ้าย ปลายอยู่เหนือพระถันหยักโค้งไปมา เรียกกันว่าแบบเขี้ยวตะขาบ
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยบนฐานบัวที่ไม่มีการประดับตกแต่งใดๆ รูปแบบในภาพรวมสะท้อนถึงการสืบต่อจากพระพุทธรูปรุ่นก่อนกรุงศรีอยุธยา-อยุธยาตอนต้น หรือพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปหมวดใหญ่ในศิลปะสุโขทัยด้วยรูปแบบสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้ที่สืบต่อจากพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และ 2 ได้แก่ นั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ทำปางมารวิชัยอยู่บนฐานบัวเกลี้ยงๆ เม็ดพระศกเทียบได้ดังหนามขนุน ส่วนความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปสุโขทัยเห็นได้จากพระรัศมีรูปเปลวไฟ พระพักตร์วงรูปไข่ พระขนงโก่งโค้ง แม้มีไรพระศกเช่นพระพุทธรูปอู่ทอง แต่การหยักแหลมที่กึ่งกลางพระนลาฏล้อตามความโก่งโค้งของพระขนงและบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) ไม่หยักแหลม ย่อมสัมพันธ์กับแนวพระเกศาในพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่ พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรเป็นแถบสี่เหลี่ยมพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ปลายตัดตรง พระหัตถ์ขวาวางอยู่บริเวณพระชงฆ์มีความอ่อนช้อยกว่าพระพุธรูปอู่ทองรุ่นที่ 1 และ 2 ซึ่งน่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สัมพันธ์กับพระพุทธรูปสุโขทัย