ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 33 ถึง 40 จาก 103 รายการ, 13 หน้า
พระพุทธวชิรญาณ
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมพระพุทธวชิรญาณ

พระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างจักรพรรดิราช ประทับยืนปางห้ามสมุทร รูปแบบเดียวกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์ที่ประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง ทรงเครื่องประดับจำนวนมาก ได้แก่ พระมหามงกุฎ สังวาล พาหุรัด ทองพระกร ธำมรงค์ โดยเฉพาะส่วนของชายไหวชายแครงที่มีลักษณะอ่อนช้อยที่ด้านหน้าสบงเหนือพระเศียรประดับฉัตร 7 ชั้นพระพุทธรูปประทับยืนบนแท่นฐานกลีบบัวซึ่งรองรับด้วยฐานสิงห์ ที่มีรูปเทพพนมและครุฑแบกประดับที่ชั้นฐานก็เป็นลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์ต่างๆ ที่อยู่ในพระบรมมหาราชวังด้วย ที่ฐานมีจารึกข้อความกล่าวถึงพระราชดำริและประวัติการสร้างพระพุทธวชิรญาณ

พระนิรันตราย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระนิรันตราย

พระนิรันตรายเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเรียบขนาดใหญ่อย่างเหมือนจริงทับจีวรที่มีริ้วอย่างเป็นธรรมชาติ พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใบพระกรรณที่หดสั้นลง ที่สำคัญคือไม่มีอุษณีษะ แต่ยังคงทำรัศมีเปลว ขมวดพระเกศา และมีอุณาโลมตามลักษณะมหาบุรุษ พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานสิงห์ มีรูปศีรษะโคที่ด้านล่าง ซึ่งมีความหมายถึงโคตมะ รอบองค์พระพุทธรูปประดับด้วยซุ้มเรือนแก้วประกอบกับซุ้มไม้โพธิ์ซึ่งมีคาถาพระพุทธคุณหรือบทอิติปิโส ซึ่งเป็นคาถาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4

พระพุทธรูปทรงพระราชอุทิศของรัชกาลที่ 4 และพระราชโอรส
เพชรบุรี
ประติมากรรมพระพุทธรูปทรงพระราชอุทิศของรัชกาลที่ 4 และพระราชโอรส

พระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสังขรณ์ตามเค้าโครงของพระพุทธรูปเดิมที่อาจเป็นฝีมือช่างในท้องถิ่น พระวรกายอวบอ้วนขนาดใหญ่ พระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ แนวพระขนงโก่งต่อเนื่องกับพระนาสิกแหลม พระหนุและพระศอสั้น มีพระรัศมีเปลวค่อนข้างสั้น มีอุษณีษะ เม็ดพระศกเล็กคล้ายหนามขนุน พระกรรณยาวใหญ่ พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัยปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแถบใหญ่ยาวจรดพระนาภีปลายตัดตรง ประทับนั่งบนแท่นฐานปูน เบื้องหลังมีเสาที่ตกแต่งบัวหัวเสาด้วยลายใบผักกาดแบบตะวันตก รองรับซุ้มปูนปั้นปิดทองทำเป็นรูปลำตัวนาคหยักโค้ง ปลายซุ้มเป็นรูปนาคหันหัวเข้า ยอดกลางซุ้มเป็นลวดลายเทพนม มีช่อลายกระหนกประดับ ที่ผนังถ้ำด้านซ้ายของพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่มีจารึกประกาศพระบรมราชโองการ (สะกดตามรูปและอักขรวิธีเดิม) ว่า “พระพุทธปฏิมารูปพระองค์นี้ เปนของท่านผู้มีศรัทธาโบราณสร้างไว้มีอยู่ในที่นี้นานแล้ว กับด้วยพระพุทธปฏิมารูปอื่นอีกสองพระองค์เคียงกัน ซึ่งตั้งต่างเบื้องขวาพระองค์นี้นั้น ครั้งเมื่อ ณ วัน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีมเมีย สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๒๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๔ ในพระบรมราชวงษ์อันนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประภาศเมืองเพชรบุรี ได้เสด็จประภาศถึงถ้ำนี้ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปสามพระองค์นี้ ตั้งอยู่นอกกำแพงกั้นถ้ำไว้ชอบกลอยู่ จึงได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้พระยาหัตถการบันชา จางวางช่างสิบหมู่ จ้างช่างปั้นปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมารูปพระองค์นี้ขึ้นแล้ว ให้ลงรักถวาย ทรงปิดทองเป็นส่วนหลวง แต่พระพุทธรูปสองพระองค์ตั้งอยู่เคียงกัน ฝ่ายขวาพระพุทธรูปพระองค์นี้นั้นได้พระราชทานให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่สองพระองค์ คือพระองค์เจ้านภวงษเปนกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ได้ว่ากรมล้อมพระราชวังพระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าสุประดิฐเป็นกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ได้ว่ากรมพระคลังมหาสมบัติพระองค์หนึ่ง ปฏิสังขรณ์พระองค์ละพระองค์ เพื่อจะให้เปนพระเกียรติยศสืบไปภายน่า การปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมารูป ๓ พระองค์นี้เปนอันสัมฤทธิบริบูรณแล้ว ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลแลอวยไชยอวยพรไว้แก่เทพยดา มนุศทั้งปวง บันดาที่ได้มายังถ้ำนี้ แลได้เห็นได้นมัสการพระปฏิมารูปทั้ง ๓ พระองค์นี้จงทุกคน แลทรงพระอธิฐานด้วยการพระราชกุศลนี้ว่า ในประจุบันภพนี้ขอให้พระองค์และพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ มีพระชนมายุยืนยาวถาวรปราศจากโรคาทิอุปัทวันตรายทั้งปวง เปนศุขสวัศดีไปสิ้นกาลนาน เพื่อจะได้สมัยกาลโอกาสเปนที่ทรงบำเพญพระราชกุศลต่างๆ เปนอันมาก ในเพลาเมื่อได้มาประสบพบบุญอรุโณภาศ คือ พระพุทธสาศนาแลพระราชศรัทธาแลศิริราชสมบัติ แลขอให้พระราชกุศลนี้จงเปนปัจจัยให้ได้เสดจถึงที่สิ้นสุด ดับแห่งสังสารวัฏทุกขทั้งปวง คือ พระอมฤตยนฤพานนั้นเทอญ มีพระบรมราชโองการให้จารึกคำนี้ไว้ วัน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอกโทศก เปนปีที่ ๑๐ ในรัชกาลประจุบันนี้”

พระพุทธรูปประจำแผ่นดิน
เพชรบุรี
ประติมากรรมพระพุทธรูปประจำแผ่นดิน

พระพุทธรูปประทับนั่งเรียงกัน จำนวน 5 องค์ เป็นพระพุทธรูปในศิลปะรัตนโกสินทร์ในช่วงรัชกาลที่ 3-4 กล่าวคือ พระพักตร์สงบนิ่งคล้ายหุ่น มีอุษณีษะ และพระรัศมีเป็นเปลวสูง เม็ดพระศกเล็ก พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำเรียวเล็ก พระนาสิกโด่ง แย้มพระโอษฐ์ ปลายตวัดขึ้นเล็กน้อย พระกรรณยาว ครองจีวรห่มเฉียง ประทับนั่งบนฐานสิงห์ประดับกลีบบัว ที่ผ้าทิพย์ของพระพุทธรูปเหล่านี้ประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 1-4 และมีข้อความจารึกบนแผ่นหินที่ฐาน โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้1.พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิเพชรพระหัถขวาห้อยพระเพลาพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่๑ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราอุณาโลม2.พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัถขวาพาดพระเพลาพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระพุทธเลิศหล้านภาไลยซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๒ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราครุฑยุดนาค3.พระพุทธรูปปางสมาธิขัดสมาธิราบ มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัถซ้อนพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๓ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก”ที่ผ้าทิพย์ประดับตราพระมหาปราสาท4.พระพุทธรูปปางสมาธิขัดสมาธิเพชร มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิเพชร พระหัถซ้อนพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๔ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราพระมหามงกุฎ 5. เป็นพระพุทธรูปปางขอฝนประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มคลุม องค์พระและแท่นฐานทาสีใหม่ จึงไม่อาจทราบได้ว่ามีจารึกข้อความหรือไม่ รวมทั้งไม่ปรากฏรูปสัญลักษณ์ประจำพระองค์ที่ผ้าทิพย์ จากร่องรอยการก่อฐานและรูปแบบศิลปะขององค์พระพุทธรูปเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นเพิ่มเติมในภายหลังจากการสร้างพระพุทธรูป 4 องค์แรก

แผ่นเงินดุนนูน
ขอนแก่น
ประติมากรรมแผ่นเงินดุนนูน

แผ่นเงินจำนวนทั้งสิ้น 66 แผ่น ดุนนูนเป็นรูปต่างๆ ได้แก่ พระพุทธรูป สถูป เทวดา และธรรมจักร แต่ละแผ่นไม่ซ้ำแบบกัน

ใบเสมา
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมใบเสมา

ใบเสมาแบบแผ่นแบน ชำรุดเสียหายมาก แต่ยังเห็นภาพสลักเรื่องได้ชัดเจน พระพุทธองค์ยืน พระหัตถ์ทำปางแสดงธรรมทั้ง 2 ข้าง พระพักตร์เหลี่ยม พระเนตรเหลือบต่ำและโปนใหญ่ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้างพระพุทธองค์ครองจีวรห่มคลุม ชายจีวรด้านหน้าพาดผ่านพระชานุเป็นรูปโค้ง ขณะที่ชายจีวรด้านหลังตกลงมาเป็นกรอบสี่เหลี่ยมยาวจนถึงข้อพระบาท สบงยาวจรดข้อพระบาทเช่นกันเบื้องซ้ายของพระองค์มีภาพบุคคลขนาดเล็กสวมเครื่องทรงดังเทวดายืนเคียงข้าง ถัดขึ้นไปมีเทวดาประนมกรแทรกกายอยู่หลังเมฆ จากภาพถ่ายเก่าทำให้เห็นว่าภาพทางเบื้องขวาของพระองค์มีการจัดวางองค์ประกอบแบบนี้เช่นกัน แต่ปัจจุบันได้ชำรุดสูญหายแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นพุทธประวัติตอนใด แต่นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเล่าพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะมีเทวดาขนาบอยู่ 2 ข้าง

พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท
นครปฐม
ประติมากรรมพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท

พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทองค์นี้ผ่านการบูรณะครั้งใหญ่มาแล้ว ครองจีวรห่มเฉียง บางแนบพระวรกาย ไม่มีริ้ว พระหัตถ์ขวาทำปางแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่เหนือพรเพลา มีดอกบัวรองรับพระบาทไว้ พระพักตร์เหลี่ยม พระขนงนูนและต่อเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำและโปน พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์ใหญ่ ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะสูง และมีพระรัศมีรูปลูกแก้ว

ภาพสลักพระพุทธรูป
สระบุรี
ประติมากรรมภาพสลักพระพุทธรูป

ภาพสลักนูนต่ำกลุ่มนี้สลักภาพพระพุทธเจ้าเป็นประธาน โดยอยู่ทางซ้ายสุดของกลุ่ม พระพุทธองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทอยู่บนบัลลังก์ พระหัตถ์ทำปางแสดงธรรม ถัดมาทางขวาเป็นภาพบุคคลเศียรเดียว สองกร ประทับในท่านั่งแบบลลิตาสนะ เชื่อว่าเป็นพระศิวะเพราะพระหัตถ์ซ้ายทรงอักษมาลา (ลูกประคำ) ถัดมาเป็นรูปพระวิษณุยืน โดยสังเกตได้จากการมีสี่กร พระกรปกติไขว้กันที่พระอุระ เป็นกิริยาแสดงความนบนอบต่อพระพุทธเจ้า พระหัตถ์อีก 2 ข้างทรงจักรและสังข์ ถัดไปทางขวามีรูปเทวดาเหาะ 2 องค์ และฤาษี 1 ตน