ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระพุทธรูปประจำแผ่นดิน

คำสำคัญ : พระพุทธรูป, พระพุทธรูปประจำแผ่นดิน , ถ้ำเขาหลวง , ถ้ำวิมานจักรี

ชื่อหลักถ้ำเขาหลวง จ.เพชรบุรี
ชื่ออื่นถ้ำวิมานจักรี
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลธงชัย
อำเภอเมือง
จังหวัดเพชรบุรี
ภาคภาคตะวันตก
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.136044
Long : 99.932992
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 601121.97
N : 1452370.76
ตำแหน่งงานศิลปะภายในถ้ำเขาหลวง

ประวัติการสร้าง

สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระพุทธรูปประทับนั่งเรียงกัน จำนวน 5 องค์ เป็นพระพุทธรูปในศิลปะรัตนโกสินทร์ในช่วงรัชกาลที่ 3-4 กล่าวคือ พระพักตร์สงบนิ่งคล้ายหุ่น มีอุษณีษะ และพระรัศมีเป็นเปลวสูง เม็ดพระศกเล็ก พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำเรียวเล็ก พระนาสิกโด่ง แย้มพระโอษฐ์ ปลายตวัดขึ้นเล็กน้อย พระกรรณยาว ครองจีวรห่มเฉียง ประทับนั่งบนฐานสิงห์ประดับกลีบบัว ที่ผ้าทิพย์ของพระพุทธรูปเหล่านี้ประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 1-4 และมีข้อความจารึกบนแผ่นหินที่ฐาน โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้

1.พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิเพชรพระหัถขวาห้อยพระเพลาพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่๑ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราอุณาโลม

2.พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัถขวาพาดพระเพลาพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระพุทธเลิศหล้านภาไลยซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๒ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราครุฑยุดนาค

3.พระพุทธรูปปางสมาธิขัดสมาธิราบ มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัถซ้อนพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๓ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก”ที่ผ้าทิพย์ประดับตราพระมหาปราสาท

4.พระพุทธรูปปางสมาธิขัดสมาธิเพชร มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิเพชร พระหัถซ้อนพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๔ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราพระมหามงกุฎ

5. เป็นพระพุทธรูปปางขอฝนประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มคลุม องค์พระและแท่นฐานทาสีใหม่ จึงไม่อาจทราบได้ว่ามีจารึกข้อความหรือไม่ รวมทั้งไม่ปรากฏรูปสัญลักษณ์ประจำพระองค์ที่ผ้าทิพย์ จากร่องรอยการก่อฐานและรูปแบบศิลปะขององค์พระพุทธรูปเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นเพิ่มเติมในภายหลังจากการสร้างพระพุทธรูป 4 องค์แรก
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ภายในโถงกลางของถ้ำเขาหลวง จ.เพชรบุรี มีพระพุทธรูปประทับนั่งกลุ่มหนึ่งมีจารึกที่ฐานพร้อมกับมีพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 1-4 ที่ผ้าทิพย์ของพระพุทธรูป 4 องค์ จารึกที่ฐานกล่าวว่าพระพุทธรูปเหล่านี้สร้างขึ้นตามอย่างพระพุทธรูปประจำแผ่นดิน ในแต่ละรัชกาล จากการตรวจสอบพบว่าท่านั่งและการแสดงปางของพระพุทธรูปเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 1-4 พระพุทธรูปเหล่านี้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากได้เคยเสด็จประพาสถ้ำเขาหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุต่างๆ ในถ้ำเขาหลวง เพราะเคยเสด็จจาริกตั้งแต่เมื่อครั้งทรงผนวช อนึ่ง พระพุทธรูปปางขอฝนที่อยู่ใกล้กันนั้นสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในภายหลัง เนื่องจากไม่พบจารึกและพระบรมราชสัญลักษณ์ แต่ท่านั่งและการแสดงปางก็มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 5 เช่นกัน

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

พุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-04-01
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. “พระพุทธรูปประจำแผ่นดินและพระพุทธรูปจารึกพระนามพระราชวงศ์ ศิลปะในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 4-5 ที่ถ้ำหลวง จังหวัดเพชรบุรี” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่35 ฉบับที่ 12 (ตุลาคม 2557), หน้า92-105.

พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. “พระบรมราชานุสรณ์ ณ ถ้ำเขาหลวง จ. เพชรบุรี จากเอกสารโบราณและงานศิลปกรรม” ใน สรรพศาสตร์ประวัติศาสตร์ศิลป์. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557.