ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระพุทธรูปทรงพระราชอุทิศของรัชกาลที่ 4 และพระราชโอรส

คำสำคัญ : พระพุทธรูป, ถ้ำเขาหลวง , ถ้ำวิมานจักรี

ชื่อหลักถ้ำเขาหลวง จ.เพชรบุรี
ชื่ออื่นถ้ำวิมานจักรี
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลธงชัย
อำเภอเมือง
จังหวัดเพชรบุรี
ภาคภาคตะวันตก
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.136044
Long : 99.0932992
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 601121.97
N : 1452370.76
ตำแหน่งงานศิลปะภายในถ้ำเขาหลวง

ประวัติการสร้าง

รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์จากพระพุทธรูปที่มีอยู่เดิม

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ปูนปั้นปิดทอง

ขนาดหน้าตักประมาณ 4 ศอก
ลักษณะทางศิลปกรรม

พระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสังขรณ์ตามเค้าโครงของพระพุทธรูปเดิมที่อาจเป็นฝีมือช่างในท้องถิ่น พระวรกายอวบอ้วนขนาดใหญ่ พระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ แนวพระขนงโก่งต่อเนื่องกับพระนาสิกแหลม พระหนุและพระศอสั้น มีพระรัศมีเปลวค่อนข้างสั้น มีอุษณีษะ เม็ดพระศกเล็กคล้ายหนามขนุน พระกรรณยาวใหญ่ พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัยปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแถบใหญ่ยาวจรดพระนาภีปลายตัดตรง ประทับนั่งบนแท่นฐานปูน เบื้องหลังมีเสาที่ตกแต่งบัวหัวเสาด้วยลายใบผักกาดแบบตะวันตก รองรับซุ้มปูนปั้นปิดทองทำเป็นรูปลำตัวนาคหยักโค้ง ปลายซุ้มเป็นรูปนาคหันหัวเข้า ยอดกลางซุ้มเป็นลวดลายเทพนม มีช่อลายกระหนกประดับ ที่ผนังถ้ำด้านซ้ายของพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่มีจารึกประกาศพระบรมราชโองการ (สะกดตามรูปและอักขรวิธีเดิม) ว่า “พระพุทธปฏิมารูปพระองค์นี้ เปนของท่านผู้มีศรัทธาโบราณสร้างไว้มีอยู่ในที่นี้นานแล้ว กับด้วยพระพุทธปฏิมารูปอื่นอีกสองพระองค์เคียงกัน ซึ่งตั้งต่างเบื้องขวาพระองค์นี้นั้น ครั้งเมื่อ ณ วัน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีมเมีย สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๒๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๔ ในพระบรมราชวงษ์อันนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประภาศเมืองเพชรบุรี ได้เสด็จประภาศถึงถ้ำนี้ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปสามพระองค์นี้ ตั้งอยู่นอกกำแพงกั้นถ้ำไว้ชอบกลอยู่ จึงได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้พระยาหัตถการบันชา จางวางช่างสิบหมู่ จ้างช่างปั้นปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมารูปพระองค์นี้ขึ้นแล้ว ให้ลงรักถวาย ทรงปิดทองเป็นส่วนหลวง แต่พระพุทธรูปสองพระองค์ตั้งอยู่เคียงกัน ฝ่ายขวาพระพุทธรูปพระองค์นี้นั้นได้พระราชทานให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่สองพระองค์ คือพระองค์เจ้านภวงษเปนกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ได้ว่ากรมล้อมพระราชวังพระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าสุประดิฐเป็นกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ได้ว่ากรมพระคลังมหาสมบัติพระองค์หนึ่ง ปฏิสังขรณ์พระองค์ละพระองค์ เพื่อจะให้เปนพระเกียรติยศสืบไปภายน่า การปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมารูป ๓ พระองค์นี้เปนอันสัมฤทธิบริบูรณแล้ว ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลแลอวยไชยอวยพรไว้แก่เทพยดา มนุศทั้งปวง บันดาที่ได้มายังถ้ำนี้ แลได้เห็นได้นมัสการพระปฏิมารูปทั้ง ๓ พระองค์นี้จงทุกคน แลทรงพระอธิฐานด้วยการพระราชกุศลนี้ว่า ในประจุบันภพนี้ขอให้พระองค์และพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ มีพระชนมายุยืนยาวถาวรปราศจากโรคาทิอุปัทวันตรายทั้งปวง เปนศุขสวัศดีไปสิ้นกาลนาน เพื่อจะได้สมัยกาลโอกาสเปนที่ทรงบำเพญพระราชกุศลต่างๆ เปนอันมาก ในเพลาเมื่อได้มาประสบพบบุญอรุโณภาศ คือ พระพุทธสาศนาแลพระราชศรัทธาแลศิริราชสมบัติ แลขอให้พระราชกุศลนี้จงเปนปัจจัยให้ได้เสดจถึงที่สิ้นสุด ดับแห่งสังสารวัฏทุกขทั้งปวง คือ พระอมฤตยนฤพานนั้นเทอญ มีพระบรมราชโองการให้จารึกคำนี้ไว้ วัน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอกโทศก เปนปีที่ ๑๐ ในรัชกาลประจุบันนี้”

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระพุทธรูปกลุ่มหนึ่งจำนวน 3 องค์ในถ้ำเขาหลวงว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์จากพระพุทธรูปที่เคยมีอยู่เดิมในที่นั้น โดยองค์ใหญ่ที่สุดทรงปฏิสังขรณ์เพื่อทรงพระราชอุทิศพระราชกุศลส่วนพระองค์ ส่วนพระพุทธรูปที่อยู่เคียงกันอีก 2 องค์โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ และพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ 2 พระองค์ซึ่งประสูติก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติทรงปฏิสังขรณ์แม้ว่าจะเป็นงานช่างตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 แต่จะพบว่ารูปแบบของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ยังคงรูปแบบงานช่างในท้องถิ่น โดยมิได้เปลี่ยนแปลงเป็นพระพุทธรูปแบบพระราชนิยม และยังมีจารึกพระบรมราชโองการเพื่อประกาศให้ทราบถึงการปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปเหล่านี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระราชศรัทธาปณิธานตามแนวคิดอย่างใหม่ที่ไม่ได้ทรงมุ่งหวังบำเพ็ญบารมีประหนึ่งพระโพธิสัตว์ หากแต่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเพื่อผลในปัจจุบันและความหลุดพ้นจากสังสารวัฏในที่สุด

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-04-01
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. “พระพุทธรูปประจำแผ่นดินและพระพุทธรูปจารึกพระนามพระราชวงศ์ ศิลปะในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 4-5 ที่ถ้ำหลวง จังหวัดเพชรบุรี” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่35 ฉบับที่ 12 (ตุลาคม 2557), หน้า92-105.

พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. “ธุดงค์ จาริก ประพาส ในรัชกาลที่ 4 : การเดินทางกับศิลปกรรมในพระราชประสงค์” ใน ความคิด ความหมาย ความเชื่อของการจาริกยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. “พระบรมราชานุสรณ์ ณ ถ้ำเขาหลวง จ. เพชรบุรี จากเอกสารโบราณและงานศิลปกรรม” ใน สรรพศาสตร์ประวัติศาสตร์ศิลป์. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557.