ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
รูปแบบปัจจุบันจากส่วนฐานจนกระทั่งส่วนยอดของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชมีลักษณะดังต่อไปนี้ส่วนล่างเป็นฐานประทักษิณสูง ล้อมรอบด้วยระเบียงหรือที่เรียกว่าวิหารทับเกษตร บันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณอยู่ทางทิศเหนือซึ่งเป็นด้านที่เชื่อมต่อกับวิหารพระทรงม้า ทำให้บันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณตั้งอยู่ภายในวิหารพระทรงม้าไปโดยปริยายผนังของฐานประทักษิณประดับด้วยแนวเสาอิง บนตัวเสาอิงมีพระพุทธรูปยืนขนาบบ้างด้วยพระสาวกอยู่ภายในซุ้ม ระหว่างเสามีช้างเห็นครึ่งตัวอยู่ภายในซุ้มวงโค้งหรือซุ้มหน้านางด้านละ 6 ตัว ยกเว้นทางด้านเหนือมีอยู่ 4 ตัว เพราะต้องเว้นพื้นที่ไว้สำหรับบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ บนลานประทักษิณมีเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ที่มุมทั้งสี่มีเจดีย์ทรงกลมประจำมุม เจดีย์องค์ใหญ่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดมีองค์ระฆังกลมขนาดใหญ่ เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ประดับด้วยปูนปั้นรูปเสาอิงและเครื่องถ้วย ถัดขึ้นไปเป็นก้านฉัตรหรือแกนปล้องไฉนซึ่งประดับด้วยเสาหานที่มีรูปพระอัครสาวกตกแต่งอยู่ เรียกกันทั่วไปว่า พระเวียน ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉน ปัทมบาทและปลีซึ่งหุ้มด้วยทองคำและประดับด้วยอัญมณีมีค่า
สถาปัตยกรรมสำเภาและเจดีย์ทรงเครื่อง
เรือสำเภาก่ออิฐถือปูน ลักษณะคล้ายเรือสำเภาแต้จิ๋ว หัวเรือหันสู่ทิศใต้ไปสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ท้ายเรือหันไปทางทิศเหนือ ห้องท้ายเรือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาท กลางลำเรือประดิษฐานเจดีย์ทรงเครื่องขนาดใหญ่ 1 องค์ และทางหัวเรือประดิษฐานเจดีย์ทรงเครื่องขนาดเล็กกว่าอีก 1 องค์ รูปแบบของเจดีย์ทรงเครื่องประกอบด้วยชุดฐานสิงห์ 3 ฐาน มีบัวทรงคลุ่มรองรับองค์ระฆังเพิ่มมุม ส่วนยอดเป็นบัวทรงคลุ่มเถา ปลี และเม็ดน้ำค้าง เจดีย์ทรงเครื่องเป็นรูปแบบที่มีมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนปลายและเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 3
สถาปัตยกรรมพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ
พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศตั้งอยู่บนเนินเขาธงชัย ริมหาดบ้านกรูด มีรูปแบบเป็นอาคารสูง 5 ชั้น ประดับชั้นบนสุดด้วยเจดีย์ทรงระฆังจำนวน 9 องค์ตัวอาคารประกอบด้วยชั้นต่างๆ 5 ชั้นดังนี้ชั้นที่ 1 ใช้เป็นที่เก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ โดยมีร่องระบายน้ำฝนจากด้านบนลงสู่ชั้นที่ 1 ได้หลายช่องทางชั้นที่ 2 เป็นห้องโถงอเนกประสงค์ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางธรรมในวันสำคัญต่างๆ ทางศาสนาชั้นที่ 3 เป็นวิหารที่มีความกว้างขวางสำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญอย่างการรับผ้ากฐิน ผ้าป่า และฟังธรรมเทศนา มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนประเพณีวัฒนธรรมในภูมิภาคต่างๆของประเทศไทยชั้นที่ 4 เป็นอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประธานอภัย อันเป็นรูปแบบเดียวกับพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เบื้องหลังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชั้นนี้มีระเบียงด้านนอกที่มองเห็นทิวทัศน์ทะเลบริเวณหาดบ้านกรูดผนังประดับกระจกสีเรื่องพระมหาชนกชาดก ชั้นที่ 5 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุภายในบุษบกซึ่งจะเปิดให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะเฉพาะเทศกาลวันวิสาขบูชา
สถาปัตยกรรมเจดีย์
ชิ้นส่วนดั้งเดิมของเจดีย์องค์นี้เริ่มต้นจากส่วนที่คล้ายหม้อน้ำ (อิฐที่รองรับเป็นของที่ทำขึ้นใหม่) อาจเป็นส่วนที่เทียบได้กับอัณฑะหรือองค์ระฆังของเจดีย์ทรงกลม ตอนล่างของส่วนที่คล้ายหม้อน้ำนี้ประดับด้วยกลีบบัวคว่ำบัวหงาย มีจารึกคาถาเย ธมฺมา ปรากฏอยู่ที่ตอนบนของส่วนที่คล้ายหม้อน้ำ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งเริ่มต้นจากแท่งกลมหรือก้านฉัตร ถัดขึ้นไปเป็นแผ่นหินซ้อนดหลั่นกันและลำดับขนาดจากใหญ่ไปเล็ก ส่วนนี้คือฉัตรซ้อนชั้นนั่นเอง บนยอดสุดเป็นรูปลูกแก้วกลม
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดโขลงสุวรรณคีรี
เจดีย์วัดโขลงสุวรรคีรีสร้างขึ้นจากอิฐ สภาพปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานและเรือนธาตุทึบตันซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นฐานรับอาคารและลานประกอบพิธีกรรมที่อยู่ด้านบนแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จที่กลางด้านและมุม เฉพาะกลางด้านทิศตะวันออกทำบันไดทอดยาวเพื่อเป็นทางขึ้นสู่ลานชั้นบน องค์ประกอบของลวดบัวตามแนวตั้งที่สำตัญประกอบด้วยฐานหน้ากระดาน บัววลัยหรือกลศ ขื่อปลอม ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานซ้อนชั้นมีท้องไม้ที่ประดับด้วยแนวเสา จากนั้นเป็นส่วนของเรือนธาตุทึบตันซึ่งประดับตกแต่งด้วยซุ้มจระนำ ลานยอดข้างบนเคยมีสิ่งก่อสร้างอื่นวางอยู่ทางตอนหลัง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานเท่านั้น บริเวณมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัสตั้งอยู่ 1 องค์
สถาปัตยกรรมเจดีย์จุลประโทน
เจดีย์จุลประโทนสร้างขึ้นจากอิฐ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้ว 1-2 ครั้งในอดีต สภาพปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานและเรือนธาตุทึบตัน ส่วนยอดหักพังจนไม่เหลือร่องรอยแผนผังของฐานล่างสุดเป็นผังสี่เหลี่ยม ประดับด้วยเสาคั่นเป็นระยะ ระหว่างเสาแต่ละต้นประดับภาพปูนปั้นและดินเผาเล่าเรื่องชาดกในพุทธศาสนาและรูปอื่นๆ ปัจจุบันเคลื่อนย้ายไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ แล้ว กึ่งกลางของแต่ละด้านเป็นบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณ ทั้งนี้ฐานส่วนนี้ปัจจุบันจมอยู่ใต้ดินองค์ประกอบชั้นถัดมาเดิมทีเคยอยู่ในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและที่มุม อันเป็นระเบียบทั่วไปของเจดีย์ทวารวดี แต่ต่อมาถูกก่อทับโดยฐานสี่เหลี่ยมที่ประดับด้วยบัววลัยหรือกลศและเสาคั่นเป็นระยะ ทำให้เกิดพื้นที่สี่เหลี่ยมระหว่างเสา ปัจจุบันฐานสี่เหลี่ยมนี้ปรักหักพังลงทำให้บางด้านสามารถมองเห็นฐานยกเก็จที่ซ้อนอยู่ภายในได้ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุทึบตัน ประกอบด้วยซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายโดยรอบ พระพุทธรูปได้รับการเคลื่อนย้ายไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ แล้ว ถัดขึ้นไปไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร แต่ ศาสตราจารย์ ปิแอร์ ดูปองส์ สันนิษฐานว่าอาจซ้อนชั้นขึ้นไปเช่นเดียวกันกับเจดีย์กู่กุด อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
สถาปัตยกรรมพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ
เจดีย์เป็นทรงระฆังในผัง 12 เหลี่ยม พื้นผิวเจดีย์ประดับด้วยโมเสกแก้วสีม่วง ผนังด้านนอกตกแต่งด้วยภาพดินเผาเคลือบสีเป็นเรื่องของพระภิกษุณีผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งมวล องค์เจดีย์ช่วงล่างมีบัวรัดรอบ แบ่งออกเป็น 4 ชั้น ช่วงบนแบ่งเป็นชั้นเล็กๆอีก 25 ชั้น ก่อนถึงยอดปลีมีฐานรองรับซึ่งแบ่งออกเป็นชั้นเล็กๆอีก 8 ชั้น ยอดปลีด้านบนประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เหนือยอดปลีมีฉัตรโลหะสีเงิน 9 ชั้น องค์เจดีย์มีระเบียง 2 ระดับตกแต่งด้วยภาพดินเผาเคลือบสีน้ำตาลเล่าเรื่องอุบาสิกาที่พระพุทธเจ้าประกาศว่าเป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายและภาพสวรรค์ 6 ชั้น บริเวณทางเข้าประดิษฐานพระนามาภิไธยย่อ สก. ทั้ง 3 ด้านภายในโถงกลางทรงโดม ผนังตอนล่างตกแต่งด้วยภาพแกะสลักหินแกรนิตสีขาวเล่าเรื่องพระราชกรณียกิจสำคัญของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผนังตอนบนตกแต่งด้วยโมเสกแก้ว ออกแบบและลงสีด้วยคอมพิวเตอร์เล่าเรื่องพุทธประวัติที่สัมพันธ์กับพระนางสิริมหามายา พระนางปชาบดีโคตมี พระนางยโสธราพิมพา และนางวิสาขา บนเพดานตกแต่งด้วยโมเสกแก้วสีรูปดอกสาละ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึงแกะสลักจากหยกขาว ได้รับพระราชทานนามว่า “พระพุทธสิริกิติทีฆายุมงคล” เจดีย์องค์นี้สร้างโดยผสมผสานข้อธรรมะสำคัญในพุทธศาสนามาเป็นแนวคิดในการออกรายละเอียดต่างๆ ได้แก่1) ทรง 12 เหลี่ยมหมายถึง อัจฉริยธรรม 12 ประการของพระพุทธมารดา2) การแบ่งชั้นเจดีย์น้อยใหญ่รวม 37 ชั้น หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการการที่เจดีย์องค์นี้เลือกใช้สีม่วงเพื่อให้มีความอ่อนหวานงดงามตามลักษณะความงามของกุลสตรีไทย เจดีย์องค์นี้มีความสูง 55 เมตรซึ่งต่ำกว่าความสูงของพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล มีความหมายถึงพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 5 พรรษา
สถาปัตยกรรมพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล
เจดีย์เป็นทรงระฆังแปดเหลี่ยมมีลวดบัวรัดแบ่งองค์เจดีย์ออกเป็น 3 ชั้น ผิวภายนอกองค์เจดีย์ประดับด้วยโมเสกแก้วสีน้ำตาล ส่วนยอดสุดเป็นปลียอดสีทองรองรับด้วยดอกบัวบาน 8 กลีบ เหนือปลียอดกั้นฉัตรโลหะสีเงิน 9 ชั้น ตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนระเบียงกว้าง 2 ระดับ ประดับด้วยซุ้มภาพดินเผาเป็นเรื่องทศชาติชาดกและภาพป่าหิมพานต์ ซุ้มระเบียงด้านล่างเป็นสัญลักษณ์กองทัพอากาศ ในขณะที่ทางเข้าเจดีย์ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ทั้ง 4 ด้านภายในเป็นห้องโถง ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางประทานพรแกะสลักจากหินแกรนิตสีเขียวจากอินโดนีเซียไว้ที่กึ่งกลางโถง พระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานนามว่า “พระพุทธบรมศาสดานวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์ สัฐิพรรษาสถาพรพิพัฒน์” ผนังภายในมีภาพแกะสลักจากหินแกรนิตสีเขียวเป็นภาพสังเวชนียสถาน เพดานห้องโถงตกแต่งด้วยโมเสกแก้วเป็นรูปดอกสาละเจดีย์องค์นี้สร้างโดยผสมผสานข้อธรรมะสำคัญในพุทธศาสนามาเป็นแนวคิดในการออกรายละเอียดต่างๆ ได้แก่ 1) ทรงแปดเหลี่ยมของเจดีย์หมายถึงมรรค 8 2) การแบ่งเจดีย์เป็น 3 ชั้น หมายถึงการบำเพ็ญบารมี 3 ขั้น ได้แก่ บารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี โดยแต่ละขั้นจะมีขั้นละ 10 ทัศ รวมเป็น 30 ทัศ 3) ดอกบัวบานรองรับยอดปลี หมายถึงการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน นอกจากแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาแล้วยังมีบางแนวคิดที่สัมพันธ์กับพระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย คือ เจดีย์มีความสูง 60 เมตร หมายถึงการสร้างเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา