ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระปั้นหย่า
พระปั้นหย่าเป็นสถาปัตยกรรมทรงตึกอย่างตะวันตกที่ผสมกับจีน ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาคารสูง 3 ชั้น แต่ละชั้นมีลวดบัวขนาดใหญ่คาดรอบอาคารเพื่อแบ่งชั้นอาคารให้เห็นได้อย่างชัดเจน หลังคาพระปั้นหย่ามุงด้วยกระเบื้องและประดับหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบแบบจีนเป็นรูปดอกไม้ใบไม้อย่างเทศ กลางหน้าบันประดับรูปพระมหามงกุฎ สองข้างขนาบด้วยฉัตร 5 ชั้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระนามเจ้าฟ้ามงกุฎ ผนังอาคารภายนอกเรียบง่าย ไม่ประดับลวดลาย กรอบประตูหน้าต่างเป็นช่องสี่เหลี่ยม
ประติมากรรมประตูเสี้ยวกาง
ซุ้มประตูประกอบด้วยบานประตู 2 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยบานประตูสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 บาน พื้นสีแดง แต่ละบานสลักเป็นรูปทวารบาลอย่างจีนปิดทอง แต่งกายยืนเครื่องคล้ายทวารบาลแบบไทย ยืนเงื้อง่าถืออาวุธ ได้แก่ ง้าว ดาบ กริช โล่ อยู่บนหลังสัตว์ผสมต่างๆอย่างจีน รวมทั้งสิ้น 4 องค์ ที่ปากของทวารบาลแต่ละองค์แต่เดิมมีคราบยาฝิ่นสีดำติดอยู่เนื่องจากประชาชนทำมาป้ายถวายทวารบาล ในภายหลังได้มีการล้างทำความสะอาดคราบนั้นออก แต่ได้ทาสีดำไว้เพื่อแสดงถึงที่มาตามประวัติศาสตร์ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นเอกลักษณ์ของทวารบาลหรือเสี้ยวกางที่วัดบวรนิเวศวิหาร
สถาปัตยกรรมวัดพระเมรุ
สภาปัจจุบันปรักหักพังเหลือแต่ฐานที่ผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ไม่ทราบว่าส่วนยอดมีลักษณะเช่นใด แผนผังของวัดพระเมรุเป็นอาคารสี่เหลี่ยมที่มีการยกเก็จกลางด้านและมุม แต่ละเก็จมีบันไดทางขึ้น ตรงกลางเหลือเพียงแกนอิฐสี่เหลี่ยมที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักส่วนยอด ด้านทั้งสี่ของแกนอิฐเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทด้านละ 1 องค์ มีทางเดินเวียนประทักษิณโดยรอบแกนอิฐและพระพุทธรูปเหล่านี้
ประติมากรรมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบรมรูปเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชอิริยาบถประทับยืนตรง ทรงฉลองพระองค์เยียรบับ ทรงพระภูษาโจงขอบเชิง พระมาลาทรงหม้อตาล ทรงสายสะพายแบบเลจิอองดอนเนอร์ของฝรั่งเศส ทรงฉลองพระบาท พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบหัตถ์นารายณ์ ทอดปลายพระแสงดาบลงพื้น พระหัตถ์ซ้ายทรงถือหนังสือ
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ
ผนังด้านหลังพระพุทธรูปประธานเขียนภาพพระพุทธเจ้าแสดงปางมารวิชัยอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วทรงกลีบบัวล้อมรอบด้วยพระสาวก พรหม และประชาชน ขนาบข้างด้วยพระพุทธรูปทรงเครื่องและพระพุทธรูปลีลาผนังด้านขวามือของพระพุทธรูปประธานเป็นพระพุทธเจ้าปางประสูติ ด้านบนเขียนภาพสันดุสิตเทพบุตร ผนังด้านหน้าเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุม เหนือช่องหน้าต่างมีพระอดีตพุทธเจ้านั่งเรียงแถวกันใต้ลายพวงมาลัยและพวงอุบะ แม้การแสดงออกของฉากและตัวบุคคล เช่น หนุมาน ยักษ์ สัตว์หิมพานต์จะคงลักษณะตามแบบไทยประเพณี แต่ก็มีการแทรกรูปสัตว์และรูปบุคคลที่มีอิริยาบถ เครื่องแต่งกาย รวมถึงการจัดวางภาพตามแบบแผนสมัยปัจจุบันเข้าไปผสมผสาน
สถาปัตยกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
วัดญาณสังวรารามแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส เขตโครงการในพระราชดำริ และเขตอุบาสกอุบาสิกา โดยสถาปัตยกรรมภายในวัดมีทั้งอาคารแบบไทยประเพณี คือ พระอุโบสถ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากอุโบสถคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร อาคารแบบจีน คือ วิหารเซียน อาคารแบบไทยประยุกต์ คือ หอกลอง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากป้อมมหากาฬ และยังมีการจำลองวิหารมหาโพธิ์ พุทธคยามาไว้ด้วย หรือพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยภายใน 3 ชั้น ได้แก่ชั้นล่างเป็นโถงใหญ่สำหรับงานบำเพ็ญกุศล ชั้นสองเป็นที่ชุมนุมสงฆ์และปฏิบัติสมาธิภาวนา และชั้นสามสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
สถาปัตยกรรมอาสนวิหารอัสสัมชัญ
โบสถ์อัสสัมชัญนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยหันแท่นบูชาสู่แม่น้ำ ตัวโบสถ์มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืมผ้า ตัวอาคารสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ ด้านหน้ามีหลังคาทรงจั่ว มีหน้าต่างกลมลายกลีบดอกไม้(Rose Window) ขนาดใหญ่ขนาบสองข้างด้วยหอคอยทรงสี่เหลี่ยม ผนังด้านข้างมีเสาอิงเลียนแบบเสายัน(Buttress) ด้านหลังเป็นผนังโค้งหลังคาทรงกรวยผ่าครึ่ง ภายในมีการแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนคือระเบียงโล่งด้านหน้า โถงชุมนุมใหญ่ มีเฉลียงด้านข้าง และส่วนศักดิ์สิทธิ์ด้านในอันเป็นที่ตั้งของพระแท่นหินอ่อนขนาดใหญ่ ด้านหลังมีการเจาะหน้าต่างให้แสงเข้า ตกแต่งหน้าต่างด้วยกระจกเคลือบสีต่อด้วยรูปนักบุญ เพดานโค้งทรงประทุนเป็นลายตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสติดดาวสีทอง หัวเสาเป็นแบบไอโอนิคผสมโครินเธียน ตกแต่งภายในด้วยจิตรกรรมปูนเปียกและประติมากรรมปูนปั้น ส่วนโถงทางเข้ามีการชั้นลอยสำหรับนักขับร้องและออร์แกนขนาดใหญ่
ประติมากรรมปูนปั้นประดับวิหารวัดนางพญา
งานปูนปั้นประดับผนังวิหารด้านใต้ของวัดนางพญากำลังชำรุดหลุดล่วงลงตามกาลเวลา เดิมทีคงมีงานปูนปั้นประดับทั้งด้าน แต่ปัจจุบันเหลือชัดเจนเพียงแค่ผนังระหว่างช่วงเสากลางเท่านั้น ผนังวิหารก่อด้วยศิลาแลง ทำช่องแสงหรือช่องลมไว้ตรงกลาง ตกแต่งผนังด้วยปูนปั้นเลียนแบบฝาไม้ลูกฟัก ภายในลูกฟักและช่องแสงประดับด้วยงานปูนปั้น ออกแบบเป็นลวดลายประเภทเครือเถาหรือพรรณพฤกษา ซึ่งประกอบด้วยก้าน ใบ และดอก พันเกี่ยวกันเต็มพื้นที่ผนัง