ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 9 รายการ, 2 หน้า
วัดบวรสถานสุทธาวาส
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมวัดบวรสถานสุทธาวาส

พระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาสเป็นอาคารแบบไทยประเพณี ก่ออิฐถือปูน แผนผังแบบจัตุรมุข มีเสาพาไลทรงสี่เหลี่ยมโดยรอบอาคาร เครื่องหลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องสีเขียวและส้ม ประดับช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง และนาคเบือน หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ปิดทองประดับกระจกสี ตัวอาคารมีทางเข้าทั้ง 4 ทิศ ด้านตะวันออก เหนือ และใต้ ด้านละ 3 ประตู ส่วนด้านตะวันตกมี 2 ประตู บานประตูหน้าต่างเป็นไม้แกะสลักลายแก้วชิงดวง ปิดทองประดับกระจก ซุ้มเหนือของประตูประดับด้วยลวดลายปูนปั้น โดยรอบพระอุโบสถมีลานระเบียงและกำแพงแก้วล้อมรอบ พนักประดับด้วยกระเบื้องปรุ หัวเสายอดเม็ดทรงมัณฑ์

จิตรกรรมเรื่องพระพุทธสิหิงค์
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องพระพุทธสิหิงค์

จิตรกรรมเรื่องพระพุทธสิหิงค์เขียนบริเวณผนังระหว่างช่องหน้าต่าง แบ่งองค์ประกอบภาพเป็นกลุ่มๆโดยมีแนวภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ และสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่มีทั้งแบบไทย จีน และตะวันตก เป็นแนวแบ่งกลุ่มภาพเพื่อเล่าเหตุการณ์ที่สำคัญของเรื่อง มีภาพธรรมชาติและทิวทัศน์เป็นฉากหลัง มีการแสดงระยะใกล้-ไกล และใช้เส้นขอบฟ้า ซึ่งลักษณะเหล่านี้บ่งบอกถึงอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกที่เข้ามาในช่วงรัชกาลที่ 3-4

พระพุทธวชิรญาณ
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมพระพุทธวชิรญาณ

พระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างจักรพรรดิราช ประทับยืนปางห้ามสมุทร รูปแบบเดียวกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์ที่ประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง ทรงเครื่องประดับจำนวนมาก ได้แก่ พระมหามงกุฎ สังวาล พาหุรัด ทองพระกร ธำมรงค์ โดยเฉพาะส่วนของชายไหวชายแครงที่มีลักษณะอ่อนช้อยที่ด้านหน้าสบงเหนือพระเศียรประดับฉัตร 7 ชั้นพระพุทธรูปประทับยืนบนแท่นฐานกลีบบัวซึ่งรองรับด้วยฐานสิงห์ ที่มีรูปเทพพนมและครุฑแบกประดับที่ชั้นฐานก็เป็นลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์ต่างๆ ที่อยู่ในพระบรมมหาราชวังด้วย ที่ฐานมีจารึกข้อความกล่าวถึงพระราชดำริและประวัติการสร้างพระพุทธวชิรญาณ

พระพุทธมนุสสนาค
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธมนุสสนาค

พระพุทธรูปประทับยืนเหนือฐานสิงห์กลีบบัว ที่ฐานมีจารึกพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสร้างพระพุทธรูป แสดงปางประทานอภัย 2 พระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทร ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวไม่เสมอกัน ครองจีวรห่มคลุมพระอังสาทั้ง 2 ข้าง จีวรเป็นริ้วอย่างธรรมชาติ แลเห็นจีวรที่ห่มทับสบงที่เป็นริ้วชั้นใน รูปแบบของการทำจีวรจึงแสดงถึงแนวคิดอย่างสมจริง แต่พุทธลักษณะอื่นๆยังคงไว้ ได้แก่ พระพักตร์ที่สงบ พระเนตรเหลือบต่ำ พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก มีอุษณีษะเตี้ยๆรองรับพระรัศมีเปลว เหนือพระเศียรประดับด้วยฉัตรทองฉลุลาย 5 ชั้น

พระพุทธปัญญาอัคคะ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธปัญญาอัคคะ

พระพุทธรูปประทับยืนเหนือฐานสิงห์กลีบบัว ที่ฐานมีจารึกพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสร้างพระพุทธรูป แสดงปางประทานอภัย 2 พระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทร ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเท่ากัน ครองจีวรห่มคลุมพระอังสาทั้ง 2 ข้างแหวกกลางพระอุระ อย่างเดียวกับการห่มจีวรอย่างแหวกของภิกษุรามัญนิกาย จีวรเป็นริ้วอย่างธรรมชาติ แลเห็นจีวรที่ห่มทับสบงที่เป็นริ้วชั้นใน รูปแบบของการทำจีวรจึงแสดงถึงแนวคิดอย่างสมจริง พระพักตร์อ่อนเยาว์ดูสงบนิ่งคล้ายใบหน้าบุคคลจริง ใบพระกรรณหดสั้น แต่พุทธลักษณะอื่นๆยังคงไว้ ได้แก่ ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก รองรับพระรัศมีเปลว เหนือพระเศียรประดับด้วยฉัตรทองฉลุลาย 5 ชั้น

จิตรกรรมเรื่องฉฬาภิชาติ
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องฉฬาภิชาติ

เรื่องฉฬาภิชาติที่พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร มีจารึกปรากฏที่โคนเสาคู่หน้าใกล้พระประธานทั้ง 2 ต้น ความว่า “อนึ่งได้มีพระพุทธสุภาษิตแสดงฉฬาภิชาติไว้ดังนี้1. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ คือต่ำต้อยและขัดสน ทั้งเกิดนิยมธรรมดำ คืออกุศลจริตต่างๆ2. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ แต่เกิดนิยมธรรมขาว คือกุศลจริตต่างๆ3. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ แต่เกิดนิยมนิพพาน อันไม่ดำไม่ขาว4. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว คือสูงและมั่งมี แต่เกิดนิยมธรรมดำ5. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว ทั้งเกิดนิยมธรรมขาว6. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว เกิดนิยมนิพพาน ที่ไม่ดำไม่ขาว”ภาพจิตรกรรมเรื่องฉฬาภิชาติที่พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่โคนเสา โดยเรียงลำดับจากเสาคู่แรกใกล้พระประธาน ได้แก่เสาคู่ที่ 1 ภาพพระพุทธเจ้าทรงรับบิณฑบาต พื้นเสาสีขาวอ่อนเสาคู่ที่ 2 ภาพพระภิกษุและนักบวช พื้นเสาสีขาว เสาคู่ที่ 3 ภาพอุบาสกอุบาสิกา นุ่งห่มด้วยชุดขาว พื้นเสาสีเหลือง เสาคู่ที่ 4 ภาพกษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดี พื้นเสาสีแดง เสาคู่ที่ 5 ภาพตุลาการ เจ้าหน้าที่เรือนจำและนักโทษ พื้นเสาสีเขียว เสาคู่ที่ 6 ภาพคนล่าสัตว์หรือนายพราน พื้นเสาสีคราม เมื่อศึกษาข้อความจากพระไตรปิฎกร่วมกับการจัดวางตำแหน่งของภาพบุคคลแต่ละกลุ่ม ทำให้สันนิษฐานได้ว่าภาพเหล่านี้น่าจะจัดได้เป็น 3 กลุ่ม คือ1. กลุ่มที่นิยมนิพพาน ไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ ภาพพระพุทธเจ้า ภิกษุ และนักบวชที่เสาคู่แรกและคู่ที่ 2 ใกล้กับพระประธาน ซึ่งน่าจะหมายรวมทั้งผู้ที่มีกำเนิดสูงและต่ำ แต่มีความตั้งใจที่จะออกบวชเพื่อบรรลุนิพพาน2. กลุ่มที่นิยมธรรมขาว ได้แก่ ภาพอุบาสกอุบาสิกาที่นุ่งห่มด้วยชุดขาวที่เสาคู่ที่ 2 กับภาพกษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดีที่เสาคู่ที่ 3 ซึ่งมีความสุจริตกาย วาจา ใจ ตามฐานันดรภาพของตน โดยภาพอุบาสกนุ่งห่มขาวก็อาจหมายถึงบุคคลที่มีกำเนิดไม่ว่าจะสูงหรือต่ำต้อยแต่เลือกที่จะประพฤติดี ส่วนภาพกษัตริย์ พราหมณ์และคหบดี หมายถึง บุคคลที่มีชาติกำเนิดสูงซึ่งสอดคล้องกับข้อความในพระไตรปิฎกด้วย 3. กลุ่มที่นิยมธรรมดำ ได้แก่ ภาพตุลาการ เจ้าหน้าที่เรือนจำและนักโทษที่เสาคู่ที่4 กับภาพคนล่าสัตว์ที่เสาคู่ที่ 5ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ทำบาป ทั้งบุคคลที่เกิดในสกุลต่ำ มีความอดอยากจึงจำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์ หรือบุคคลที่แม้เกิดในตระกูลสูงแต่เมื่อประพฤติผิดก็ย่อมถูกลงโทษ รวมทั้งบุคคลบางกลุ่มที่จำเป็นต้องทำบาปด้วยหน้าที่เช่นการเป็นผู้ตัดสินความผิดของนักโทษ หรือมีอาชีพเป็นเพชฌฆาต

พระปั้นหย่า
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระปั้นหย่า

พระปั้นหย่าเป็นสถาปัตยกรรมทรงตึกอย่างตะวันตกที่ผสมกับจีน ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาคารสูง 3 ชั้น แต่ละชั้นมีลวดบัวขนาดใหญ่คาดรอบอาคารเพื่อแบ่งชั้นอาคารให้เห็นได้อย่างชัดเจน หลังคาพระปั้นหย่ามุงด้วยกระเบื้องและประดับหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบแบบจีนเป็นรูปดอกไม้ใบไม้อย่างเทศ กลางหน้าบันประดับรูปพระมหามงกุฎ สองข้างขนาบด้วยฉัตร 5 ชั้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระนามเจ้าฟ้ามงกุฎ ผนังอาคารภายนอกเรียบง่าย ไม่ประดับลวดลาย กรอบประตูหน้าต่างเป็นช่องสี่เหลี่ยม

ประตูเสี้ยวกาง
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมประตูเสี้ยวกาง

ซุ้มประตูประกอบด้วยบานประตู 2 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยบานประตูสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 บาน พื้นสีแดง แต่ละบานสลักเป็นรูปทวารบาลอย่างจีนปิดทอง แต่งกายยืนเครื่องคล้ายทวารบาลแบบไทย ยืนเงื้อง่าถืออาวุธ ได้แก่ ง้าว ดาบ กริช โล่ อยู่บนหลังสัตว์ผสมต่างๆอย่างจีน รวมทั้งสิ้น 4 องค์ ที่ปากของทวารบาลแต่ละองค์แต่เดิมมีคราบยาฝิ่นสีดำติดอยู่เนื่องจากประชาชนทำมาป้ายถวายทวารบาล ในภายหลังได้มีการล้างทำความสะอาดคราบนั้นออก แต่ได้ทาสีดำไว้เพื่อแสดงถึงที่มาตามประวัติศาสตร์ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นเอกลักษณ์ของทวารบาลหรือเสี้ยวกางที่วัดบวรนิเวศวิหาร