ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

จิตรกรรมเรื่องฉฬาภิชาติ

คำสำคัญ : วัดบวรฯ บางลำพู, วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดบวร, จิตรกรรมฝาผนังเรื่องฉฬาภิชาติ

ชื่อหลักวัดบวรนิเวศวิหาร
ชื่ออื่นวัดบวรฯ
ประเภทงานศิลปะจิตรกรรม
ตำบลบวรนิเวศ
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.760601
Long : 100.500057
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 662174.65
N : 1521755.04
ตำแหน่งงานศิลปะโคนเสาในประธาน ภายในพระอุโบสถ

ประวัติการสร้าง

สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลักษณะทางศิลปกรรม

เรื่องฉฬาภิชาติที่พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร มีจารึกปรากฏที่โคนเสาคู่หน้าใกล้พระประธานทั้ง 2 ต้น ความว่า

“อนึ่งได้มีพระพุทธสุภาษิตแสดงฉฬาภิชาติไว้ดังนี้

1. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ คือต่ำต้อยและขัดสน ทั้งเกิดนิยมธรรมดำ คืออกุศลจริตต่างๆ

2. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ แต่เกิดนิยมธรรมขาว คือกุศลจริตต่างๆ

3. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ แต่เกิดนิยมนิพพาน อันไม่ดำไม่ขาว

4. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว คือสูงและมั่งมี แต่เกิดนิยมธรรมดำ

5. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว ทั้งเกิดนิยมธรรมขาว

6. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว เกิดนิยมนิพพาน ที่ไม่ดำไม่ขาว”

ภาพจิตรกรรมเรื่องฉฬาภิชาติที่พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่โคนเสา โดยเรียงลำดับจากเสาคู่แรกใกล้พระประธาน ได้แก่

เสาคู่ที่ 1 ภาพพระพุทธเจ้าทรงรับบิณฑบาต พื้นเสาสีขาวอ่อน

เสาคู่ที่ 2 ภาพพระภิกษุและนักบวช พื้นเสาสีขาว

เสาคู่ที่ 3 ภาพอุบาสกอุบาสิกา นุ่งห่มด้วยชุดขาว พื้นเสาสีเหลือง

เสาคู่ที่ 4 ภาพกษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดี พื้นเสาสีแดง

เสาคู่ที่ 5 ภาพตุลาการ เจ้าหน้าที่เรือนจำและนักโทษ พื้นเสาสีเขียว

เสาคู่ที่ 6 ภาพคนล่าสัตว์หรือนายพราน พื้นเสาสีคราม

เมื่อศึกษาข้อความจากพระไตรปิฎกร่วมกับการจัดวางตำแหน่งของภาพบุคคลแต่ละกลุ่ม ทำให้สันนิษฐานได้ว่าภาพเหล่านี้น่าจะจัดได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่นิยมนิพพาน ไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ ภาพพระพุทธเจ้า ภิกษุ และนักบวชที่เสาคู่แรกและคู่ที่ 2 ใกล้กับพระประธาน ซึ่งน่าจะหมายรวมทั้งผู้ที่มีกำเนิดสูงและต่ำ แต่มีความตั้งใจที่จะออกบวชเพื่อบรรลุนิพพาน

2. กลุ่มที่นิยมธรรมขาว ได้แก่ ภาพอุบาสกอุบาสิกาที่นุ่งห่มด้วยชุดขาวที่เสาคู่ที่ 2 กับภาพกษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดีที่เสาคู่ที่ 3 ซึ่งมีความสุจริตกาย วาจา ใจ ตามฐานันดรภาพของตน โดยภาพอุบาสกนุ่งห่มขาวก็อาจหมายถึงบุคคลที่มีกำเนิดไม่ว่าจะสูงหรือต่ำต้อยแต่เลือกที่จะประพฤติดี ส่วนภาพกษัตริย์ พราหมณ์และคหบดี หมายถึง บุคคลที่มีชาติกำเนิดสูงซึ่งสอดคล้องกับข้อความในพระไตรปิฎกด้วย

3. กลุ่มที่นิยมธรรมดำ ได้แก่ ภาพตุลาการ เจ้าหน้าที่เรือนจำและนักโทษที่เสาคู่ที่4 กับภาพคนล่าสัตว์ที่เสาคู่ที่ 5ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ทำบาป ทั้งบุคคลที่เกิดในสกุลต่ำ มีความอดอยากจึงจำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์ หรือบุคคลที่แม้เกิดในตระกูลสูงแต่เมื่อประพฤติผิดก็ย่อมถูกลงโทษ รวมทั้งบุคคลบางกลุ่มที่จำเป็นต้องทำบาปด้วยหน้าที่เช่นการเป็นผู้ตัดสินความผิดของนักโทษ หรือมีอาชีพเป็นเพชฌฆาต

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เรื่องฉฬาภิชาติ หรือ บุคคล 6 ประเภทที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติ ได้ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นงานจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัชกาลที่ 4 หลายแห่ง แต่ละแห่งมีการจัดองค์ประกอบภาพที่ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ เรื่องนี้จะเขียนอยู่ภายในกรอบภาพที่อยู่ด้านล่างของเสาร่วมในประธาน ภายในพระอุโบสถหรือวิหาร ซึ่งมักจะมี 6 คู่ เสาแต่ละคู่มีสีพื้นที่แตกต่างกัน โดยเสาคู่ที่อยู่ใกล้พระประธานจะมีสีขาวนวล ส่วนเสาอื่นถัดออกไปจะมีสีเข้มขึ้น ได้แก่ สีเหลือง สีแดง สีเขียว และสีคราม ตามลำดับ มีความหมายว่าผู้ที่อยู่ใกล้ธรรมะย่อมเป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ สัมพันธ์กับภาพในกรอบด้านล่างที่เขียนภาพพระสงฆ์และนักบวช ส่วนเสาสีเข้มที่อยู่ไกลออกไปหมายถึงผู้ที่อยู่ห่างไกลธรรมะ จิตใจก็มืดมัวลงตามลำดับซึ่งสัมพันธ์กับภาพของเสาคู่สุดท้ายที่เป็นภาพคนทำบาปด้วยการฆ่าสัตว์

สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ฉักกนิบาต ฉฬาภิชาติยสูตร

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

จิตรกรรมเรื่องฉฬาภิชาติที่เสาในประธาน พระวิหารวัดมกุฏกษัตริยาราม

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-15
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. “จิตรกรรมฝาผนัง: พระราชประสงค์รัชกาลที่ 4เรื่องจริยวัตรสงฆ์” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552).