ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 17 รายการ, 3 หน้า
พระพุทธรูปทรงพระราชอุทิศของรัชกาลที่ 4 และพระราชโอรส
เพชรบุรี
ประติมากรรมพระพุทธรูปทรงพระราชอุทิศของรัชกาลที่ 4 และพระราชโอรส

พระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสังขรณ์ตามเค้าโครงของพระพุทธรูปเดิมที่อาจเป็นฝีมือช่างในท้องถิ่น พระวรกายอวบอ้วนขนาดใหญ่ พระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ แนวพระขนงโก่งต่อเนื่องกับพระนาสิกแหลม พระหนุและพระศอสั้น มีพระรัศมีเปลวค่อนข้างสั้น มีอุษณีษะ เม็ดพระศกเล็กคล้ายหนามขนุน พระกรรณยาวใหญ่ พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัยปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแถบใหญ่ยาวจรดพระนาภีปลายตัดตรง ประทับนั่งบนแท่นฐานปูน เบื้องหลังมีเสาที่ตกแต่งบัวหัวเสาด้วยลายใบผักกาดแบบตะวันตก รองรับซุ้มปูนปั้นปิดทองทำเป็นรูปลำตัวนาคหยักโค้ง ปลายซุ้มเป็นรูปนาคหันหัวเข้า ยอดกลางซุ้มเป็นลวดลายเทพนม มีช่อลายกระหนกประดับ ที่ผนังถ้ำด้านซ้ายของพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่มีจารึกประกาศพระบรมราชโองการ (สะกดตามรูปและอักขรวิธีเดิม) ว่า “พระพุทธปฏิมารูปพระองค์นี้ เปนของท่านผู้มีศรัทธาโบราณสร้างไว้มีอยู่ในที่นี้นานแล้ว กับด้วยพระพุทธปฏิมารูปอื่นอีกสองพระองค์เคียงกัน ซึ่งตั้งต่างเบื้องขวาพระองค์นี้นั้น ครั้งเมื่อ ณ วัน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีมเมีย สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๒๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๔ ในพระบรมราชวงษ์อันนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประภาศเมืองเพชรบุรี ได้เสด็จประภาศถึงถ้ำนี้ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปสามพระองค์นี้ ตั้งอยู่นอกกำแพงกั้นถ้ำไว้ชอบกลอยู่ จึงได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้พระยาหัตถการบันชา จางวางช่างสิบหมู่ จ้างช่างปั้นปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมารูปพระองค์นี้ขึ้นแล้ว ให้ลงรักถวาย ทรงปิดทองเป็นส่วนหลวง แต่พระพุทธรูปสองพระองค์ตั้งอยู่เคียงกัน ฝ่ายขวาพระพุทธรูปพระองค์นี้นั้นได้พระราชทานให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่สองพระองค์ คือพระองค์เจ้านภวงษเปนกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ได้ว่ากรมล้อมพระราชวังพระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าสุประดิฐเป็นกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ได้ว่ากรมพระคลังมหาสมบัติพระองค์หนึ่ง ปฏิสังขรณ์พระองค์ละพระองค์ เพื่อจะให้เปนพระเกียรติยศสืบไปภายน่า การปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมารูป ๓ พระองค์นี้เปนอันสัมฤทธิบริบูรณแล้ว ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลแลอวยไชยอวยพรไว้แก่เทพยดา มนุศทั้งปวง บันดาที่ได้มายังถ้ำนี้ แลได้เห็นได้นมัสการพระปฏิมารูปทั้ง ๓ พระองค์นี้จงทุกคน แลทรงพระอธิฐานด้วยการพระราชกุศลนี้ว่า ในประจุบันภพนี้ขอให้พระองค์และพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ มีพระชนมายุยืนยาวถาวรปราศจากโรคาทิอุปัทวันตรายทั้งปวง เปนศุขสวัศดีไปสิ้นกาลนาน เพื่อจะได้สมัยกาลโอกาสเปนที่ทรงบำเพญพระราชกุศลต่างๆ เปนอันมาก ในเพลาเมื่อได้มาประสบพบบุญอรุโณภาศ คือ พระพุทธสาศนาแลพระราชศรัทธาแลศิริราชสมบัติ แลขอให้พระราชกุศลนี้จงเปนปัจจัยให้ได้เสดจถึงที่สิ้นสุด ดับแห่งสังสารวัฏทุกขทั้งปวง คือ พระอมฤตยนฤพานนั้นเทอญ มีพระบรมราชโองการให้จารึกคำนี้ไว้ วัน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอกโทศก เปนปีที่ ๑๐ ในรัชกาลประจุบันนี้”

พระพุทธรูปประจำแผ่นดิน
เพชรบุรี
ประติมากรรมพระพุทธรูปประจำแผ่นดิน

พระพุทธรูปประทับนั่งเรียงกัน จำนวน 5 องค์ เป็นพระพุทธรูปในศิลปะรัตนโกสินทร์ในช่วงรัชกาลที่ 3-4 กล่าวคือ พระพักตร์สงบนิ่งคล้ายหุ่น มีอุษณีษะ และพระรัศมีเป็นเปลวสูง เม็ดพระศกเล็ก พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำเรียวเล็ก พระนาสิกโด่ง แย้มพระโอษฐ์ ปลายตวัดขึ้นเล็กน้อย พระกรรณยาว ครองจีวรห่มเฉียง ประทับนั่งบนฐานสิงห์ประดับกลีบบัว ที่ผ้าทิพย์ของพระพุทธรูปเหล่านี้ประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 1-4 และมีข้อความจารึกบนแผ่นหินที่ฐาน โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้1.พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิเพชรพระหัถขวาห้อยพระเพลาพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่๑ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราอุณาโลม2.พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัถขวาพาดพระเพลาพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระพุทธเลิศหล้านภาไลยซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๒ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราครุฑยุดนาค3.พระพุทธรูปปางสมาธิขัดสมาธิราบ มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัถซ้อนพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเดจ์พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๓ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก”ที่ผ้าทิพย์ประดับตราพระมหาปราสาท4.พระพุทธรูปปางสมาธิขัดสมาธิเพชร มีจารึกที่ฐานว่า “พระพุทธรูปเสดจ์นั่งขัดสมาธิเพชร พระหัถซ้อนพระองค์นี้ ตามอย่างพระประจำแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๔ ในพระบรมราชวงษซึ่งดำรง ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี ณ ตำบลบางกอก” ที่ผ้าทิพย์ประดับตราพระมหามงกุฎ 5. เป็นพระพุทธรูปปางขอฝนประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มคลุม องค์พระและแท่นฐานทาสีใหม่ จึงไม่อาจทราบได้ว่ามีจารึกข้อความหรือไม่ รวมทั้งไม่ปรากฏรูปสัญลักษณ์ประจำพระองค์ที่ผ้าทิพย์ จากร่องรอยการก่อฐานและรูปแบบศิลปะขององค์พระพุทธรูปเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นเพิ่มเติมในภายหลังจากการสร้างพระพุทธรูป 4 องค์แรก

แผ่นเงินดุนนูน
ขอนแก่น
ประติมากรรมแผ่นเงินดุนนูน

แผ่นเงินจำนวนทั้งสิ้น 66 แผ่น ดุนนูนเป็นรูปต่างๆ ได้แก่ พระพุทธรูป สถูป เทวดา และธรรมจักร แต่ละแผ่นไม่ซ้ำแบบกัน

ภาพสลักพระพุทธรูป
ราชบุรี
ประติมากรรมภาพสลักพระพุทธรูป

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิแบบหลวม ไขว้ซ้อนกันเพียงข้อพระบาท พระหัตถ์ปางสมาธิ มีฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียร เบื้องขวาของพระองค์มีธรรมจักรวางตั้งอยู่บนเสา ส่วนเบื้องซ้ายของพระองค์เป็นเจดีย์ทรงกลม

พระพุทธรูปไสยาสน์
นครราชสีมา
ประติมากรรมพระพุทธรูปไสยาสน์

พระพุทธรูปสร้างโดยการนำเอาหินทรายขนาดใหญ่มาเรียงกันแล้วสลักเป็นพระพุทธรูป ประทับไสยาสน์แบบตะแคงขวาหรือสีหไสยาสน์ พระกรขวาวางราบกับพื้นรองรับพระเศียร พระวรกายเหยียวยาว พระกรซ้ายวางทับอยู่ด้านบน พระบาททั้ง 2 ข้างวางเสมอกัน พระพักตร์ทำจากหินทรายหลายก้อนมาเรียงซ้อนกัน มีรูปแบบทั่วไปตามศิลปะทวารวดี คือ พระพักตร์แลดูเหลี่ยม พระขนงเป็นสันและต่อเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำและโปน พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้าง

ฐานธรรมจักร
นครปฐม
ประติมากรรมฐานธรรมจักร

ฐานรับธรรมจักรนี้ชำรุดเสียหายมาก ทำจากหิน มีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมที่เจาะทะลุจากตรงกลางจากบนลงล่าง ทำหน้าที่ยึดตรึงองค์ธรรมจักรกับเสาไว้ด้วยกัน ด้านทั้งสี่สลักภาพพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาเหมือนกัน แต่แตกหักเสียหายมาก มีเพียงด้านเดียวที่เหลือรายละเอียดมากพอจะศึกษาได้ พระพุทธองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ พระหัตถ์ขวาทำปางแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลา เบื้องล่างด้านซ้ายของพระองค์เป็นนักบวชพราหมณ์ 5 คน เชื่อว่าเป็นปัญจวัคคีย์ก่อนบวช ด้านขวาของพระองค์เป็นพระสงฆ์ 5 รูป เชื่อว่าเป็นปัญจวัคคีย์หลัง ถัดขึ้นไปทั้งด้านขวาและซ้ายเป็นภาพบุคคลที่เชื่อว่าเป็นเทวดาและพรหม

ธรรมจักร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมธรรมจักร

ธรรมจักรวงกลมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดุมอยู่ตรงกลาง ซี่หรือกำ ระหว่างซี่แต่ละซี่เจาะทะลุทำให้ธรรมจักรแลดูโปร่งนอกสุดเป็นกงซึ่งตกแต่งด้วยลายดอกไม้กลมสลับกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขอบกงมีลวดลายกนกคล้ายเปลวไฟ ส่วนล่างมีแผงสามเหลี่ยมรับน้ำหนักต่อเนื่องไปยังแท่นฐานสี่เหลี่ยมที่รับองค์ธรรมจักรไว้ตามตำแหน่งต่างๆ ของธรรมจักรองค์นี้มีจารึกข้อพระธรรมภาษาบาลี อักษรปัลลวะ เป็นข้อความจากธรรมจักรกัปปวัตรสูตร

ธรรมจักร
นครปฐม
ประติมากรรมธรรมจักร

ธรรมจักรวงกลมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดุมอยู่ตรงกลาง มีรูเจาะทะลุที่เหนือดุม ซี่หรือกำ ระหว่างซี่แต่ละซี่ไม่เจาะทะลุทำให้ธรรมจักรองค์นี้แลดูทึบ นอกสุดเป็นกงซึ่งตกแต่งด้วยลายก้านขด เบื้องล่างสลักรูปบุคคลนั่งขัดสมาธิและถือดอกบัว สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระสุริยเทพ