ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทกู่พันนา
ประกอบด้วยปราสาทประธานทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมหนึ่งหลัง ตั้งอยู่กึ่งกลางภายในกำแพงศิลาแลงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า เครื่องบนของปราสาทประธานนั้นพังทลายลงไป ส่วนประตูทางเข้าออกนั้นด้านเดียวทางทิศตะวันออก ส่วนอีก 3 ด้านทำเป็นประตูหลอก ประตูทางเข้าออกนี้ทำเป็นห้องยาวๆ ด้านหน้าเป็นมุข ส่วนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานปรากฏเฉพาะส่วนฐานของบรรณาลัยสร้างด้วยศิลาแลงในผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนกึ่งกลางของกำแพงศิลาแลงด้านทิศตะวันออกนั้นปรากฏซุ้มประตูหรือโคปุระในผังจัตุรัสรูปกากบาท และภายนอกกำแพงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีสระน้ำรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกัน
สถาปัตยกรรมพระเจดีย์กลางน้ำ จ.ระยอง
เจดีย์ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว มีฐานประทักษิณที่มีพนักระเบียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับพนักระเบียงด้วยลูกถ้วยเคลือบ มีบันไดขึ้น 2 ข้าง มีกำแพงแก้วเตี้ยในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบ รองรับเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ชุดมาลัยเถา บัวลูกแก้วอกไก่เป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง แต่ละชั้นค่อนข้างยืดสูง ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม เสาหาน ปล้องไฉนและปลียอด ลานด้านล่างโดยรอบปูด้วยกระเบื้องดินเผาสีอิฐ
สถาปัตยกรรมเจดีย์อิสรภาพ จ.จันทบุรี
เจดีย์ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว มีฐานประทักษิณที่มีพนักระเบียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับพนักระเบียงด้วยกระเบื้องเคลือบปรุลายแบบจีน มีกำแพงแก้วเตี้ยในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบ รองรับเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ชุดมาลัยเถา บัวลูกแก้วอกไก่เป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง แต่ละชั้นค่อนข้างยืดสูง ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม เสาหาน ปล้องไฉนและปลียอด
สถาปัตยกรรมอลังกรณเจดีย์
เจดีย์ก่อด้วยศิลาแลงมีฐานประทักษิณที่มีพนักระเบียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน รองรับเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ชุดมาลัยเถา บัวลูกแก้วอกไก่เป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง องค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม เสาหาน ปล้องไฉนและปลียอด
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ภายในพระอุโบสถเป็นแบบยุโรปผสมแบบไทย เพดานเป็นลายเครือเถาสีทอง ที่ผนังด้านในพระอุโบสถเขียนเป็นรูปดอกไม้ร่วงสีทอง ระหว่างช่องหน้าต่างเป็นรูปอุณาโลมสลับด้วยรูปอักษร “จ”ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกของพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหนือซุ้มประตูกลางด้านในเป็นรูปตราแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 หรือที่เรียกว่า ตราอาร์ม ประกอบด้วยสิ่งสำคัญต่างๆ ได้แก่ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ตราจักรีบรมราชวงศ์ รูปช้างเอราวัณ ช้างเผือก และกริชคด เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฉัตร 7 ชั้น ขนาบข้างโดยมีราชสีห์และคชสีห์ประคองผนังส่วนบนระหว่างเสาคูหาเขียนภาพพุทธประวัติ ซึ่งออกแบบโดยหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ช่างหลวงคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ทำด้วยสำริดกะไหล่ทองเนื้อแปด ซึ่งเป็นทองคำจากเครื่องแต่งพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระเยาว์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนที่สั่งมาจากประเทศอิตาลี เบื้องบนเหนือองค์พระพุทธรูปมีนพปฎลมหาเศวตฉัตรซึ่งเคยกางกั้นพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใต้ฐานชุกชีของพระพุทธอังคีรสเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7
สถาปัตยกรรมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
พระอุโบสถมีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังประดับกระเบื้องเคลือบสีเบญจรงค์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เขียนลายเทพนม หลังคาทำด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องเคลือบสี ประดับช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ด้านหน้ามีมุขเด็จ หน้าบันหลักเป็นรูปช้าง 7 เศียร ทูนพานแว่นฟ้ารองรับพระจุลมงกุฎขนาบสองข้างด้วยฉัตรที่มีราชสีห์และคชสีห์ประคอง หน้าบันมุขเด็จเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นยอดแหลมอย่างปราสาทประดับลวดลายปูนปั้นปิดทอง ด้านในบานประตูหน้าต่างเป็นลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านนอกเป็นลายดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่หนึ่งรวม 5 ดวง คือ นพรัตน์ราชวราภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์ ปฐมจุลจอมเกล้า ประถมาภรณ์ช้างเผือก และประถมาภรณ์มงกุฎไทย ภายในพระอุโบสถเป็นศิลปะตะวันตกแบบโกธิค ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานประธาน คือ พระพุทธอังคีรสพระเจดีย์ มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถา ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเบญจรงค์เช่นเดียวกับผนังพระอุโบสถ โดยมีระเบียงคดในผังกลมล้อมรอบพระเจดีย์ หลังคาพระระเบียงมุงกระเบื้องเคลือบสี เสาระเบียงเป็นเสากลมทำด้วยหินอ่อนประดับบัวหัวเสา พระวิหารเป็นอาคารแบบไทยประเพณี รูปแบบใกล้เคียงกับพระอุโบสถแต่มีขนาดเล็กกว่า และต่างกันที่บานประตูและบานหน้าต่างของพระวิหารไม่ใช่งานประดับมุก แต่เป็นงานไม้แกะสลักเป็นลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลงรักปิดทองและระบายสี
สถาปัตยกรรมพระมหาเจดีย์สี่รัชกาล
พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน และพระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร ล้วนเป็นเจดีย์ทรงเครื่องซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเป็นรูปแบบที่สืบเนื่องมาจากศิลปะอยุธยาตอนปลาย มีองค์ประกอบที่สำคัญจากส่วนฐานได้แก่ ชุดฐานสิงห์ บัวทรงคลุ่ม องค์ระฆังเพิ่มมุม บัวทรงคลุ่มเถา ปลี ลูกแก้ว และปลียอด ประดับกระเบื้องเคลือบและกระเบื้องเครื่องถ้วยลวดลายต่างๆ โดยพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณประดับกระเบื้องเคลือบสีเขียว พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทานประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขารประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ส่วนพระมหาเจดีย์ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้าง มีรูปแบบเป็นเจดีย์เพิ่มมุม ประดับกระเบื้องเคลือบสีขาบหรือสีน้ำเงิน ซึ่งเจดีย์เพิ่มมุมเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนกลางเป็นต้นมา
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังลาราม
พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เครื่องหลังคาแบบไทยประเพณี หน้าบันประดับเครื่องลำยอง ได้แก่ ช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ปิดทองประดับกระจก รอบอุโบสถมีเสาพาไลทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ไม่ประดับบัวหัวเสา พนักระเบียงรอบพระอุโบสถมีช่องสี่เหลี่ยมประดับประติมากรรมหินอ่อนแกะสลักนูนต่ำเรื่องรามเกียรติ์ บานประตูพระอุโบสถด้านนอกประดับมุกเป็นลวดลายภาพตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์ ด้านในเขียนลายรดน้ำรูปพัดยศพระราชาคณะ พระครูสัญญาบัตร ฐานานุกรมเปรียญทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีในกรุงและหัวเมือง จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถเหนือช่องหน้าต่างเขียนเรื่องมโหสถบัณฑิต ผนังระหว่างช่องประตูหน้าต่างเขียนเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ บานหน้าต่างด้านในเขียนลายรดน้ำเป็นรูปตราประจำตำแหน่งเจ้าคณะสงฆ์ในกรุงและหัวเมืองสมัยรัชกาลที่ 3 ด้านนอกแกะสลักเป็นลายแก้วชิงดวง