ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
คำสำคัญ : พระอุโบสถ, วัดราชบพิธ, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พระอุโบสถวัดราชบพิธ, พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ชื่อหลัก | วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม |
---|---|
ชื่ออื่น | วัดราชบพิธ |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | วัดราชบพิธ |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศารุ้งแวง | Lat : 13.748971 Long : 100.497339 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661888.44 N : 1520463.65 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | เขตพุทธาวาส |
ประวัติการสร้าง | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามขึ้น โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ซึ่งกำกับราชการกรมช่างสิบหมู่ ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้างเป็นพระองค์แรก แต่สิ้นพระชนม์ก่อนที่จะสร้างเสร็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ จึงเป็นผู้อำนวยการสร้างต่อมา แต่ก็สิ้นพระชนม์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) ครั้งดำรงตำแหน่งพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรเป็นผู้อำนวยการสร้างพระองค์ต่อมา จนแล้วเสร็จ |
---|---|
ลักษณะทางศิลปกรรม | ภายในพระอุโบสถเป็นแบบยุโรปผสมแบบไทย เพดานเป็นลายเครือเถาสีทอง ที่ผนังด้านในพระอุโบสถเขียนเป็นรูปดอกไม้ร่วงสีทอง ระหว่างช่องหน้าต่างเป็นรูปอุณาโลมสลับด้วยรูปอักษร “จ” ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกของพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหนือซุ้มประตูกลางด้านในเป็นรูปตราแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 หรือที่เรียกว่า ตราอาร์ม ประกอบด้วยสิ่งสำคัญต่างๆ ได้แก่ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ตราจักรีบรมราชวงศ์ รูปช้างเอราวัณ ช้างเผือก และกริชคด เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฉัตร 7 ชั้น ขนาบข้างโดยมีราชสีห์และคชสีห์ประคอง ผนังส่วนบนระหว่างเสาคูหาเขียนภาพพุทธประวัติ ซึ่งออกแบบโดยหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ช่างหลวงคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ทำด้วยสำริดกะไหล่ทองเนื้อแปด ซึ่งเป็นทองคำจากเครื่องแต่งพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระเยาว์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนที่สั่งมาจากประเทศอิตาลี เบื้องบนเหนือองค์พระพุทธรูปมีนพปฎลมหาเศวตฉัตรซึ่งเคยกางกั้นพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใต้ฐานชุกชีของพระพุทธอังคีรสเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | แม้ว่ารูปแบบภายนอกของพระอุโบสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามจะเป็นแบบไทยประเพณี แต่โครงสร้างและงานประดับตกแต่งภายในกลับมีรูปแบบอย่างศิลปะโกธิคที่นิยมในตะวันตก |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-08-01 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | สุริยา รัตนกุล. พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล, 2550-2552. ชัชพล ไชยพร บรรณาธิการ. ประมวลเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 เรื่องวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2553. ศุภชัย เสริมสุขเจริญชัย. “งานตกแต่งภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม : การปรับเปลี่ยนสู่ศิลปะตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.) |